แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้จะได้มีการกำหนดค่าปรับไว้ในสัญญาก็ตาม แต่เงินค่าปรับตามที่คู่กรณีกำหนดกันไว้นั้น ถือได้ว่าเป็นเบี้ยปรับเพื่อการที่จะชดใช้บรรเทาความเสียหายอันอาจจะมีหรือเกิดขึ้นไว้ล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 383 วรรคแรก ถ้าเบี้ยปรับที่ริบนั้นสูงเกินส่วน ศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ ซึ่งแสดงว่าเบี้ยปรับนั้นแม้จะได้กำหนดกันไว้ในสัญญา แต่ก็มิได้บังคับไว้โดยเด็ดขาดว่าจะต้องให้เป็นไปตามนั้น ทั้งนี้ต้องพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของเจ้าหนี้ทุกอย่าง ไม่ใช่แต่ทางได้เสียในเชิงทรัพย์สินเท่านั้น ศาลย่อมใช้ดุลพินิจลดจำนวนค่าปรับหรือเบี้ยปรับตามสัญญาลงได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า กรมช่างอากาศซึ่งเป็นหน่วยราชการของโจทก์ออกประกาศให้บุคคลทั่วไปยื่นซองประกวดราคาเสนอขายกระเบื้องและขอบกระเบื้องดินเผาจำเลยที่ 1 เป็นผู้ชนะในการประกวดราคาและได้ทำสัญญาซื้อขายกับโจทก์ เมื่อถึงกำหนดตามสัญญา จำเลยที่ 1 ไม่ส่งมอบสิ่งของแก่โจทก์ โจทก์บอกเลิกสัญญาและปรับจำเลยที่ 1 เป็นรายวันคิดเป็นเงิน 100,408 บาท จำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ผิดนัด โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาและริบหลักประกันอันถือได้ว่าเป็นค่าเสียหายส่วนหนึ่ง ส่วนค่าเสียหายอื่นไม่เป็นที่ปรากฏการรับประกันเป็นจำนวนพอสมควรกับความเสียหายแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2523 จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ เมื่อวันที่ 5สิงหาคม 2519 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาขายกระเบื้องดินเผาจำนวน 45,000แผ่น และขอบกระเบื้องดินเผาจำนวน 1,900 แผ่น แก่โจทก์เป็นเงิน 77,000บาท กำหนดส่งมอบภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ 5 สิงหาคม 2519 ถึงวันที่ 2พฤศจิกายน 2519 จำเลยที่ 1 ได้มอบหลักประกันเป็นหนังสือค้ำประกันของธนาคารจำนวนเงิน 7,700 บาท เป็นประกันการปฏิบัติตามสัญญา ดังปรากฏตามเอกสารหมาย จ.3 ครบกำหนดจำเลยที่ 1 ไม่ส่งมอบสิ่งของให้แก่โจทก์และขอผัดการส่งมอบไปในเดือนกรกฎาคม 2521 แต่จำเลยที่ 1 ก็มิได้ส่งมอบอีก ต่อมาวันที่ 16 สิงหาคม 2521 โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาและมีหนังสือบอกกล่าวจำเลยทั้งสองให้ชำระเงินตามหลักประกันจำนวน 7,700 บาท กับค่าปรับจำนวน 100,408 บาท รวมเป็นเงิน 108,108 บาทแก่โจทก์
ในปัญหาที่ว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดสัญญา โจทก์มีสิทธิปรับจำเลยที่ 1 ตามสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.3 ข้อ 9 ซึ่งระบุข้อความไว้ว่า ในกรณีที่ผู้ซื้อไม่ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาตามข้อ 8 ผู้ขายยอมให้ผู้ซื้อปรับเป็นรายวันในอัตราร้อยละ0.2 ของราคาสิ่งของที่ยังไม่ได้รับมอบ นับแต่วันครบกำหนดตามสัญญาจนถึงวันที่ผู้ขายได้นำสิ่งของมาส่งให้แก่ผู้ซื้อจนถูกต้องครบถ้วนแล้ว ในระหว่างที่มีการปรับถ้าผู้ซื้อเห็นว่าผู้ขายไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาต่อไปได้ ผู้ซื้อจะใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาและริบประกัน กับเรียกร้องให้ชดใช้ราคาที่เพิ่มขึ้นจากราคาที่กำหนดไว้ในสัญญาก็ได้นั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้จะได้มีการกำหนดค่าปรับกันไว้ในสัญญาดังข้ออ้างโจทก์ก็ตาม แต่ศาลฎีกาก็เห็นว่าเงินค่าปรับตามที่คู่กรณีกำหนดกันไว้นั้น ถือได้ว่าเป็นเบี้ยปรับเพื่อการที่จะชดใช้บรรเทาความเสียหายอันอาจจะมีหรือเกิดขึ้นไว้ล่วงหน้า เพื่อให้เป็นความพอใจแก่ฝ่ายที่มิได้ผิดสัญญาซึ่งต้องปรับด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคแรก ที่บัญญัติไว้ว่า “ถ้าเบี้ยปรับที่ริบนั้นสูงเกินส่วน ศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้”
แสดงว่าเบี้ยปรับนั้นแม้จะได้กำหนดกันไว้ในสัญญา แต่ก็มิได้บังคับไว้โดยเด็ดขาดว่าจะต้องให้เป็นไปตามนั้น ทั้งนี้ต้องพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมาย ไม่ใช่แต่เพียงทางได้เสียในเชิงทรัพย์สินนั้นก็หาไม่ ศาลย่อมใช้ดุลพินิจลดจำนวนค่าปรับหรือเบี้ยปรับตามสัญญานั้นลงได้ สำหรับกรณีของโจทก์ทางนำสืบไม่ปรากฏว่าการที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่ส่งมอบสิ่งของให้แก่โจทก์ตามสัญญานั้น โจทก์ได้รับความเสียหายเกินกว่าหลักประกันที่จำเลยที่ 1 มอบให้ไว้และโจทก์ได้รับไว้แล้วเพียงใด ดังนี้ เมื่อคำนึงถึงทางได้เสียของโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้แล้ว เห็นว่าที่ศาลล่างทั้งสองไม่กำหนดค่าปรับหรือเบี้ยปรับตามสัญญาเป็นค่าเสียหายให้แก่โจทก์ โดยเห็นว่าหลักประกันที่โจทก์รับไว้เป็นการเพียงพอและเหมาะสมแก่ความเสียหายของโจทก์ตามควรแก่พฤติการณ์แห่งคดีนั้นชอบแล้ว ไม่มีเหตุให้แก้ไขเป็นอย่างอื่น
พิพากษายืน