คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1322/2523

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานนั้น มีกฎหมายบังคับให้นายจ้างจะต้องจัดให้มีตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 68ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในข้อ 2 และข้อ 14 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ดังนั้น จำเลยซึ่งเป็นนายจ้าง จะต้องจัดให้มีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานและต้องมีรายการต่าง ๆ ตามที่ข้อ 68 กำหนดไว้ซึ่งข้อ 68(6) มีรายการเรื่องวินัยและโทษทางวินัยด้วยฉะนั้น นายจ้างจึงมีสิทธิที่จะออกข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานว่าการเล่นการพนันในบริเวณบริษัทเป็นความผิดสถานหนักมีโทษถึงปลดออกหรือไล่ออก และไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยได้ ส่วนการจ่ายค่าชดเชย ต้องบังคับตามข้อ 47(3)ของประกาศกระทรวงมหาดไทย ระเบียบข้อบังคับของจำเลยจึงชอบด้วยกฎหมาย
การเล่นการพนันในบริเวณบริษัท ไม่ว่าจะเป็นเวลาในขณะปฏิบัติงานหรือนอกเวลาก็ตาม นอกจากจะเป็นการกระทำที่ผิดต่อกฎหมายอาญาแล้ว ยังเป็นบ่อเกิดแห่งอาชญากรรมทำลายความสามัคคีในระหว่างหมู่คณะ ทำให้ผลงานของลูกจ้างลดน้อยลง และอาจทำให้บริษัทจำเลยได้รับความเสียหายทางชื่อเสียง การฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับดังกล่าวจึงเป็นกรณีที่ร้ายแรง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลย จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์โดยมิได้จ่ายค่าชดเชย อ้างว่าโจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานอย่างร้ายแรง เนื่องจากโจทก์กับพวกถูกจับกุมฐานเล่นการพนันในหอพักลูกจ้างของบริษัทจำเลยซึ่งอยู่นอกอาคารที่ทำการบริษัทจำเลย และโจทก์ถูกศาลพิพากษาปรับคดีถึงที่สุดแล้ว ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์เป็นเงิน 13,260 บาท

จำเลยให้การว่า โจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับและระเบียบอย่างร้ายแรงซึ่งมีโทษถึงปลดออกหรือไล่ออก จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่จ่ายค่าชดเชยเป็นการชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางงดสืบพยานโจทก์จำเลยแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์ถูกเลิกจ้างด้วยเหตุที่ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานในกรณีที่ร้ายแรงไม่มีสิทธิเรียกค่าชดเชยจากจำเลยผู้เป็นนายจ้าง ตามประกาศของกระทรวงมหาดไทย พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานนั้นมีกฎหมายบังคับให้นายจ้างจะต้องจัดให้มีตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 68 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในข้อ 2 และข้อ 14 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 103 ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ตามกฎหมายที่จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างจะต้องจัดให้มีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน และตามข้อ 68 ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานต้องมีรายการต่าง ๆ ตามที่กำหนดไว้ ซึ่งข้อ 68(6) มีรายการเรื่องวินัยและโทษทางวินัยด้วย ฉะนั้น จำเลยจึงมีสิทธิที่จะออกข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานว่า การเล่นการพนันในบริเวณบริษัทเป็นความผิดสถานหนัก มีโทษถึงปลดออกหรือไล่ออก และไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยได้ อย่างไรก็ตามปัญหาว่าการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานในกรณีดังกล่าว จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ซึ่งเลิกจ้างหรือไม่ต้องบังคับตามข้อ 47(3) ของประกาศกระทรวงมหาดไทย ระเบียบข้อบังคับของจำเลยจึงชอบด้วยกฎหมาย

ส่วนข้อที่โจทก์อุทธรณ์ว่า แม้โจทก์จะเล่นการพนันในบริเวณบริษัทจำเลย โจทก์ก็เล่นการพนันนอกเวลาทำงาน ไม่ทำให้จำเลยได้รับความเสียหายการกระทำของโจทก์ไม่เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานในกรณีที่ร้ายแรงนั้น เห็นว่า การเล่นการพนันในบริเวณบริษัท ไม่ว่าจะเป็นเวลาในขณะปฏิบัติงานหรือนอกเวลาก็ตาม นอกจากจะเป็นการกระทำที่ผิดต่อกฎหมายอาญาแล้ว ยังเป็นบ่อเกิดแห่งอาชญากรรม ทำลายความสามัคคีในระหว่างหมู่คณะ ทำให้ผลงานของลูกจ้างลดน้อยลง และอาจทำให้บริษัทจำเลยได้รับความเสียหายทางชื่อเสียงการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับดังกล่าวจึงเป็นกรณีที่ร้ายแรง

พิพากษายืน

Share