แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลแขวงในความผิดฐานยักยอก และมีคำขอในส่วนแพ่งให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์เกินกว่า 10,000 บาทแก่ผู้เสียหายได้ เมื่อผู้เสียหายเข้าเป็นโจทก์ร่วม โจทก์ร่วมไม่อาจถือเอาคำขอในส่วนแพ่งของพนักงานอัยการเป็นคำขอของตนได้ เพราะหากผู้เสียหายเป็นโจทก์ฟ้องคดีเองแล้วย่อมไม่มีสิทธิยื่นคำขอในส่วนแพ่งอันมีทุนทรัพย์เกินกว่า 10,000 บาท ต่อศาลแขวงได้เนื่องจากเกินอำนาจศาลแขวงที่จะพิจารณาพิพากษา และเมื่อโจทก์ร่วมอุทธรณ์ฝ่ายเดียวย่อมไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาที่จะให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ และศาลอุทธรณ์ก็ไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคำขอในส่วนนี้ด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352, 353กับให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 320,000 บาท แก่ผู้เสียหายด้วย
จำเลยให้การรับสารภาพ
ระหว่างพิจารณา นางสงบ อมรศักดิ์ ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้อง จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 3 เดือน ปรับ 1,000 บาท โทษจำคุกให้รอไว้มีกำหนด1 ปี
โจทก์ร่วมอุทธรณ์ ขอให้ไม่ลดโทษ ไม่รอการลงโทษและให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 320,000 บาท แก่ผู้เสียหายทั้งสี่
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ปรับและไม่รอการลงโทษ ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์จำนวน 80,000 บาทแก่โจทก์ร่วม
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยกับโจทก์ร่วมและผู้เสียหายเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน การที่ศาลอุทธรณ์มิได้ลงโทษจำเลยให้น้อยลงจึงเป็นการมิชอบ เห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 71 วรรคสอง เป็นบทบัญญัติที่ให้อำนาจศาลในการใช้ดุลพินิจลงโทษผู้กระทำผิดให้น้อยกว่าโทษที่กฎหมายกำหนดไว้เพียงใดก็ได้ฎีกาของจำเลยดังกล่าวเท่ากับเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการกำหนดโทษของศาลอุทธรณ์จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219 รับวินิจฉัยให้ไม่ได้
ที่จำเลยฎีกาว่า คดีนี้โจทก์ร่วมอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นแต่ผู้เดียวโดยพนักงานอัยการโจทก์มิได้อุทธรณ์ด้วย การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 80,000 บาทแก่โจทก์ร่วม จึงเป็นการมิชอบ เห็นว่า ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 15 ประกอบมาตรา 22(4) บัญญัติให้ศาลแขวงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งที่มีทุนทรัพย์ไม่เกิน 10,000 บาท แต่ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาต่อศาลแขวง และมีคำขอให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์แก่ผู้เสียหายนั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43 ได้บัญญัติให้อำนาจพนักงานอัยการที่จะร้องขอต่อศาลให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์แทนผู้เสียหายในความผิดลักษณะต่าง ๆ ตามที่ระบุไว้ และมาตรา 44 บัญญัติให้ยื่นคำขอรวมไปกับคดีอาญาหรือจะยื่นคำร้องในระยะใดระหว่างที่คดีอาญากำลังพิจารณาอยู่ในศาลชั้นต้นก็ได้ คำพิพากษาในส่วนเรียกทรัพย์สินหรือราคาให้รวมเป็นส่วนหนึ่งแห่งคำพิพากษาในคดีอาญา ดังนั้นในคดีอาญาที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ แม้จะมีคำขอให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์เป็นจำนวนมากมายเพียงใด ศาลแขวงก็มีอำนาจที่จะพิจารณาพิพากษาได้ ส่วนในคดีอาญาที่ผู้เสียหายเป็นโจทก์ฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาต่อศาลแขวงนั้น จะต้องพิจารณาถึงราคาทรัพย์สินที่จะให้จำเลยชดใช้ว่ามีทุนทรัพย์มากน้อยเพียงใด หากมีราคาไม่เกิน 10,000 บาท คดีย่อมอยู่ในอำนาจศาลแขวงที่จะพิจารณาพิพากษา แต่ถ้าราคาทรัพย์สินที่เรียกร้องมีจำนวนเกิน 10,000 บาทแล้ว ศาลแขวงก็ไม่มีอำนาจที่จะพิจารณาพิพากษาในส่วนแพ่งเพราะประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43 และ 44บัญญัติให้อำนาจไว้เป็นพิเศษเฉพาะคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์เท่านั้น คดีนี้พนักงานอัยการฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาต่อศาลแขวงนครสวรรค์ ในความผิดฐานยักยอก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352, 353 และมีคำขอให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 320,000 บาท แก่ผู้เสียหายรวม 4 คน การที่ผู้เสียหายคนหนึ่งยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ถือได้ว่าคำขอในส่วนแพ่งของโจทก์ร่วมที่ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคามีทุนทรัพย์เกินกว่า 10,000 บาท จึงเป็นคดีที่เกินอำนาจศาลแขวงจะพิจารณาพิพากษา เพราะหากผู้เสียหายเป็นโจทก์ฟ้องคดีเองแล้วย่อมไม่มีสิทธิยื่นคำขอในส่วนแพ่งอันมีทุนทรัพย์เกินกว่า 10,000 บาท ต่อศาลแขวงได้ดังนั้นโจทก์ร่วมจึงไม่อาจถือเอาคำขอให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ตามคำฟ้องของพนักงานอัยการเป็นคำขอของตนได้ โจทก์ร่วมย่อมไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่จะให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ และศาลอุทธรณ์ก็ไม่มีอำนาจที่จะพิจารณาพิพากษาคำขอในส่วนนี้ เพราะพนักงานอัยการโจทก์มิได้อุทธรณ์ด้วย การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์แก่โจทก์ร่วม จึงเป็นการมิชอบ
ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษซึ่งเป็นปัญหาข้อเท็จจริงนั้นเห็นว่าคดีที่ฎีกาได้แต่เฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย เมื่อพฤติการณ์เท่าที่ปรากฏและโทษที่ศาลอุทธรณ์กำหนดยังไม่เหมาะสมแก่รูปคดี ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจเปลี่ยนแปลงดุลพินิจในการวางโทษให้เหมาะสมได้ เฉพาะคดีนี้ถ้าจะรอการลงโทษให้แก่จำเลยไว้ก็ย่อมจะเป็นเครื่องเหนี่ยวรั้งให้จำเลยระมัดระวังการกระทำของตนซึ่งน่าจะเป็นผลดีแก่สังคมมากกว่าที่จะลงโทษจำคุกไปทีเดียว จำเลยไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนประกอบกับมีอายุมากถึง 60 ปีเศษ อีกทั้งเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับโจทก์ร่วมและผู้เสียหายตามพฤติการณ์และรูปคดีสมควรที่จะรอการลงโทษแก่จำเลยเพื่อให้โอกาสประพฤติตนเป็นพลเมืองดีต่อไป
พิพากษาแก้เป็นว่า โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ให้ยกคำขอที่ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 80,000 บาทแก่โจทก์ร่วม แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ร่วมที่จะยื่นฟ้องคดีในส่วนแพ่งต่อศาลที่มีอำนาจต่อไป