คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 269/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้ในระหว่างระยะเวลาห้ามโอน 10 ปี โจทก์ซึ่งเข้าครอบครองที่ดินพิพาทที่ซื้อมา จะไม่ได้สิทธิครอบครองเนื่องจากต้องห้ามโดยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 58 ทวิ ก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ครอบครองที่ดินตลอดมาหลังจากเกินระยะเวลา 10 ปีดังกล่าว โดยโจทก์ปลูกบ้านพร้อมขอเลขที่บ้านจากทางราชการ ย่อมแสดงให้เห็นว่าโจทก์อยู่ในที่ดินพิพาทโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตนตลอดมา จำเลยไม่เคยเข้าไปยุ่งเกี่ยวแย่งการครอบครองแต่อย่างใด ทั้งการที่จำเลยเสนอราคาเพื่อขอซื้อที่ดินพิพาทคืน ก็ยิ่งแสดงให้เห็นว่าจำเลยยอมรับถึงสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทของโจทก์ โจทก์ย่อมได้ซึ่งสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทเพราะโจทก์เจตนาจะยึดถือเพื่อตนแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 136

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 โดยได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 2ซึ่งเป็นสามีได้แบ่งขายที่ดินเนื้อที่ 1 งาน ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 127 ตำบลปทุม อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานีให้แก่โจทก์ โจทก์ได้ชำระราคาจนครบ ขอให้ศาลพิพากษาว่า ที่ดินตามรูปเส้นตารางสีเหลือง (ที่ถูกเป็นสีส้ม) เอกสารท้ายคำฟ้องของหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 127 ตำบลปทุม อำเภอเมืองอุบลราชธานีจังหวัดอุบลราชธานี เนื้อที่ 1 งาน เป็นของโจทก์โดยการครอบครองตามกฎหมาย ห้ามจำเลยทั้งสองเกี่ยวข้องหรือกระทำการใด ๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองที่ดินดังกล่าว

จำเลยทั้งสองให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยทำสัญญาแบ่งขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เลขที่ 127ตำบลปทุม อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี แก่โจทก์ขอให้บังคับโจทก์และบริวารขนย้ายและรื้อถอนบ้านเลขที่ 4 หมู่ที่ 5ตำบลปทุม อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี ออกจากที่ดินพิพาท

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์กับนายสายจิต วรรณพราหมณ์เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย และได้ร่วมกันซื้อที่ดินพิพาทระหว่างสมรส ที่ดินพิพาทจึงเป็นสินสมรส ขอให้ยกฟ้องแย้ง

โจทก์และจำเลยทั้งสองแถลงรับกันว่า ที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เลขที่ 127 ตำบลปทุม อำเภอเมืองอุบลราชธานีจังหวัดอุบลราชธานี อยู่ในบังคับห้ามโอน 10 ปี ตั้งแต่วันที่ 6 มีนาคม 2527

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์รื้อถอนบ้านและให้โจทก์พร้อมบริวารออกจากที่ดินตรงเครื่องหมายสีส้มตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 127 ตำบลปทุม อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานีของจำเลยที่ 1 ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมของโจทก์และจำเลยทั้งสองให้เป็นพับ

โจทก์อุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน จำเลยทั้งสองไม่แก้อุทธรณ์

โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าโจทก์ได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทหรือไม่ โจทก์นำสืบว่า หลังจากที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาท 2 เดือน โจทก์และนายสายจิตได้เข้าไปอยู่ในที่ดินพิพาทโดยปลูกบ้านทำรั้วกั้นอาณาเขตพร้อมขอเลขที่บ้าน ต่อมาปี 2535 จำเลยทั้งสองขอซื้อที่ดินพิพาทคืนในราคา 60,000 บาท แต่โจทก์ไม่ขาย ปี 2538 จำเลยทั้งสองขอซื้อที่ดินพิพาทคืนในราคา 100,000 บาท แต่โจทก์ไม่ตกลง

จำเลยทั้งสองนำสืบว่า เมื่อปี 2535 จำเลยที่ 1 บอกเลิกสัญญาซื้อขายให้โจทก์ออกจากที่ดินพิพาท แต่โจทก์เพิกเฉย เดิมโจทก์เคยจะขายที่ดินพิพาทคืนให้จำเลยทั้งสองในราคา 60,000 บาท แต่แล้วโจทก์ก็ไม่ขาย จำเลยที่ 2เคยเสนอขอซื้อคืนในราคา 200,000 บาท แต่โจทก์ไม่ยอมขาย ปี 2538จำเลยที่ 1 จึงบอกกล่าวโจทก์และนายสายจิตให้ออกจากที่ดินพิพาทแต่โจทก์เพิกเฉย

พิเคราะห์แล้ว โจทก์ซื้อและเข้าครอบครองที่ดินพิพาทตั้งแต่ปี 2530ตลอดมา แม้ในระหว่างระยะเวลาห้ามโอน 10 ปี คือตั้งแต่วันที่ 6 มีนาคม2527 จนถึงวันที่ 6 มีนาคม 2537 โจทก์ซึ่งเข้าครอบครองที่ดินพิพาทเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2530 จะไม่ได้สิทธิครอบครองเนื่องจากต้องห้ามโดยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายที่ดินข้างต้นก็ตาม แต่ในเมื่อถัดจากวันที่ 6 มีนาคม 2537 จนถึงวันที่ 4 เมษายน 2539 อันเป็นวันฟ้องคดีนี้โจทก์ยังครอบครองที่ดินพิพาทตลอดมา โดยโจทก์ปลูกสร้างบ้านพร้อมทั้งขอเลขที่บ้านในที่ดินพิพาทจากทางราชการพร้อมทั้งสร้างรั้วกั้นอาณาเขตตามแนวเขตที่ตกลงซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยทั้งสองย่อมแสดงให้เห็นว่าโจทก์อยู่ในที่ดินพิพาทโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตนตลอดมา จำเลยทั้งสองไม่เคยเข้าไปยุ่งเกี่ยวแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทในช่วงเวลาที่โจทก์เข้าครอบครองดังกล่าวแต่อย่างใด ทั้งการที่จำเลยทั้งสองเสนอราคาเพื่อขอซื้อที่ดินพิพาทคืนในราคา 60,000 บาท และ 100,000 บาทตามลำดับ ก็ยิ่งแสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองยอมรับถึงสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทของโจทก์แล้ว โจทก์ย่อมได้ซึ่งสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทเพราะโจทก์เจตนาจะยึดถือเพื่อตนแล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1367 จำเลยทั้งสองไม่มีสิทธิเข้าไปเกี่ยวข้องในที่ดินพิพาท ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”

พิพากษากลับว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 127 ตำบลปทุม อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี เฉพาะส่วนเนื้อที่ประมาณ 100 ตารางวา ตามรูปแผนที่กรอบสีส้ม คำขออื่นให้ยก ยกฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสอง

Share