คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 272/2522

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

อาวุธปืนตามมาตรา 8 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติอาวุธปืนนั้นหมายความรวมถึงอาวุธปืนมีหมายเลขทะเบียนและได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนให้มีไว้ในความครอบครองและอาวุธปืนซึ่งไม่มีหมายเลขทะเบียน และไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนให้มีไว้ในความครอบครองด้วย เมื่อจำเลยพาอาวุธปืนซึ่งไม่มีหมายเลขทะเบียนและไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนให้มีไว้ในความครอบครองติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว จำเลยจึงต้องมีความผิดตามบทบัญญัติของกฎหมายมาตรานี้ด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยบังอาจมีอาวุธปืนสั้นลูกซองใช้ยิงได้ ไม่มีหมายเลขทะเบียน 1 กระบอก และกระสุนปืน 2 นัดไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ตามกฎหมาย จำเลยโดยไม่ได้รับอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัวบังอาจพกพาอาวุธปืนและกระสุนปืนดังกล่าวไปในทางสาธารณะหมู่บ้านในเมืองโดยเปิดเผยโดยไม่มีเหตุจำเป็น และเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯลฯพ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72, 8 ทวิ, 72 ทวิ พระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯลฯ(ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2517 มาตรา 3 คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่ 44 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ข้อ 3, 6, 7 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 ริบของกลาง

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานมีอาวุธปืนไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯลฯ พ.ศ. 2490มาตรา 7, 72 คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 44 ลงวันที่ 21ตุลาคม 2519 ข้อ 6 จำคุก 1 ปี ปรับ 8,000 บาท และมีความผิดฐานพกพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯลฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 8 ทวิ, 72 ทวิ คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 44 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ข้อ 3, 7ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 สำหรับกระทงหลังนี้เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯลฯ พ.ศ. 2490มาตรา 8 ทวิ, 72 ทวิ คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 44ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ข้อ 3, 7 ซึ่งเป็นบทหนักที่สุด จำคุก 6 เดือน ปรับ4,000 บาท รวมเป็นจำคุก 1 ปี 6 เดือน ปรับ 12,000 บาท จำเลยรับสารภาพมีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหน่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78คงจำคุก 9 เดือน ปรับ 6,000 บาท โทษจำรอไว้ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 ค่าปรับไม่ชำระจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30ของกลางริบ

จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยไม่มีความผิดฐานพกพาอาวุธปืนไปในที่สาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯลฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 8 ทวิ คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 44 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ข้อ 3

ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วพิพากษายืนในความผิดฐานนี้

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาว่าจำเลยพาอาวุธปืนซึ่งไม่มีหมายเลขทะเบียน และไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนให้มีไว้ในความครอบครองพร้อมกับกระสุนปืนของกลางติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัวนั้นจะมีความผิดตามฟ้องหรือไม่และวินิจฉัยว่ามาตรา 8 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯลฯ พ.ศ. 2490คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 44 ลงวันที่ 21 ตุลาคม2519 ข้อ 3 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว เว้นแต่เป็นกรณีที่ต้องมีติดตัวเมื่อมีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์” เห็นว่าอาวุธปืนตามความหมายของบทบัญญัติมาตรานี้รวมถึงอาวุธปืนซึ่งมีหมายเลขทะเบียน และได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนให้มีไว้ในความครอบครองและอาวุธปืนที่ไม่มีหมายเลขทะเบียนและไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนให้มีไว้ในความครอบครองด้วย และเห็นว่าการแปลความหมายของบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวตามที่จำเลยฎีกาว่าอาวุธปืนของกลางไม่ชอบด้วยกฎหมาย จะให้จำเลยไปขออนุญาตเพื่อให้มีอาวุธปืนติดตัวย่อมเป็นไปไม่ได้ และว่าบทบัญญัติมาตรานี้คุ้มครองบุคคลที่มีอาวุธปืนที่ชอบด้วยกฎหมายแล้วเท่านั้นซึ่งหมายความว่า จำเลยพาอาวุธปืนของกลางติดตัวไปได้โดยไม่ต้องรับใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัวนั้นก็ขัดกับความมุ่งหมายของคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่ 44 ที่จะรักษาไว้ซึ่งความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ และให้ประชาชนได้รับความปลอดภัยจากอาชญากรรมให้มากที่สุด

พิพากษายืน

Share