คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3353/2524

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชกฤษฎีกากำหนดไม้หวงห้าม พ.ศ. 2505 ซึ่งออกตามความในมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ย่อมมีผลใช้บังคับได้เป็นกฎหมาย
มาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ที่บัญญัติให้คัดสำเนาพระราชกฤษฎีกาประกาศไว้ตามสถานที่ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องนั้น เป็นแต่เพียงกำหนดวิธีการให้พนักงานเจ้าหน้าที่กระทำในการประกาศให้ทราบถึงพระราชกฤษฎีกาเท่านั้น ไม่ใช่บทบังคับอันเป็นองค์ประกอบความผิด หากจำเลยเห็นว่ายังไม่ได้มีการปิดประกาศพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว ซึ่งจะใช้บังคับแก่จำเลยไม่ได้ ก็เป็นข้อที่จำเลยจะต่อสู้ขึ้นมาให้เป็นประเด็นในศาลชั้นต้น เมื่อจำเลยมิได้เคยโต้เถียงในข้อนี้ แม้โจทก์จะมิได้นำสืบว่าได้มีการคัดสำเนาพระราชกฤษฎีกาปิดประกาศไว้ ณ สถานที่ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ก็ลงโทษจำเลยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยร่วมกันมีไม้ตะเคียนทองและไม้เต็งแปรรูปรวมเนื้อไม้ 6.50 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งไม้ตะเคียนทองและไม้เต็งเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดไม้หวงห้ามพ.ศ. 2505 ไว้ในครอบครอง ภายในเขตควบคุมการแปรรูปไม้ตามสำเนาประกาศเขตควบคุมการแปรรูปไม้ท้ายฟ้อง โดยจำเลยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้พ.ศ. 2484 มาตรา 48, 73, 74, 74 ทวิ ฯลฯ สั่งริบไม้แปรรูปและรถยนต์ของกลาง

จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 48, 73 ฯลฯ ลงโทษจำคุก ริบไม้แปรรูปและรถยนต์ของกลาง

จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ว่า ไม้ของกลางเป็นไม้เรือนเก่าสร้างด้วยไม้หวงห้ามประเภท ก. เมื่อรื้อมาแล้วก็ไม่เป็นไม้แปรรูป และโจทก์ไม่ได้นำสืบว่าได้คัดสำเนาพระราชกฤษฎีกาประกาศไว้ ณ ที่ว่าการอำเภอและที่ทำการกำนันฯ ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 5 จึงเป็นฟ้องที่ลงโทษจำเลยไม่ได้

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ไม้ของกลางเป็นไม้แปรรูป ส่วนข้อกำหนดตามมาตรา 5 ที่ให้คัดสำเนาพระราชกฤษฎีกาปิดตามสถานที่ซึ่งเกี่ยวข้อง เป็นแต่เพียงกำหนดวิธีการให้พนักงานเจ้าหน้าที่กระทำในการประกาศให้ทราบถึงพระราชกฤษฎีกาเท่านั้น แม้โจทก์จะมิได้นำสืบว่าได้คัดสำเนาพระราชกฤษฎีกาปิดประกาศไว้ ณ สถานที่ต่าง ๆ ก็ลงโทษจำเลยได้ พิพากษาแก้เป็นว่า ลดมาตราส่วนโทษให้จำเลยที่ 3 หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยทั้งสามฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาเฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ฟังไว้ว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจจับจำเลยทั้งสามได้ขณะนำไม้ของกลางจำนวน 169 แผ่นกับ 18 เหลี่ยมปริมาตร 6.50 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นไม้แปรรูปตามกฎหมาย บรรทุกรถยนต์คันของกลางผ่านด่านตรวจของเจ้าหน้าที่ตำรวจบ้านโป่งดิน ตำบลป่าเมี่ยง อำเภอดอยสะเก็ด ซึ่งเป็นเขตควบคุมการแปรรูปไม้ แต่โจทก์มิได้นำสืบว่า ได้คัดสำเนาพระราชกฤษฎีกากำหนดไม้หวงห้าม พ.ศ. 2505 ประกาศไว้ ณ ที่ว่าการอำเภอและที่ทำการกำนันฯ แล้ววินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายที่ว่าโจทก์จำต้องนำสืบหรือไม่ว่าได้มีการปิดประกาศสำเนาพระราชกฤษฎีกากำหนดไม้หวงห้าม พ.ศ. 2505 ตามกฎหมายแล้ว ศาลจึงจะลงโทษจำเลยได้ ดังนี้ คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานมีไม้ตะเคียนทองและไม้เต็งแปรรูปรวมปริมาตรเนื้อไม้ 6.50 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดไม้หวงห้าม พ.ศ. 2505 ไว้ในครอบครองภายในเขตควบคุมการแปรรูปไม้ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 มาตรา 48, 73 ที่แก้ไขแล้ว โจทก์ได้นำสืบถึงการกระทำต่าง ๆ ของจำเลย ตลอดจนท้องที่ที่จำเลยทั้งสามมีไม้แปรรูปไว้ในครอบครองเป็นเขตควบคุมการแปรรูปไม้ อันเป็นองค์ประกอบของความผิดตามมาตรา 48ครบถ้วนแล้ว ส่วนข้อที่มาตรา 5แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้พุทธศักราช 2484บัญญัติให้คัดสำเนาพระราชกฤษฎีกาประกาศไว้ตามสถานที่ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องนั้น ก็เป็นแต่เพียงกำหนดวิธีการให้พนักงานเจ้าหน้าที่กระทำในการประกาศให้ทราบถึงพระราชกฤษฎีกาเท่านั้นไม่ใช่บทบังคับอันเป็นองค์ประกอบความผิดการที่โจทก์ระบุในฟ้องว่ามีพระราชกฤษฎีกากำหนดไม้หวงห้าม พ.ศ. 2505กำหนดให้ไม้ของกลางเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ก็เท่ากับอ้างอยู่ในตัวว่าได้มีประกาศถูกต้องแล้วจำเลยไม่เคยโต้เถียงแต่กลับยอมรับในอุทธรณ์ว่าไม้ของกลางเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. เพียงแต่ต่อสู้ว่าเป็นไม้เรือนเก่าแสดงว่าจำเลยได้ทราบถึงพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวแล้วพระราชกฤษฎีกากำหนดไม้หวงห้าม พ.ศ. 2505 ซึ่งออกตามความในมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาลงวันที่ 14 พฤศจิกายน 2505 จึงมีผลใช้บังคับได้เป็นกฎหมายในขณะที่จำเลยกระทำความผิด หากจำเลยเห็นว่ายังไม่ได้มีการปิดประกาศพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว ซึ่งจะใช้บังคับแก่จำเลยไม่ได้ ก็เป็นข้อที่จำเลยจะต่อสู้ขึ้นมาให้เป็นประเด็นในศาลชั้นต้น ด้วยเหตุผลดังกล่าวมา แม้โจทก์จะมิได้นำสืบให้เห็นว่าได้มีการคัดสำเนาพระราชกฤษฎีกากำหนดไม้หวงห้ามพ.ศ. 2505 ปิดประกาศไว้ ณ สถานที่ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องก็ลงโทษจำเลยได้

พิพากษายืน

Share