คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 627/2522

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ปัญหาที่ว่าเมื่อโจทก์ไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 หรือปลดหนี้ให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 2 แล้ว จำเลยที่ 2 ย่อมหลุดพ้นจากความรับผิด โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2นั้น มิใช่ปัญหาที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน
ค่าเสียหายที่ขาดรายได้ตามปกติ เป็นค่าเสียหายเกี่ยวกับตัวเงินที่โจทก์ต้องขาดไป เพราะไม่สามารถประกอบการงานได้ในระหว่างที่ต้องรักษาตัวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 443 ส่วนค่าเสียหายในการเจ็บป่วยก็คือค่าที่โจทก์ต้องเสียหายแก่ร่างกายหรืออนามัย เป็นค่าสินไหมทดแทนความเสียหายอย่างอื่นที่มิใช่เป็นตัวเงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 446 ไม่ใช่ค่าเสียหายอย่างเดียวกัน ศาลพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายทั้งสองอย่างนี้ให้แก่โจทก์ได้ไม่เป็นการซ้ำซ้อนกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นเจ้าของรถจักรยานยนต์ จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างขับรถยนต์โดยสารของจำเลยที่ 2 โดยความประมาทจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์เลี้ยวขวาตัดหน้ารถจักรยานยนต์ของโจทก์อย่างกระชั้นชิด เป็นเหตุให้รถจักรยานยนต์ที่โจทก์ขับชนรถยนต์นั้นล้มลง โจทก์ได้รับบาดเจ็บต้องเสียค่ารักษาพยาบาล ค่าซ่อมรถ ต้องป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่า 20 วัน และเป็นแผลติดตัวไปตลอดชีวิต ทำให้เสียหายแก่ร่างกายและอนามัย โจทก์ขอคิดค่าเสียหายเป็นเงิน 20,000 บาท จากบาดแผลที่โจทก์ได้รับทำให้โจทก์ประกอบธุรกิจตามปกติไม่ได้ ขาดประโยชน์รายได้ 13,700 บาท จึงมาฟ้องให้จำเลยร่วมกันรับผิดชดใช้แก่โจทก์

จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ฟ้องเรียกค่าขาดประโยชน์รายได้และค่าเสียหายแก่กายและอนามัย เป็นการเรียกค่าเสียหายซ้ำซ้อน โจทก์ได้รับเงินค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 ไป 5,000 บาท ตกลงว่าจะไม่เรียกร้องเอาจากจำเลยที่ 1 อีก จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ จำเลยที่ 2 ในฐานะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดในค่าเสียหายต่อโจทก์ด้วย

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าเสียหายที่โจทก์ต้องขาดประโยชน์รายได้ในการประกอบอาชีพระหว่างรักษาพยาบาลกับค่าเสียหายแก่กายที่ต้องเจ็บป่วยด้วยอาการทุกขเวทนาให้โจทก์ ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ว่า ค่าเสียหายแก่กายที่ต้องเจ็บป่วยเป็นค่าเสียหายซ้ำกับค่าเสียหายเนื่องจากโจทก์ขาดประโยชน์รายได้ตามปกติ เพราะเจ็บป่วยในการเกิดอุบัติเหตุซึ่งศาลพิพากษาให้ไปแล้ว ไม่ควรให้อีก

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยทั้งสองต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ในฐานะลูกหนี้ร่วมในเมื่อโจทก์ไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 หรือปลดหนี้ให้จำเลยที่ 1สิทธิที่จะนำคดีมาฟ้องจึงระงับ จำเลยที่ 2 ต้องหลุดพ้นจากความรับผิดทางแพ่งไปด้วย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าปัญหาข้อนี้จำเลยที่ 2 มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นอุทธรณ์ และมิใช่ปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ค่าเสียหายในการที่ต้องเจ็บป่วยและค่าเสียหายในการที่โจทก์ขาดรายได้ตามปกติเพราะเหตุการป่วยเจ็บเป็นค่าเสียหายอย่างเดียวกันนั้น วินิจฉัยว่า ค่าเสียหายทั้งสองอย่างนี้ไม่ใช่ค่าเสียหายอย่างเดียวกัน ค่าเสียหายที่ขาดรายได้ตามปกติเป็นค่าเสียหายเกี่ยวกับตัวเงินที่โจทก์ต้องขาดไปเพราะไม่สามารถประกอบการงานของโจทก์ได้ตามปกติในระหว่างที่ต้องรักษาตัวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 443 ส่วนค่าเสียหายในการป่วยเจ็บที่โจทก์ได้รับเป็นค่าสินไหมทดแทนในความเสียหายอย่างอื่นที่มิใช่เป็นตัวเงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 446 สำหรับคดีนี้ก็คือค่าที่โจทก์ต้องเสียหายแก่ร่างกายหรืออนามัยอันเป็นความเสียหายที่ได้รับเพราะความประมาทของจำเลยที่ 1 นั่นเอง จึงไม่ใช่ค่าเสียหายซ้ำซ้อนดังที่จำเลยที่ 2 ฎีกา

พิพากษายืน

Share