แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
อาคารที่ทำการศาลยุติธรรมเป็นสถานที่อำนวยความยุติธรรม ให้แก่ประชาชนผู้มีอรรถคดี บุคคลผู้มีอรรถคดีต้องมีความมั่นใจ และมีความอบอุ่นในความปลอดภัยจากภยันตรายทั้งปวง การที่ ผู้ถูกกล่าวหาพกพาอาวุธปืนซึ่งเป็นอาวุธร้ายแรงดังกล่าวเข้าไปใน บริเวณที่ทำการศาล แสดงถึงความไม่เคารพยำเกรงต่อกฎหมาย ถือได้ว่าเป็นความผิดร้ายแรง ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาลงโทษ จำคุกผู้ถูกกล่าวหา 2 เดือนและไม่รอการลงโทษเหมาะสมแก่ พฤติการณ์แห่งรูปคดีและเป็นคุณแก่จำเลยมากแล้ว ไม่มีเหตุ ที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากพลตำรวจสมพงษ์ แก้วตา เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำศาลจังหวัดสุพรรณบุรี รายงานว่า ขณะที่พลตำรวจสมพงษ์ปฏิบัติหน้าที่บริเวณจุดตรวจอาวุธหน้าศาล มีนายพงษ์ศักดิ์ เจริญวิกวัย จำเลยในคดีหมายเลขดำที่ 4424/2542 ของศาลชั้นต้น ข้อหามีกัญชาไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตผ่านเครื่องตรวจอาวุธเข้ามา จึงได้ทำการค้นตัวพบอาวุธปืนสั้นรีวอลเวอร์ขนาด .32ยี่ห้อสมิทแอนด์เวสสัน ไม่มีหมายเลขทะเบียน พร้อมกระสุนปืนขนาด .32 จำนวน2 นัด และปลอกกระสุนปืนขนาด .32 จำนวน 1 ปลอก ซุกซ่อนอยู่ในกระเป๋ากางเกงด้านหน้า จึงรายงานให้ศาลทราบ
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว ผู้ถูกกล่าวหารับว่าได้พกพาอาวุธปืนดังกล่าวเข้าไปในบริเวณที่ทำการของศาลจริง เห็นว่า ผู้ถูกกล่าวหาประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลมีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31(1) อาศัยอำนาจประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 33 (ที่ถูกประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15) ให้จำคุกผู้กล่าวหามีกำหนด 6 เดือน
ผู้ถูกกล่าวหาอุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ลดมาตราส่วนโทษให้ผู้ถูกกล่าวหากึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 จำคุก 3 เดือน และลดโทษให้อีกหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ผู้ถูกกล่าวหาฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “อาคารที่ทำการศาลยุติธรรมเป็นสถานที่อำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนผู้มีอรรถคดี บุคคลผู้มีอรรถคดีต้องมีความมั่นใจและมีความอบอุ่นในความปลอดภัยจากภยันตรายทั้งปวง การที่ผู้ถูกกล่าวหาพกพาอาวุธปืนซึ่งเป็นอาวุธร้ายแรงดังกล่าวเข้าไปในบริเวณที่ทำการศาลแสดงถึงความไม่เคารพยำเกรงต่อกฎหมาย ถือได้ว่าเป็นความผิดร้ายแรง ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาลงโทษจำคุกผู้ถูกกล่าวหา และไม่รอการลงโทษเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีและเป็นคุณแก่จำเลยมากแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของผู้ถูกกล่าวหาฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน