แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้เสียหายกับจำเลยเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน จำเลยตัดฟันต้นมะขามเทศในที่ดินของมารดา เมื่อมารดาไม่ร้องทุกข์ ผู้เสียหายซึ่งเป็นเพียงผู้อาศัยย่อมไม่มีอำนาจร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีฐานทำให้เสียทรัพย์กับจำเลยซึ่งเป็นบุตรของเจ้าของทรัพย์ได้
บทบัญญัติในมาตรา 194 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่บังคับให้ศาลอุทธรณ์ต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนนั้นหมายเฉพาะข้อเท็จจริงที่ใช้ในการวินิจฉัยข้อกฎหมายตามที่มีอุทธรณ์เท่านั้น
คดีเรื่องทำให้เสียทรัพย์ ศาลชั้นต้นยกฟ้องโดยฟังว่าทรัพย์นั้นไม่ใช่ของผู้เสียหาย ผู้เสียหายไม่มีอำนาจร้องทุกข์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องโจทก์อุทธรณ์ว่าผู้เสียหายเป็นผู้ครอบครองมีอำนาจร้องทุกข์ได้ ดังนี้ ศาลอุทธรณ์อาจยกฟ้องโดยฟังข้อเท็จจริงใหม่ว่าจำเลยมิได้เป็นคนทำให้ทรัพย์นั้นเสียหายได้ เพราะมิใช่ข้อเท็จจริงที่ใช้ในการวินิจฉัยข้อกฎหมายตามที่มีอุทธรณ์ ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 194
เมื่อศาลชั้นต้นยกฟ้องโดยวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะ ผู้เสียหายที่ร้องทุกข์ไม่ใช่เจ้าของทรัพย์ ศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง โดยฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยมิได้เป็นผู้ทำให้ทรัพย์เสียหาย ดังนี้ โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219
แม้โจทก์ฎีกาอ้างว่าเป็นฎีกาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาก็มีอำนาจแปลข้อความในฎีกานั้นได้ว่า พอถือได้ว่าเป็นฎีกาในข้อเท็จจริงด้วย และถ้าคดีไม่ต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริง ศาลฎีกาก็รับวินิจฉัยข้อเท็จจริงนั้นให้ด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันตัดฟันรั้วต้นมะขามเทศของนายสวย เสียหาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358, 83
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธว่าไม่ได้ฟันและอ้างว่าต้นมะขามเทศนั้นนางละม่อมมารดาจำเลยที่ 1 เป็นผู้ปลูกร่วมกับนางละม่อม และนางละม่อมเป็นคนฟันเอง
คดีได้ความว่า นายสวย กับจำเลยที่ 1 เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันโดยต่างก็เป็นบุตรของนางละม่อม ส่วนจำเลยที่ 2, 3 เป็นบุตรของจำเลยที่ 1
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว ฟังว่าจำเลยตัดฟันต้นมะขามเทศ แต่ต้นมะขามเทศนั้นเป็นของนางละม่อมเพราะปลูกอยู่บนที่ดินของนางละม่อมจึงเป็นส่วนควบของที่ดินเมื่อนางละม่อมมิได้ร้องทุกข์ โจทก์ก็ไม่มีอำนาจฟ้อง จึงพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ในข้อกฎหมายว่า แม้จะฟังว่าต้นมะขามเทศเป็นส่วนควบของที่ดิน แต่นายสวยก็เป็นผู้ครอบครองต้นมะขามเทศนั้นนายสวยจึงเป็นผู้เสียหาย โจทก์มีอำนาจฟ้องได้ตามฎีกา 420/2505
ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า นางละม่อมเป็นคนตัดฟันต้นมะขามเทศของตนเอง จำเลยไม่ได้ตัดฟัน จึงพิพากษายกฟ้องยืนตามศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาเป็นข้อกฎหมายว่าคดีนี้ ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยเป็นผู้ตัดฟัน ศาลอุทธรณ์ไม่มีอำนาจฟังข้อเท็จจริงใหม่ว่า จำเลยไม่ได้ตัดฟัน เป็นการฝ่าฝืนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 194 ข้อเท็จจริงต้องฟังเป็นยุติตามคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นว่าจำเลยเป็นผู้ตัดฟัน และนายสวยเป็นผู้ครอบครองต้นมะขามเทศรายนี้อยู่ ย่อมเป็นผู้เสียหาย โจทก์มีอำนาจฟ้องได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 194 ที่บัญญัติว่า “ถ้ามีอุทธรณ์แต่ในปัญหาข้อกฎหมาย ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายนั้น ๆ ศาลอุทธรณ์จะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน” นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์จะต้องฟังตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนนั้น หมายเฉพาะข้อเท็จจริงที่ใช้ในการวินิจฉัยข้อกฎหมายตามที่มีอุทธรณ์เท่านั้น โดยเฉพาะคดีนี้ก็คือข้อเท็จจริงที่ว่าผู้เสียหายได้อาศัยปลูกเรือนอยู่ในที่ดินของนางละม่อมมารดา และผู้เสียหายได้ปลูกต้นมะขามเทศลงในที่ดินนั้นเพื่อทำเป็นรั้วล้อมบ้านเท่านั้น ส่วนข้อเท็จจริงที่ว่า จำเลยได้กระทำผิดหรือไม่นั้นจะถือเป็นยุติไม่ได้ ฉะนั้นศาลอุทธรณ์จึงมีอำนาจวินิจฉัยข้อเท็จจริงใหม่ได้ว่าจำเลยมิได้เป็นคนฟัน และพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยอาศัยข้อเท็จจริงได้
อย่างไรก็ตามศาลฎีกาเห็นว่า ฎีกาของโจทก์พอถือได้ว่าเป็นฎีกาโต้แย้งในปัญหาข้อเท็จจริงด้วย และโจทก์มีนางจุ่นและเด็กชายไพศาลเบิกความรับรองว่า จำเลยทั้งสามเป็นผู้ตัดฟัน เรื่องนี้เหตุเกิดเวลากลางวันและกรณีเป็นเรื่องตัดฟันรั้วต้นมะขามเทศยาวตั้ง 28 วาเศษ ไม่น่าเชื่อว่านางละม่อมซึ่งมีอายุตั้ง 73 ปี จะมีกำลังสามารถตัดฟันจนสำเร็จได้ด้วยลำพังคนเดียวดังจำเลยนำสืบ ฉะนั้น ศาลฎีกาจึงฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยทั้งสามเป็นผู้ตัดฟันต้นมะขามเทศนั้นแต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่านางละม่อมเป็นเจ้าของที่ดินและต้นมะขามเทศที่ถูกจำเลยฟัน ฉะนั้น แม้จำเลยจะเป็นคนฟัน แต่เมื่อนางละม่อมมิได้ร้องทุกข์ นายสวยซึ่งอาศัยสิทธิของนางละม่อมจึงไม่อาจร้องทุกข์ในคดีนี้ได้ ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ชอบแล้ว
พิพากษายืน