แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่บริษัทนายจ้างปลดลูกจ้างทั้งสองออกจากงานโดยข้อเท็จจริง ฟังไม่ได้ว่าลูกจ้างทั้งสองทุจริตต่อหน้าที่และมิได้ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับของบริษัทนายจ้างดังที่บริษัทนายจ้างอ้าง และลูกจ้างทั้งสอง เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานมีตำแหน่งประธานและเลขาธิการซึ่งกรรมการ ผู้จัดการใหญ่ของบริษัทนายจ้างต้องการให้ยุบสหภาพนั้น แต่ลูกจ้างทั้งสองไม่ยินยอมนอกจากนี้ลูกจ้างทั้งสองยังได้ทำหนังสือร้องเรียนหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินให้ปรับปรุงบริษัทนายจ้างโดย อ้างว่ามีการทุจริต ทั้งยังได้นำพนักงานของบริษัทนายจ้างเรียกร้องผลประโยชน์อีกหลายเรื่องพฤติการณ์ดังนี้น่าเชื่อว่าลูกจ้างทั้งสอง ถูกปลดออกจากงาน เพราะเหตุเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานอันเป็น การฝ่าฝืนพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 121
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เนื่องจากนายบรรเจิดและนายบุญยังลูกจ้างโจทก์ ร่วมกันจำหน่ายยางรถยนต์ของโจทก์โดยทุจริตและไม่ชอบด้วยระเบียบคำสั่งข้อบังคับของโจทก์ โจทก์จึงมีคำสั่งปลดบุคคลทั้งสองออกจากบริษัทโจทก์ บุคคลทั้งสองได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์กล่าวหาว่าโจทก์กลั่นแกล้งปลดออกจากงานเพราะบุคคลทั้งสองเป็นประธานและเลขาธิการของสหภาพแรงงานกิจการขนส่งผู้โดยสารรถประจำทาง จำเลยทั้งสิบเอ็ด(คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์) มีคำสั่งชี้ขาดว่า บุคคลทั้งสองถูกโจทก์ปลดออกจากงานเนื่องจากโจทก์กลั่นแกล้งเพราะเหตุที่บุคคลทั้งสองเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานฯ เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามมาตรา 121 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มีคำสั่งให้โจทก์รับบุคคลทั้งสองกลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่และอัตราค่าจ้างไม่ต่ำกว่าเดิมโดยให้ถือเสมือนว่าไม่มีการเลิกจ้าง กับให้จ่ายค่าจ้างตั้งแต่วันเลิกจ้างจนถึงวันกลับเข้าทำงาน ความจริงโจทก์มิได้กลั่นแกล้งบุคคลทั้งสองดังที่จำเลยทั้งสิบเอ็ดมีคำสั่งชี้ขาด ขอให้เพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ดังกล่าวกับให้จำเลยทั้งสิบเอ็ดร่วมกันชดใช้ค่าจ้างที่โจทก์จ่ายให้แก่นายบรรเจิดและนายบุญยังตามคำสั่งของจำเลยทั้งสิบเอ็ดจนกว่าบุคคลทั้งสองออกไปจากบริษัทโจทก์
จำเลยทั้งสิบเอ็ดให้การว่า คำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่จำเลยทั้งสิบเอ็ดสั่งชอบด้วยกฎหมาย การที่โจทก์สั่งปลดนายบรรเจิดและนายบุญยังออกจากงานนั้นสาเหตุที่แท้จริงก็เพราะโจทก์ไม่พอใจเนื่องจากบุคคลทั้งสองเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานกิจการขนส่งผู้โดยสารรถยนต์ประจำทาง บุคคลทั้งสองจึงได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 121 จำเลยทั้งสิบเอ็ดไม่ต้องรับผิดใช้เงินตามฟ้องแก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการแรงานสัมพันธ์คำขออื่นของโจทก์นอกจากนี้ให้ยกเสีย
จำเลยทุกคนอุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ขอให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีเต็มตามฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่านายบรรเจิดและนายบุญยังจำหน่ายยางรถยนต์ของโจทก์โดยทุจริตหรือฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของบริษัทโจทก์แต่อย่างใด และฟังได้ว่าบุคคลทั้งสองเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานกิจการขนส่งผู้โดยสารรถยนต์ประจำทาง โดยนายบุญยังเป็นประธาน นายบรรเจิดเป็นเลขาธิการของสหภาพฯ กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัทโจทก์ต้องการให้ยุบสหภาพฯ มารวมกับศูนย์ บ.ข.ส. ของบริษัทโจทก์ แต่นายบรรเจิดและนายบุญยังคัดค้านไม่ยินยอม ทั้งยังทำหนังสือร้องเรียนต่อหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินให้ปรับปรุงบริษัทโจทก์ อ้างว่าเพราะมีการทุจริต และนำพนักงานของบริษัทโจทก์เรียกร้องผลประโยชน์อีกหลายเรื่อง เป็นเหตุให้ทางฝ่ายบริหารของบริษัทโจทก์ไม่พอใจโดยเฉพาะเมื่อคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินเรียกสหภาพฯ ไปประชุมเกี่ยวกับนโยบายด้านแรงงานซึ่งบุคคลทั้งสองไปร่วมประชุมและเสนอข้อคิดเห็นในนามสหภาพฯ เกี่ยวกับการปรับปรุงงานของบริษัทโจทก์ หลังจากนั้น 3 วัน บุคคลทั้งสองก็ถูกบริษัทโจทก์สั่งพักงานและปลดออกจากงานในที่สุด พฤติการณ์ดังกล่าวนี้น่าเชื่อว่าบุคคลทั้งสองถูกปลดออกจากงานเพราะเหตุเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานอันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 121 คำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์เป็นคำสั่งที่ถูกต้องและชอบด้วยเหตุผล
พิพากษายืน