คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 148/2522

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1535 บุตรชอบด้วยกฎหมายเท่านั้นที่มีหน้าที่จำต้องอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาผู้ตายไม่ใช่บุตรชอบด้วยกฎหมายของโจทก์โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดไร้อุปการะ
ค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นนั้น เฉพาะแต่บุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1649 เท่านั้นที่มีหน้าที่จัดการศพ โจทก์ไม่ใช่ทายาทของผู้ตาย เพราะไม่ได้เป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าใช้จ่ายในการปลงศพเช่นเดียวกัน (อ้างฎีกาที่477/2514)
เมื่อโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง แต่มารดาผู้ตายร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ถึงแม้จะบรรยายมาในคำร้องว่าผู้ร้องเป็นผู้มีส่วนได้เสีย มีความประสงค์ขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมโดยถือเอาคำฟ้องและหลักฐานต่าง ๆ ของโจทก์เป็นของผู้ร้องก็ตาม เมื่อฟังว่าผู้ร้องเป็นมารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย ซึ่งย่อมมีสิทธิที่จะฟ้องจำเลยผู้ทำละเมิดทำให้บุตรของตนตายได้โดยตรงอยู่แล้ว ดังนี้ คำร้องของผู้ร้องจึงแปลได้ว่าเป็นการร้องขอเพื่อยังให้ได้รับความรับรอง คุ้มครอง หรือบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 57(1) นั่นเองโดยอาศัยคำฟ้องของโจทก์เป็นของผู้ร้องหาใช่เป็นการร้องสอดเข้ามาตามมาตรา 57(2) ไม่ ดังนั้น แม้ฟ้องเดิมโจทก์จะไม่มีอำนาจฟ้อง ผู้ร้องก็เข้ามาในคดีได้ (ข้อนี้วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ครั้งที่ 17/2521)
จำเลยถือสิทธิครอบครองใช้แพที่เกิดเหตุซึ่งเดิมใช้สำหรับผู้โดยสารเรือเล็กที่รับส่งข้ามฟาก หรือไปมาในระยะใกล้เป็นครั้งคราวมาใช้สำหรับรับส่งคนโดยสาร-เรือด่วนของจำเลยเป็นประจำ วันเกิดเหตุผู้โดยสารเพิ่มมากขึ้น แพโป๊ะทานน้ำหนักไม่ได้เกิดแตกล่มจำเลยมีส่วนจะต้องรับผิดในความประมาทเลินเล่อที่มิได้ระมัดระวังป้องกัน ตรวจสภาพปรับปรุงซ่อมแซมท่าเทียบเรือให้แข็งแรงคงทนเหมาะสมกับกิจการของจำเลย จำเลยจึงไม่อาจปฏิเสธความรับผิดได้
การที่บุตรตายลง ย่อมทำให้ผู้เป็นมารดาต้องขาดไร้อุปการะจากผู้ตายตามกฎหมาย ทั้งนี้โดยไม่ต้องพิจารณาถึงว่าผู้ตายจะได้อุปการะเลี้ยงดูมารดาหรือไม่
ค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอื่น จะต้องพิจารณาตามสมควรตามความจำเป็นและตามฐานะของผู้ตาย และบิดามารดา ทั้งต้องพิจารณาถึงประเพณีการทำศพตามลัทธินิยมประกอบด้วยและต้องไม่ใช่รายการที่ฟุ่มเฟือยเกินไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและเพิ่มเติมฟ้องว่า นายสุเทพผู้ตายอายุ 19 ปี เป็นบุตรโจทก์ที่เกิดกับนางเอี่ยมหงษ์ ผู้ตายยังไม่มีภริยา อยู่ในความปกครองของโจทก์และภริยา วันเกิดเหตุผู้ตายไปลงเรือด่วนของจำเลยที่ท่าเรือที่อยู่ในความครอบครองของจำเลย ขณะที่ผู้ตายยืนรอเรืออยู่ เรือจวนมาถึงท่าก็มีผู้โดยสารอื่นลงไปที่ท่าเทียบเรือ สะพานที่พาดแพโป๊ะก็หักลง แพโป๊ะแตกพลิกคว่ำ ผู้ตายพลัดตกน้ำถึงแก่ความตาย ขอให้ศาลบังคับจำเลยให้ใช้ค่าสินไหมทดแทน มีค่าปลงศพและค่าขาดไร้อุปการะรวมเป็นเงิน 118,400 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะมิใช่บิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย จำเลยไม่ได้ครอบครองและเป็นเจ้าของท่าเทียบเรืออุบัติเหตุเกิดขึ้นจากการกระทำของผู้โดยสารทั้งหลายอันมีผู้ตายรวมอยู่ด้วยวิ่งกรูลงไปที่สะพานและโป๊ะท่าเทียบเรือในเวลาเดียวกันโดยไม่เชื่อฟังคนร้องห้ามหากจำเลยมีส่วนต้องรับผิดร่วมด้วย จำนวนเงินแห่งความรับผิดต้องลดลงตามส่วนและต่อสู้เรื่องค่าเสียหาย
เมื่อสืบพยานโจทก์ไปบ้างแล้ว นางเอี้ยงหงษ์หรือเอี่ยมหงษ์มารดาผู้ตายร้องสอดเข้าเป็นโจทก์ร่วมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 57(1) ศาลชั้นต้นเห็นว่าผู้ร้องสอดชอบที่จะเข้ามาเป็นคู่ความในฐานะโจทก์ร่วมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(1) ได้โดยขอถือเอาคำฟ้องและหลักฐานต่าง ๆ ของโจทก์เป็นของผู้ร้องสอดแล้วด้วยกรณีไม่ได้เป็นเรื่องที่ผู้ร้องสอดเจตนาเสริมคำฟ้องและพยานหลักฐานต่าง ๆของโจทก์ที่บกพร่องให้สมบูรณ์ดังคำคัดค้านของจำเลย จึงมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องสอดเข้ามาในคดีได้ตามคำขอ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะผู้ตายเป็นบุตรนอกสมรสของโจทก์ แต่โจทก์ร่วมมีอำนาจฟ้องเพราะผู้ตายเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ร่วมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1525 จำเลยเป็นผู้ครอบครองท่าเทียบเรือที่เกิดเหตุจึงต้องระมัดระวังตรวจดูให้ปลอดภัย จำเลยต้องรับผิด แต่ผู้ตายมีส่วนประมาทเลินเล่ออยู่ด้วยจึงพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมเป็นเงิน 60,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์และโจทก์ร่วมอุทธรณ์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องผู้ตายไม่มีส่วนประมาทเลินเล่อด้วย โจทก์และโจทก์ร่วมควรได้รับสินไหมทดแทนเต็มตามฟ้อง
จำเลยอุทธรณ์ว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุม นางเอี้ยงหงษ์เข้ามาเป็นโจทก์ร่วมเพื่อต้องการเสริมคำฟ้องของโจทก์ให้เป็นคำฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยไม่ใช่เจ้าของผู้ครอบครองท่าสะพานและโป๊ะที่เกิดเหตุ ไม่มีหน้าที่จะต้องรับผิดชอบและอุทธรณ์ในเรื่องค่าเสียหาย
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ววินิจฉัยว่าผู้ตายเป็นบุตรนอกสมรสของโจทก์บุตรชอบด้วยกฎหมายเท่านั้นมีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา เมื่อผู้ตายไม่ใช่บุตรชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ โจทก์ก็ไม่มีสิทธิได้ค่าอุปการะเลี้ยงดู โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 477/2514 ระหว่างนายประนอมศรศุปต์ โจทก์ นางเครือวัลย์ ศรศุปต์ โจทก์ร่วม นายฉัตร ศรีพยัคฆ์ กับพวกจำเลย ส่วนค่าใช้จ่ายในการปลงศพโจทก์ก็ไม่มีสิทธิเรียกร้อง เพราะโจทก์ไม่ใช่ทายาทของผู้ตายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1649 และ443 วรรคแรก สำหรับโจทก์ร่วมนั้นร้องสอดเข้ามาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 58 วรรคสอง เมื่อโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องหรืออำนาจฟ้องแล้วสิทธิของโจทก์ร่วมที่จะดำเนินคดีก็ตกไปตามคำพิพากษาฎีกาที่ 477/2514 ที่กล่าว และไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นของโจทก์ของโจทก์ร่วม และของจำเลยต่อไป พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องโจทก์ร่วมด้วย
โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกาว่าโจทก์มีอำนาจฟ้อง เพราะอย่างไรก็ตามโจทก์ก็ยังเป็นบิดาตามธรรมชาติของผู้ตาย และโจทก์ร่วมก็มีอำนาจฟ้องด้วย เพราะโจทก์ร่วมมีสิทธิฟ้องเป็นคดีเรื่องใหม่เองได้ ที่ร้องสอดเข้ามาก็เพียงแต่อาศัยฟ้องของโจทก์ มิได้เข้ามาใช้สิทธินอกเหนือจากคำฟ้องเดิมแต่อย่างใด
ศาลฎีกาเห็นว่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1535ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น บุตรชอบด้วยกฎหมายเท่านั้นมีหน้าที่ตามกฎหมายจำต้องอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา ผู้ตายไม่ใช่บุตรชอบด้วยกฎหมายของโจทก์การตายของผู้ตายจึงไม่ทำให้โจทก์ต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมาย โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดไร้อุปการะจากผู้ตาย ส่วนค่าปลงศพ และค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นนั้นเห็นว่าเฉพาะแต่บุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1649 เท่านั้นที่มีหน้าที่จัดการทำศพ โจทก์ไม่ใช่ทายาทของผู้ตายเพราะไม่ได้เป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าใช้จ่ายในการปลงศพเช่นเดียวกัน ตามนัยแห่งคำพิพากษาฎีกาที่ 477/2514 ระหว่างนายประนอม ศรศุปต์ โจทก์ นางเครือวัลย์ ศรศุปต์ โจทก์ร่วม นายฉัตร ศรีพยัคฆ์ กับพวก จำเลย
เมื่อโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องแล้ว นางเอี้ยงหงษ์ หรือเอี่ยมหงษ์ ซึ่งเป็นมารดาของผู้ตายจะร้องขอเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมได้หรือไม่ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า ถึงแม้โจทก์ร่วมจะได้บรรยายมาในคำร้องว่าผู้ร้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียมีความประสงค์เข้ามาเป็นโจทก์ร่วม โดยถือเอาคำฟ้องและหลักฐานต่าง ๆ ของโจทก์เป็นของผู้ร้องก็ตาม เมื่อฟังว่านางเอี่ยมหงษ์ผู้ร้องเป็นมารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายซึ่งย่อมมีสิทธิที่จะฟ้องจำเลยผู้กระทำละเมิดทำให้บุตรของตนตายได้โดยตรงอยู่แล้ว ดังนี้ คำร้องของผู้ร้องพอจะแปลได้ว่าเป็นการร้องขอเพื่อยังให้ได้รับความรับรอง คุ้มครองหรือบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 57(1) นั่นเอง ทั้งนี้โดยอาศัยคำฟ้องของโจทก์เป็นของผู้ร้อง ประกอบทั้งท้ายคำร้องผู้ร้องก็ได้ระบุบทมาตราที่ร้องขอเข้ามาด้วยคือมาตรา 57(1)ผู้ร้องจึงเข้ามาในคดีได้ตามคำร้อง
การที่จำเลยได้ถือสิทธิครอบครองใช้แพที่เกิดเหตุซึ่งเดิมใช้สำหรับผู้โดยสารเรือเล็กที่รับส่งข้ามฟากหรือไปมาระยะใกล้เป็นครั้งคราวมาใช้สำหรับรับส่งคนโดยสารเรือด่วนของจำเลยเป็นประจำ วันเกิดเหตุผู้โดยสารเพิ่มมากขึ้นแพโป๊ะทานน้ำหนักไม่ได้เกิดแตกล่ม จำเลยมีส่วนจะต้องรับผิดในความประมาทเลินเล่อที่มิได้ระมัดระวังป้องกัน ตรวจสภาพ ปรับปรุงซ่อมแซม ท่าเทียบเรือให้แข็งแรงคงทนเหมาะสมกับกิจการของจำเลยจำเลยจึงไม่อาจปฏิเสธความรับผิดได้
สำหรับเรื่องค่าขาดไร้อุปการะนั้น เห็นว่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1535 ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะทำละเมิด บัญญัติว่า “บุตรจำต้องอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา” กฎหมายมีดังนี้จึงถือได้ว่าการที่นายสุเทพตายลงย่อมทำให้โจทก์ร่วมผู้เป็นมารดาต้องขาดไร้อุปการะจากผู้ตายตามกฎหมาย ทั้งนี้โดยไม่ต้องพิจารณาถึงว่าผู้ตายจะได้อุปการะเลี้ยงดูโจทก์ร่วมจริงหรือไม่

สำหรับค่าทำศพและค่าใช้จ่ายอื่นจะต้องพิจารณาตามสมควรตามความจำเป็นและตามฐานะของผู้ตายและบิดามารดา ทั้งต้องพิจารณาถึงประเพณีการทำศพตามลัทธินิยมประกอบด้วยและต้องไม่ใช่รายการฟุ่มเฟือยเกินไป ซึ่งศาลชั้นต้นกำหนดมาเหมาะสมดีแล้ว

พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ร่วมรวมเป็นเงิน60,000 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้นี้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share