คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4805/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อความในเอกสารระบุไว้ว่าขอทำพินัยกรรม ถือได้ว่าเป็นการกำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สิน เอกสารดังกล่าวจึงเป็นพินัยกรรม เมื่อต้นฉบับพินัยกรรมหาย คู่ความนำสำเนาที่ถูกต้องมาสืบได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93(2) ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับให้ลงชื่อผู้เขียนพินัยกรรมลงในพินัยกรรม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นบุตรชายคนเดียวของนางมีเด๊าะ ซึ่งสมรสกับนายจรูญโดยมิได้จดทะเบียนสมรส นางมีเด๊าะมีมารดาชื่อนางเย๊าะส่วนบิดาตายไปก่อนแล้ว นางมีเด๊าะมีกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินเลขที่ 163ตำบลแสนแสบ อำเภอมีนบุรี กรุงเทพมหานคร ร่วมกับผู้อื่น เฉพาะส่วนของนางมีเด๊าะมีเนื้อที่ 17 ไร่เศษ วันที่ 5 กันยายน 2509 นางมีเด๊าะถึงแก่ความตายมีจำเลยและนางเย๊าะเป็นทายาท วันที่ 20 กุมภาพันธ์2510 นางเย๊าะถึงแก่ความตาย โจทก์ทั้งสองเป็นทายาทนางเย๊าะต่อมาวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2523 จำเลยขอรับมรดกของนางมีเด๊าะแต่ผู้เดียวโดยปกปิดทายาทในการทำบัญชีเครือญาติ เจ้าพนักงานที่ดินลงชื่อจำเลยในโฉนดที่ดินดังกล่าว เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองขาดรายได้จากที่ดินส่วนของโจทก์ปีละ 10,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยให้ยอมให้โจทก์ทั้งสองชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าว ถ้าไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาห้ามจำเลยก่อภาระผูกพันในที่พิพาท และให้ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ปีละ 10,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะแบ่งกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า นางมีเด๊าะทำพินัยกรรมยกที่ดินแปลงพิพาทเนื้อที่ประมาณ 17 ไร่เศษให้แก่จำเลย และยังตั้งผู้ปกครองทรัพย์ให้คอยดูแลรักษาที่พิพาทถึง 3 คน เมื่อจำเลยบรรลุนิติภาวะแล้ว ได้ไปขอรับมรดกที่ดินดังกล่าว โจทก์ทราบดีและมิได้คัดค้าน โจทก์ทั้งสองไม่ได้รับความเสียหายเพราะไม่มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งที่พิพาท คดีขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า นางมีเด๊าะได้ทำพินัยกรรมยกที่พิพาทให้จำเลย โดยไม่ต้องวินิจฉัยในประเด็นข้ออื่น พิพากษายกฟ้อง

โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า ปัญหาในชั้นฎีกาว่าเอกสารหมาย ล.1 เป็นพินัยกรรมหรือไม่ เห็นว่าข้อความในเอกสารดังกล่าวได้ระบุไว้ชัดว่าขอทำพินัยกรรม จึงถือได้ว่าเป็นการกำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินตามความเข้าใจของสามัญชน และเอกสารไม่มีข้อความที่มุ่งแสดงไปในทางที่เห็นไปได้ว่า เจ้ามรดกจะยกทรัพย์สินให้ขณะมีชีวิตอยู่ เหตุนี้เอกสารหมาย ล.1 จึงเป็นพินัยกรรม ส่วนปัญหาข้อที่ว่าจำเลยไม่เอาต้นฉบับพินัยกรรมมาสืบจะรับฟังสำเนาพินัยกรรมได้หรือไม่นั้น เห็นว่าเมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่าต้นฉบับพินัยกรรมได้หายไปจริงคู่ความก็นำสำเนาที่ถูกต้องมาสืบได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93(2) ส่วนปัญหาที่ว่าจะต้องระบุชื่อผู้เขียนในพินัยกรรมหรือไม่ เห็นว่าไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับว่าจะต้องลงชื่อผู้เขียนพินัยกรรมไว้ในพินัยกรรมด้วย

พิพากษายืน

Share