แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ข้อตกลงเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่ระบุไว้ในหนังสือสัญญากู้เงินที่โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี หมายความว่าไม่ว่าจำเลยจะผิดนัดชำระหนี้หรือไม่ก็ตาม โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยเอาจากจำเลยในอัตราดังกล่าวตามสัญญาได้ดังนี้จึงไม่ใช่เบี้ยปรับ แม้ทางปฏิบัติโจทก์จะผ่อนผันให้โดยคิดดอกเบี้ยไม่ถึงร้อยละ 19 ต่อปี โดยเริ่มแรกคิดเพียงร้อยละ 12.25 ต่อปีและต่อมาปรับเพิ่มขึ้นจนถึงร้อยละ 19 ต่อปี ก็ไม่ทำให้อัตราดอกเบี้ยในส่วนนี้กลายเป็นเบี้ยปรับแต่อย่างใด
ส่วนข้อตกลงกรณีผู้กู้ผิดนัดไม่ชำระเงินกู้ตามกำหนดงวดใดงวดหนึ่งผู้กู้ยินยอมให้ผู้ให้กู้เพิ่มอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าที่กำหนดเมื่อใดก็ได้นั้น หมายถึงกรณีผู้กู้ผิดนัดไม่ชำระหนี้แล้วผู้ให้กู้เพิ่มอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นมากกว่าร้อยละ19 ต่อปี ดอกเบี้ยส่วนที่เกินกว่าร้อยละ 19 ต่อปีเท่านั้นที่เป็นเบี้ยปรับ ซึ่งถ้าศาลเห็นว่าสูงเกินส่วน ศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ แต่จะลดลงเหลือน้อยกว่าร้อยละ 19 ต่อปีไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2539 จำเลยทำสัญญากู้เงินจากโจทก์ โดยจดทะเบียนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันการชำระหนี้ ต่อมาจำเลยผิดนัดชำระหนี้ โจทก์มีหนังสือทวงถามและบอกกล่าวบังคับจำนองแล้ว ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินแก่โจทก์เป็นต้นเงินและดอกเบี้ยเมื่อคำนวณถึงวันฟ้องเป็นเงิน 306,759.48 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปีของต้นเงิน 249,976.59 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์หากได้เงินไม่พอชำระให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 260,331.88 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 16 ต่อปีของต้นเงิน 249,976.59 บาท นับแต่วันที่ 17 กรกฎาคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์หากไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 49633 ตำบลบางปลากด อำเภอองครักษ์จังหวัดนครนายกพร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระ ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า ข้อตกลงเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่ระบุไว้ในสัญญากู้เงินเป็นเบี้ยปรับหรือไม่ เห็นว่า เบี้ยปรับคือสัญญาที่ลูกหนี้ให้ไว้แก่เจ้าหนี้ว่าจะใช้เงินจำนวนหนึ่งเป็นเบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชำระหนี้หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควร แต่หนังสือสัญญากู้เงินข้อ 1 มีใจความชัดเจนว่าผู้กู้ยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี และหนังสือสัญญาจำนองและข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองก็มีใจความว่า ผู้จำนองตกลงให้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปีเช่นกัน จากข้อสัญญาดังกล่าวไม่ว่าจำเลยจะผิดนัดชำระหนี้หรือไม่ก็ตาม โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยเอาจากจำเลยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปีตามสัญญาได้อยู่แล้ว ข้อตกลงเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่ระบุไว้ในหนังสือสัญญากู้เงินข้อ 1 ที่ให้โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี จึงไม่ใช่เบี้ยปรับ แม้ทางปฏิบัติโจทก์จะผ่อนผันให้โดยคิดดอกเบี้ยไม่ถึงร้อยละ 19 ต่อปี กล่าวคือเริ่มแรกคิดดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 12.25 ต่อปี และต่อมาโจทก์ได้ปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจนถึงร้อยละ 19 ต่อปี ก็ไม่ทำให้อัตราดอกเบี้ยในส่วนนี้ซึ่งไม่ใช่เบี้ยปรับกลายเป็นเบี้ยปรับแต่อย่างใด ส่วนข้อตกลงตามสัญญากู้เงินข้อ 3 ที่มีใจความว่า หากผู้กู้ผิดนัดไม่ชำระหนี้เงินกู้ตามที่กำหนดไว้ในข้อ 2 ไม่ว่างวดใดงวดหนึ่ง ผู้กู้ยินยอมให้ผู้ให้กู้เพิ่มอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าที่กำหนดในข้อ 1 เมื่อใดก็ได้นั้น หมายถึงกรณีผู้กู้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ที่ต้องชำระเป็นรายเดือนแล้วผู้ให้กู้เพิ่มอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นมากกว่าร้อยละ 19 ต่อปี ดอกเบี้ยส่วนที่เกินกว่าร้อยละ 19 ต่อปีเท่านั้น ที่เป็นเบี้ยปรับซึ่งถ้าศาลเห็นว่าดอกเบี้ยส่วนที่เกินกว่าร้อยละ 19 ต่อปีสูงเกินส่วน ศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ แต่จะลดลงเหลือน้อยกว่าร้อยละ 19 ต่อปีไม่ได้ ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นลดอัตราดอกเบี้ยจากร้อยละ 19 ต่อปีลงเหลือร้อยละ 16 ต่อปี โดยอ้างว่าเป็นเบี้ยปรับที่สูงเกินส่วน จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 306,759.48 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปีของต้นเงิน 249,976.59 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น