คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1737/2526

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยลงลายมือชื่อรับรองการสอบบัญชีในระหว่างใบอนุญาตเป็นผู้สอบบัญชีขาดต่ออายุ โดยฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติผู้สอบบัญชีฯ มาตรา 13 ย่อมเป็นความผิดหลายกรรมตามรายงานการสอบบัญชีแต่ละฉบับ

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติผู้สอบบัญชี พ.ศ. 2505 มาตรา 3, 13, 16, 21 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 ปรับกระทงละ 1,000 บาท รวม 47 กระทง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่าการที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ปรับจำเลยเรียงกระทงชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาอ้างว่าการที่จำเลยรับรองการสอบบัญชีแก่นิติบุคคลนั้น เป็นความผิดกระทงเดียวตามพระราชบัญญัติผู้สอบบัญชี พ.ศ. 2505 มาตรา 13 เพราะจำเลยเป็นผู้สอบบัญชีที่ได้รับอนุญาตอยู่แล้ว แม้จำเลย จะลงลายมือชื่อรับรองการสอบบัญชีในระหว่างใบอนุญาตขาดต่ออายุแก่นิติบุคคลหลายแห่งก็ตาม ก็เป็นความผิดเพียงกรรมเดียว พิเคราะห์แล้วเห็นว่า พระราชบัญญัติผู้สอบบัญชี พ.ศ. 2505 มาตรา 13 บัญญัติว่า

ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้มีการสอบบัญชีหรือให้มีผู้สอบบัญชีห้ามมิให้ผู้ใดลงลายมือชื่อรับรองการสอบบัญชีในฐานะผู้สอบบัญชี เว้นแต่

(1) เป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาต หรือ ฯลฯ”

ดังนั้นการที่จำเลยลงลายมือชื่อรับรองการสอบบัญชีแก่นิติบุคคลแต่ละแห่งต่างวาระกัน รวม 47 แห่ง ตามรายงานการสอบบัญชี 47 ฉบับนั้น ย่อมแยกการกระทำออกจากกันได้ตามรายงานการสอบบัญชีของจำเลยแต่ละฉบับ เมื่อจำเลยลงลายมือชื่อรับรองการสอบบัญชีแก่นิติบุคคลแห่งหนึ่งโดยฝ่าฝืนบทกฎหมายดังกล่าว ก็เป็นความผิดกรรมหนึ่ง การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดหลายกรรมรวม 47 กระทง”

พิพากษายืน

Share