คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8187/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 163 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า “เมื่อมีเหตุอันควร โจทก์มีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลขอแก้หรือเพิ่มเติมฟ้องก่อนมีคำพิพากษาศาลชั้นต้น” และมาตรา 164 บัญญัติว่า”คำร้องขอแก้หรือเพิ่มเติมฟ้องนั้น ถ้าจะทำให้จำเลยเสียเปรียบในการต่อสู้คดี ห้ามมิให้ศาลอนุญาต แต่การแก้ฐานความผิด การเพิ่มเติมฐานความผิด ไม่ว่าจะทำเช่นนี้ในระยะใดระหว่างการพิจารณาในศาลชั้นต้นมิให้ถือว่าทำให้จำเลยเสียเปรียบ เว้นแต่จำเลยได้หลงต่อสู้ในข้อที่ผิดหรือที่มิได้กล่าวไว้นั้น” เมื่อโจทก์ขอเพิ่มเติมฟ้องว่าจำเลยเป็นพนักงานองค์การรัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นการแก้ฐานความผิด ทั้งเป็นข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับฐานะและอาชีพของจำเลยซึ่งจำเลยทราบดีอยู่แล้วไม่ทำให้จำเลยเสียเปรียบและหลงต่อสู้ ถือได้ว่ามีเหตุอันสมควรและโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอเพิ่มเติมฟ้องก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา โจทก์จึงขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 163 วรรคหนึ่ง และมาตรา 164
การที่เจ้าพนักงานตำรวจใช้สายลับนำเงินไปล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยซึ่งมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายอยู่แล้ว เป็นวิธีการแสวงหาพยานหลักฐานในการกระทำความผิดของจำเลยที่ได้กระทำอยู่แล้ว มิได้ล่อหรือชักจูงใจให้จำเลยกระทำความผิดอาญาที่จำเลยไม่ได้กระทำความผิดมาก่อน การกระทำของเจ้าพนักงานตำรวจดังกล่าวเป็นเพียงวิธีการเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลย ไม่เป็นการกระทำที่ดูหมิ่นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของจำเลย ไม่เป็นการแสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และไม่เข้าข้อต้องห้ามอ้างเป็นพยานหลักฐานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 226
ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าจำเลยกระทำผิดขณะเป็นพนักงานขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ซึ่งเป็นองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐจึงต้องระวางโทษเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดดังกล่าวตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 100 และพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดฯ มาตรา 10 แต่กลับไม่ได้ปรับบทลงโทษตามกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาแก้ไขให้ถูกต้องได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2541เวลากลางวัน จำเลยซึ่งเป็นพนักงานองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพอันเป็นรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานของรัฐ กระทำผิดหลายกรรม คือมีเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 3 เม็ดหนัก 0.28 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายโดยแบ่งขายเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อจำนวน 2 เม็ด เหตุเกิดที่แขวงบางมด เขตทุ่งครุ กรุงเทพมหานคร เจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมเมทแอมเฟตามีนจำนวน 3 เม็ด และธนบัตรที่ใช้ล่อซื้อ 2 ฉบับเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 15, 66, 100, 102 พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534มาตรา 10 ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่งเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายจำคุก 15 ปีฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจำคุก 15 ปี รวมจำคุก 30 ปี คำรับสารภาพชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก15 ปี ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่าศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์เพิ่มเติมฟ้องชอบหรือไม่ ข้อเท็จจริงปรากฏว่าหลังจากสืบพยานจำเลยเสร็จแล้ว โจทก์ยื่นคำร้องขอเพิ่มเติมฟ้องข้อ 1 เป็นว่า “จำเลยนี้ซึ่งเป็นพนักงานขับรถยนต์โดยสารประจำทาง องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพสาย 75 อันเป็นพนักงานองค์การรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานของรัฐ” และขอเพิ่มเติมคำขอท้ายฟ้องเป็นว่า “15, 66, 100, 102 พระราชบัญญัติมาตราการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 10” ต่อมาก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา จำเลยได้รับสำเนาคำร้องขอเพิ่มเติมฟ้องแล้วแถลงรับว่าจำเลยเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ และไม่คัดค้านคำร้องขอของโจทก์ดังกล่าว ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เพิ่มเติมฟ้องตามคำร้องขอของโจทก์ดังกล่าวเห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 163 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า “เมื่อมีเหตุอันสมควร โจทก์มีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลขอแก้หรือเพิ่มเติมฟ้องก่อนมีคำพิพากษาศาลชั้นต้น” และมาตรา 164 บัญญัติว่า”คำร้องขอแก้หรือเพิ่มเติมฟ้องนั้น ถ้าจะทำให้จำเลยเสียเปรียบในการต่อสู้คดีห้ามมิให้ศาลอนุญาต แต่การแก้ฐานความผิด การเพิ่มเติมฐานความผิดไม่ว่าจะทำเช่นนี้ในระยะใดระหว่างการพิจารณาในศาลชั้นต้น มิให้ถือว่าทำให้จำเลยเสียเปรียบ เว้นแต่จำเลยได้หลงต่อสู้ในข้อที่ผิดหรือที่มิได้กล่าวไว้นั้น” ข้อที่โจทก์ขอเพิ่มเติมฟ้องนี้เป็นการแก้ฐานความผิดทั้งเป็นข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับฐานะและอาชีพของจำเลยซึ่งจำเลยทราบดีอยู่แล้ว ไม่ทำให้จำเลยเสียเปรียบและหลงต่อสู้ ถือได้ว่ามีเหตุอันสมควร และโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอเพิ่มเติมฟ้องก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาโจทก์จึงขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 163 วรรคหนึ่งและมาตรา 164 ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์เพิ่มเติมฟ้องนั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า พยานหลักฐานที่โจทก์ได้มาจากการล่อซื้อยาเสพติดถือว่าเป็นพยานหลักฐานที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนมาตรา 4 และมาตรา 26 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเพราะเป็นการกระทำที่ดูหมิ่นศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์จึงเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยหลักฐานที่ได้มาดังกล่าวไม่สามารถนำมาใช้ยันเพื่อลงโทษจำเลยได้ เห็นว่า การที่เจ้าพนักงานตำรวจใช้สายลับนำเงินไปล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยซึ่งมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายอยู่แล้วนั้น เป็นวิธีการแสวงหาพยานหลักฐานในการกระทำความผิดของจำเลยที่ได้กระทำอยู่แล้วมิได้ล่อหรือชักจูงใจให้จำเลยกระทำความผิดอาญาที่จำเลยไม่ได้กระทำความผิดมาก่อน การกระทำของเจ้าพนักงานตำรวจดังกล่าวเป็นเพียงวิธีการเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลย ไม่เป็นการกระทำที่ดูหมิ่นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของจำเลย และไม่เป็นการแสวงหาหลักฐานโดยมิชอบด้วยกฎหมายไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 แต่อย่างใดจึงนำมารับฟังลงโทษจำเลยได้ ไม่เข้าข้อต้องห้ามอ้างเป็นพยานหลักฐานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226 ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

อนึ่ง คดีนี้โจทก์ฟ้องและเพิ่มเติมฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในฐานะเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าจำเลยกระทำผิดขณะเป็นพนักงานขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ จึงต้องระวางโทษเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดดังกล่าวตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522มาตรา 100 และพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 10 แต่กลับปรับบทลงโทษว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่ง เท่านั้น และไม่สั่งคืนธนบัตรของกลางที่ใช้ล่อซื้อไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง”

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 100 พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 10 ด้วย คืนธนบัตร 2 ฉบับของกลางที่ใช้ล่อซื้อแก่เจ้าของ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share