แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในระหว่างที่สัญญาบัญชีเดินสะพัดยังดำเนินอยู่ต่อไปหลังจากที่ครบกำหนดอายุสัญญาแล้วนั้น ธนาคารโจทก์ได้มีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ตามยอดเงินในบัญชีภายในกำหนด15 วัน นับแต่วันรับหนังสือ เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับหนังสือทวงถามหรือไม่เมื่อวันใดจึงไม่อาจทราบวันผิดนัดแน่ชัดได้ โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นได้จนถึงวันที่ครบกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่ออกหนังสือทวงถามให้ชำระหนี้ จากนั้นคงเรียกได้แต่ดอกเบี้ยธรรมดา
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า นายเอ็กเส็งได้ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ในวงเงิน25,000 บาท กำหนดชำระหนี้ภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2514 โดยมีจำเลยทำสัญญาค้ำประกันในฐานะลูกหนี้ร่วมและจำเลยได้นำที่ดินตราจองสองแปลงมาจำนองเป็นประกันไว้ด้วย นายเอ็กเส็ง ได้เบิกเงินและนำเงินเข้าฝากหลายครั้ง เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2514 เป็นหนี้โจทก์รวมทั้งดอกเบี้ยทบต้นจำนวน 241,796.37บาท จำเลยต้องชำระหนี้จำนวนดังกล่าวกับดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ในจำนวนเงินนั้น เป็นเวลา 5 ปีตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2519 ถึงวันฟ้อง (วันที่ 4 กุมภาพันธ์2514) เป็นเงิน 181,545.67 บาท รวมเป็นเงิน 423,342.04 บาท ขอให้ศาลบังคับ
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 34,441.01 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีเป็นเวลา 5 ปีถึงวันฟ้องและดอกเบี้ยอัตราเดียวกันนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในวันครบกำหนดตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีดังกล่าวนายเอ็กเส็งหรือจำเลยไม่ได้ชำระหนี้แก่โจทก์จนหมดสิ้น ทั้งธนาคารโจทก์ยังมิได้หักทอนบัญชีและเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระเงินคงเหลือ แสดงว่าธนาคารโจทก์และนายเอ็กเส็งมีเจตนาให้บัญชีเดินสะพัดต่อไป ได้ความว่าธนาคารโจทก์ได้มีหนังสือลงวันที่ 15 ตุลาคม 2514 ทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ตามยอดเงินคิดเพียงวันที่ 30กันยายน 2514 ภายในกำหนด 15 วันนับแต่วันรับหนังสือ แต่ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับหนังสือนั้นหรือไม่ เมื่อวันใด จึงไม่อาจทราบวันผิดนัดแน่ชัดได้ โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นได้จนถึงวันที่ครบกำหนด 15 วันนับแต่วันที่ออกหนังสือทวงถามให้ชำระหนี้ คือวันที่ 30 ตุลาคม 2514 จากนั้นไปคงเรียกได้แต่ดอกเบี้ยธรรมดา
พิพากษาแก้ในเรื่องดอกเบี้ย