คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 460/2526

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยออกเช็ค 3 ฉบับ ลงวันที่สั่งจ่ายต่างกัน แม้โจทก์นำเช็คทั้ง 3 ฉบับไปขึ้นเงินในคราวเดียวกันธนาคารเดียวกัน ก็เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ต้องลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497มาตรา 3 และ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ลงโทษปรับจำเลยที่ 1เป็นเงิน 10,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 เดือน ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้ลงโทษจำเลยทั้งสอง 3 กระทง รวมเป็นลงโทษปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 30,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 3 เดือนจำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนฟังว่า จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันออกเช็ค 3 ฉบับ ลงวันที่ต่างกันสั่งจ่ายเงินฉบับละ 62,500 บาท ให้แก่โจทก์เพื่อเป็นการชำระหนี้ค่าเช่าซื้อรถแทรกเตอร์ ครั้นเมื่อเช็คถึงกำหนดโจทก์ได้นำเช็คนั้นไปขึ้นเงิน ปรากฏว่าธนาคารตามเช็คได้ปฏิเสธการจ่ายเงินเพราะเงินในบัญชีไม่มีจ่าย

คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเพียงว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรมต่างกัน

พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า จำเลยออกเช็ค 3 ฉบับ ลงวันที่สั่งจ่ายต่างกันชี้ให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาให้ใช้เงินตามเช็คแต่ละฉบับหรือไม่เพียงไรแตกต่างแยกจากกันได้ จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันต้องลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 แม้โจทก์นำเช็คทั้งสามฉบับไปขึ้นเงินในคราวเดียวกันธนาคารเดียวกันก็หาทำให้เจตนาที่จำเลยสั่งจ่ายเงินตามเช็คแต่ละฉบับเปลี่ยนแปลงไม่ ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 31/2518 คดีระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดจันทบุรี โจทก์ นายสมศักดิ์ กาญจนะสอาดจำเลย ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบากว่านั้นเป็นฎีกาในดุลพินิจ เป็นปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 ศาลฎีกาไม่วินิจฉัย”

พิพากษายืน

Share