คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2062/2526

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คดีฟ้องขับไล่ผู้เช่าออกจากอสังหาริมทรัพย์ค่าเช่าไม่เกินเดือนละ 2,000 บาท และเรียกค่าเสียหายเดือนละ 50,000 บาทนับแต่วันฟ้องอันเป็นค่าเสียหายในอนาคต จำเลยรับว่าได้ทำสัญญาเช่าตามฟ้อง แต่โจทก์ให้จำเลยเช่าต่อไปอีก 10 ปีด้วยวาจาต่างหากจากสัญญาเช่าอันเป็นสัญญาต่างตอบแทน ส่วนค่าเสียหายก็ไม่เท่าที่ฟ้อง ดังนี้ จำเลย มิได้ต่อสู้คดีกล่าวแก้เป็นข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์ หรือไม่ได้ยกข้อโต้เถียงในเรื่องแปลความหมายแห่งข้อความในสัญญาเช่า จึงต้องห้ามอุทธรณ์ ในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยให้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย คดีเป็นอันยุติไปตาม คำพิพากษาของศาลชั้นต้นแล้ว ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกามาไม่ชอบด้วย มาตรา 249 ศาลฎีกาวินิจฉัยให้ไม่ได้

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยและบริวารขนย้ายออกจากตึกแถวให้ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 2,500 บาท นับจากวันฟ้องจนกว่าจะขนย้ายออกจากตึกพิพาท ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “คดีนี้เป็นคดีฟ้องขับไล่ผู้เช่าออกจากอสังหาริมทรัพย์อันมีค่าเช่าในขณะยื่นคำฟ้องไม่เกินเดือนละ 2,000 บาท และเรียกร้องให้จำเลยใช้ค่าเสียหายให้โจทก์เดือนละ 50,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป อันเป็นการเรียกค่าเสียหายในอนาคต จำเลยให้การรับว่าได้ทำสัญญาเช่ากับโจทก์ตามฟ้อง และยกข้อต่อสู้ว่าโจทก์ได้ตกลงให้จำเลยเช่าต่อไปอีก 10ปีด้วยวาจาต่างหากจากสัญญาเช่าท้ายฟ้อง อันเป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าการเช่าธรรมดา ส่วนค่าเสียหายก็ไม่เท่าที่ฟ้องจะเห็นได้ว่าจำเลยมิไดให้การต่อสู้คดีกล่าวแก้เป็นข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์หรือมิได้ยกข้อโต้เถียงในเรื่องแปลงความหมายแห่งข้อความในสัญญาเช่าจำเลยจึงต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 6)พ.ศ. 2518 มาตรา 3 ที่จำเลยอุทธรณ์ฎีกาว่า พยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบรับฟังได้ว่าได้มีข้อตกลงด้วยวาจาให้จำเลยเช่าต่อไปอีก 10 ปี หลังจากครบกำหนดเวลาตามสัญญาเช่าท้ายฟ้อง ในลักษณะสัญญาต่างตอบแทนก็ดี โจทก์ยังมิได้บอกกล่าวเลิกการเช่ากับจำเลยรวมทั้งค่าเสียหายของโจทก์ไม่ควรเกินเดือนละ 500 บาทก็ดี ล้วนแต่เป็นอุทธรณ์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงทั้งสิ้น ซึ่งต้องห้ามอุทธรณ์ตามบทกฎหมายข้างต้น ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ฎีกาของจำเลย และศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยให้เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย คดีเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นแล้ว ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของ จำเลยมาเป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 6)พ.ศ. 2518 มาตรา 7 ศาลฎีกาวินิจฉัยให้ไม่ได้”

พิพากษายกฎีกาจำเลย คือค่าธรรมเนียมชั้นฎีกาทั้งหมดแก่จำเลยค่าทนายความชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share