คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2591/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์อาศัยสิทธิที่มีอยู่ตามกฎหมายเป็นช่องทางให้โจทก์ได้รับประโยชน์แต่เพียงฝ่ายเดียวโดยไม่คำนึงถึงความเสียหายที่คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งจะได้รับย่อมเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 5
ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาโดยไม่ได้สั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมศาลฎีกาเห็นควรสั่งค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นให้ถูกต้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2537 จำเลยได้ทำสัญญากู้ยืมเงินและได้รับเงินไปจากโจทก์แล้ว จำนวน 100,000 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 8.5 ต่อปี ตกลงผ่อนชำระต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นรายเดือนไม่น้อยกว่าเดือนละ 2,000 บาท กำหนดชำระหนี้ทั้งหมดให้เสร็จภายในวันที่ 15 เมษายน 2542 หากจำเลยผิดนัดชำระหนี้หรือผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใดให้ถือว่าผิดนัดทั้งหมดยอมให้โจทก์เรียกหนี้สินทั้งหมดคืนได้ทันทีพร้อมดอกเบี้ยและค่าใช้จ่าย ในวันเดียวกันจำเลยได้ทำสัญญาจำนำสิทธิที่จะถอนเงินจากบัญชีเงินฝากประจำ จำนวน 100,000 บาทรวมดอกเบี้ยไว้แก่โจทก์ โดยมีข้อตกลงว่าหากจำเลยผิดนัดชำระหนี้ยอมให้โจทก์บังคับจำนำสิทธิที่จะถอนเงินจากบัญชีได้ทันที จำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ โจทก์ได้ใช้สิทธิในการหักเงินจากบัญชีเงินฝากของจำเลยมาชำระหนี้ที่ค้างแล้ว คงเหลือต้นเงินและดอกเบี้ยที่จำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์จำนวน 24,337.44 บาท โจทก์ได้ทวงถามแล้ว จำเลยเพิกเฉย ขอให้จำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19.5 ต่อปีของต้นเงิน 21,860.15 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยไม่ยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีคงมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การที่จำเลยผิดนัดชำระหนี้ โจทก์ไม่บังคับจำนำสิทธิที่จะถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของจำเลยในทันที เพื่อนำเงินที่ได้จากการบังคับจำนำมาชำระหนี้ที่จำเลยมีอยู่ต่อโจทก์แต่ปล่อยเวลาให้ล่วงเลยถึง 2 ปี 8 เดือน จึงดำเนินการนั้น เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตหรือไม่ โดยโจทก์อ้างว่า โจทก์ใช้สิทธิโดยสุจริต เพราะหนี้ตามสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.4 เป็นหนี้ที่มีกำหนดระยะเวลาแน่นอน โดยจะต้องชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 15 เมษายน 2542ดังนั้น เมื่อจำเลยผิดนัดโจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกหนี้ทั้งหมดคืนได้ทันทีหรือใช้สิทธิบังคับชำระหนี้เมื่อหนี้ถึงกำหนดตามสัญญาได้ เห็นว่าแม้สัญญากู้เงินหมาย จ.4 ข้อ 2.1 กำหนดให้ผู้กู้ชำระต้นเงินและดอกเบี้ยภายในวันที่ 15 เมษายน 2542 แต่ในสัญญาข้อ 4 กำหนดว่า”ถ้าผู้กู้ผิดนัดในข้อหนึ่งข้อใด หรือส่วนหนึ่งส่วนใดแห่งสัญญานี้ให้ถือว่าผิดนัดทั้งหมด ผู้กู้ยอมให้ผู้ให้กู้เรียกหนี้ทั้งหมดคืนได้ทันที” ซึ่งสอดคล้องกับหนังสือสัญญาจำนำสิทธิที่จะถอนเงินจากบัญชีเงินฝากเอกสารหมาย จ.5ข้อ 4 ที่กำหนดสรุปได้ว่า ในกรณีลูกหนี้ผิดนัด หากยังมีหนี้ค้างชำระอยู่เท่าใด ลูกหนี้ตกลงยอมให้ธนาคารดำเนินการบังคับจำนำสิทธิที่จะถอนเงินจากบัญชีเงินฝากหรือใบฝากเงินประจำของลูกหนี้ได้ทันที เพื่อนำเงินที่ได้จากการบังคับจำนำมาชำระหนี้ที่ลูกหนี้มีอยู่ต่อธนาคาร เหตุนี้เมื่อคำนึงถึงความประสงค์ของคู่กรณีในทางสุจริต ตามที่ได้เชื่อถือและไว้วางใจซึ่งกันและกัน และวิธีปฏิบัติต่อกันประกอบสัญญาดังกล่าวทั้งสองฉบับ ตามมาตรา 368 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่บัญญัติว่า “สัญญานั้นท่านให้ตีความไปตามความประสงค์ในทางสุจริตโดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีด้วย” แล้ว ย่อมแสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่าหากจำเลยยินยอมให้โจทก์ใช้สิทธิบังคับชำระหนี้ตามแต่ใจของโจทก์เมื่อใดก็ได้ ภายในวันที่ 15 เมษายน 2542 ดังที่โจทก์เข้าใจแล้ว จำเลยก็ไม่จำเป็นต้องนำบัญชีเงินฝากประจำของตนเองมาเป็นหลักประกันหนี้เงินกู้ และยินยอมให้โจทก์นำบัญชีเงินฝากประจำนั้นหักหนี้เงินกู้ที่ค้างชำระได้ในทันที เพราะมิฉะนั้น การทำสัญญาหักหนี้ย่อมไร้ประโยชน์โดยสิ้นเชิง ทั้งกลับกลายเป็นผลร้ายแทนที่จะเป็นผลดีแก่จำเลยตามที่โจทก์กล่าวอ้างดังจะเห็นได้ว่าในเดือนตุลาคม 2537 ที่โจทก์มีสิทธิบังคับชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินได้ในทันทีนั้น จำเลยคงค้างชำระต้นเงินเพียง 93,012.18 บาท แต่โจทก์ก็มิได้ถอนเงินจากบัญชีเงินฝากประจำของจำเลยมาหักหนี้ที่จำเลยค้างชำระแต่อย่างใดโดยกลับละเลยเพิกเฉยปล่อยเวลาให้ผ่านไปถึง 2 ปี 8 เดือน และคิดดอกเบี้ยเรื่อยมาในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าโจทก์อาศัยสิทธิที่มีอยู่ตามกฎหมาย เป็นช่องทางให้โจทก์ได้รับประโยชน์แต่เพียงฝ่ายเดียวโดยไม่คำนึงถึงความเสียหายที่คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งจะได้รับเช่นนี้ ย่อมเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 5

อนึ่ง ศาลชั้นต้นไม่ได้สั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียม เห็นควรสั่งให้ถูกต้อง

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share