แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์บรรยายฟ้องมาว่าได้สอบสวนแล้วย่อมสันนิษฐานได้ว่าเป็นการสอบสวนที่ชอบด้วยกฎหมาย ถ้าจำเลยไม่คัดค้านโดยเสนอเป็นข้อต่อสู้ไว้ ถือว่าไม่มีข้อโต้เถียงกัน หากตามสำนวนไม่มีข้อเท็จจริงที่แสดงว่าการสอบสวนนั้นไม่ชอบ จำเลยเพิ่งมาคัดค้านขึ้นในชั้นอุทธรณ์ฎีกาแล้ว ย่อมไม่มีเหตุที่จะวินิจฉัยให้
เงินอากรค่าใบอนุญาตฆ่าสัตว์ โค กระบือ ซึ่งเป็นรายได้ขององค์การบริหารส่วนจังหวัด เมื่อราษฎรนำมาชำระ และจำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่รับมอบไว้แล้ว หากจำเลยเบียดบังเอาเป็นของตนก็เป็นการเบียดบังเอาเงินของรัฐไม่ใช่เบียดบังเอาเงินของราษฎรรัฐบาลเป็นผู้เสียหายโดยตรง พนักงานอัยการจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้แม้ราษฎรผู้ชำระเงินจะมิได้ร้องทุกข์
ผู้ว่าราชการจังหวัดได้มีคำสั่งแต่งตั้งให้นายอำเภอในจังหวัดทุกอำเภอเป็นเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับรายได้ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดและให้เจ้าหน้าที่สรรพากรอำเภอทุกคนเป็นผู้ช่วยนายอำเภอของตนเมื่อจำเลยซึ่งเป็นเสมียนแผนกสรรพากรทราบคำสั่งผู้ว่าราชการจังหวัดและรับมอบหมายเรื่องนี้มาแล้ว ถือได้ว่าจำเลยเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ปฏิบัติราชการในเรื่องนี้แล้ว เพราะฐานะของเจ้าพนักงานเกิดจากการรับหน้าที่ตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาได้
ย่อยาว
คดีสองสำนวนนี้ศาลพิจารณาพิพากษารวมกัน สำนวนแรกโจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เป็นสมุห์บัญชีอำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดเก็บรักษาลงบัญชี และนำเงินอากรการฆ่าสัตว์และผลประโยชน์อื่น เนื่องในการฆ่าสัตว์ในและนอกเขตสุขาภิบาลซึ่งเป็นรายได้ขององค์การบริหารส่วนจังหวัด จำเลยที่ 2 เป็นเสมียนแผนกสรรพากรอำเภอพร้าว มีหน้าที่ช่วยเหลือในหน้าที่ราชการของจำเลยที่ 1 จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยเจตนาทุจริต โดยได้รับเงินค่าใบอนุญาตฆ่าสัตว์ โค กระบือ สุกร ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดไว้จากประชาชนแล้วนำส่งไม่ครบจำนวน เหลืออยู่ 27,493 บาท จำเลยได้เบียดบังยักยอกเอาเป็นประโยชน์ส่วนตัวหรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาเงินจำนวนดังกล่าวไป อันเป็นการกระทำที่น่าจะเกิดการเสียหายแก่ประชาชน ผู้เสียหายร้องทุกข์แล้ว ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 151, 157, 352, 353, 354, 83 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2502 มาตรา 3, 7, 13 ให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน 27,493 บาทให้ผู้เสียหาย และนับโทษต่อจากคดีอาญาดำที่ 471/2506 ของศาลชั้นต้นที่จำเลยทั้งสองเป็นจำเลยคน ๆ เดียวกันด้วย
สำนวนหลังโจทก์ฟ้องว่า จำเลยร่วมกันใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยทุจริตขีดฆ่าจำนวนเงินอันแท้จริงในท่อนปลายของใบเสร็จรับเงินภาษีบำรุงท้องที่ ซึ่งเรียกเก็บจากราษฎรอำเภอพร้าวประจำปี 2503อันเป็นเอกสารของราชการที่จำเลยมีหน้าที่ทำ กรอกข้อความ ดูแลแล้วแก้จำนวนเงินใหม่แทนให้สูงกว่าจำนวนที่แท้จริง นำไปเรียกเก็บจากราษฎร แล้วทุจริตเอาเงินจำนวนที่เกินกว่าราษฎรควรจะต้องชำระที่จำเลยได้รับมานั้นเป็นประโยชน์ส่วนตัวเสีย ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 151, 157, 161, 264, 265, 268352, 353, 354, 83 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาพ.ศ. 2502 มาตรา 3, 7, 13 ให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน 8,022.10 บาทแก่ผู้เสียหาย และนับโทษจำเลยต่อจากคดีอาญาดำที่ 467/2506ของศาลชั้นต้น
จำเลยต่างให้การปฏิเสธ เฉพาะจำเลยที่ 2 รับว่ารับราชการในตำแหน่งเสมียนแผนกสรรพากรอำเภอพร้าว มีหน้าที่ช่วยเหลือราชการจำเลยที่ 1 และปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 ที่สั่งและมอบหมายให้ทำ และว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ความผิดตามมาตรา 352, 353, 354ขาดอายุความแล้ว
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วสำนวนแรกเห็นว่า ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุมความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352, 353, 354 ผู้เสียหายไม่ได้ร้องทุกข์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยทั้งสองเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ทำจัดการ รักษาทรัพย์ ได้ร่วมกันเบียดบังยักยอกเอาเงินอากรฆ่าสัตว์ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดไป 7,773 บาท และจำเลยที่ 2 ผู้เดียวยักยอกไปอีก 146 บาทด้วย พิพากษาว่าจำเลยทั้งสองผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 ที่แก้ไขแล้วจำคุกคนละ 6 ปี ให้จำเลยร่วมกันคืนหรือใช้เงิน 7,773 บาท และเฉพาะจำเลยที่ 2 ให้คืนหรือใช้อีก 146 บาทแก่องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ด้วย คำขออื่น ๆ ให้ยก
สำนวนหลังพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 161, 264, 265, 266,83 มาตรา 157 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2502 มาตรา 13 ให้ลงโทษตามมาตรา 157 ที่แก้ไขแล้ว ซึ่งเป็นบทหนักตามมาตรา 90 จำคุกไว้คนละ 2 ปี เฉพาะจำเลยที่ 2 ผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 ที่แก้ไขแล้วด้วยให้จำคุก 6 ปี เป็นโทษจำคุกจำเลยที่ 2 แปดปี จำเลยที่ 1 สองปี มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้จำเลยที่ 2 หนึ่งในสามตามมาตรา 78 ประมวลกฎหมายอาญาแล้ว คงจำคุกจำเลยที่ 2 ไว้ 5 ปี 4 เดือน นับโทษจำเลยทั้งสองต่อกับคดีอาญาแดงที่ 1391/2509 ของศาลจังหวัดเชียงใหม่ คำขอนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ทั้งสองสำนวน
ศาลอุทธรณ์เห็นว่าสำนวนแรก จำเลยที่ 2 ผู้เดียวทุจริตยักยอกคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 ฟังไม่ได้ว่ากระทำผิด ส่วนสำนวนหลังฟังว่าจำเลยทั้งสองกระทำผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 161 และมาตรา 157 ที่แก้ไขแล้ว พิพากษาแก้เป็นว่า ในสำนวนแรกให้ยกฟ้องคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 ส่วนสำนวนหลังให้ยกฟ้องข้อที่ศาลชั้นต้นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 265, 266 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาเฉพาะสำนวนแรก ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ตามศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกาทั้งสองสำนวน ขอให้ยกฟ้อง
ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 เป็นอันระงับ คงมีปัญหาที่ต้องพิจารณาต่อมาเฉพาะตามฎีกาของจำเลยที่ 2 เท่านั้น
ศาลฎีกาปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงทั้งสองสำนวนฟังได้เป็นยุติว่าจำเลยที่ 2 รับราชการเป็นเสมียนสรรพากรอำเภอพร้าว และอยู่ใต้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 ผู้เป็นสมุห์บัญชี โดยมีหน้าที่เก็บเงินภาษีอากรประเภทต่าง ๆ ในเขตอำเภอพร้าว แล้วนำส่งเป็นรายได้ของรัฐและขององค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ และทั้งมีหน้าที่ช่วยเหลือราชการจำเลยที่ 1 ที่สั่งและมอบหมายให้ทำ
ข้อ 1 จำเลยฎีกาว่า คดีทั้งสองสำนวนนี้ไม่ได้มีการสอบสวนโดยพนักงานสอบสวนอำเภอพร้าว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยนั้นพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีนี้เป็นความผิดต่ออาญาแผ่นดิน พนักงานอัยการโจทก์บรรยายฟ้องมาแล้วว่าได้สอบสวนแล้ว ย่อมสันนิษฐานได้ว่าเป็นการสอบสวนที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว หากจำเลยคัดค้านก็ทำได้โดยเสนอเป็นข้อต่อสู้ไว้ ถ้าจำเลยไม่ต่อสู้ไว้ ก็ถือว่าไม่มีข้อโต้เถียงกัน หากตามสำนวนไม่มีข้อเท็จจริงที่แสดงว่าการสอบสวนนั้นไม่ชอบ จำเลยเพิ่งมาคัดค้านขึ้นในชั้นอุทธรณ์และฎีกา ย่อมไม่มีเหตุที่จะวินิจฉัยให้
ข้อ 2 จำเลยฎีกาว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมทั้งสองสำนวนนั้นวินิจฉัยว่าอ่านคำฟ้องโดยตลอดแล้ว มีข้อความพอจะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี ย่อมเป็นฟ้องที่สมบูรณ์ตามกฎหมาย
ข้อ 3 ฎีกาว่า ราษฎรที่ชำระเงินค่าใบอนุญาตฆ่าสัตว์ โค กระบือสุกร ให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดเป็นผู้เสียหาย แต่ราษฎรไม่ร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดี โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยเห็นว่าตามฟ้องโจทก์แสดงว่าเงินที่จำเลยรับมอบมานั้นเป็นเงินของรัฐบาลที่ราษฎรนำมาเสียให้รัฐ หากจำเลยเบียดบังเอาเงินของรัฐ ไม่ใช่เบียดบังเอาเงินของราษฎรดังที่จำเลยเข้าใจ รัฐบาลเป็นผู้เสียหายโดยตรง พนักงานอัยการจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้
ปัญหาที่ว่า งานเก็บค่าใบอนุญาตฆ่าสัตว์ไม่ใช่เป็นราชการในหน้าที่ของจำเลยโดยตรง ทั้งไม่ปรากฏชัดว่าจำเลยเก็บเงินเกินตามบัญชีท้ายฟ้องในปัญหาดังกล่าวนี้โจทก์มีพยานเอกสารเป็นหนังสือราชการตลอดจนสมุดบัญชีของราชการมาสืบได้ความว่า มีพระราชกฤษฎีการายได้จังหวัด (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2501 ให้โอนรายได้จากอากรการฆ่าสัตว์และผลประโยชน์อื่นเนื่องจากการฆ่าสัตว์ในท้องที่นอกเขตเทศบาล และนอกเขตสุขาภิบาล ซึ่งเดิมเป็นของรัฐ มาเป็นรายได้ขององค์การบริหารส่วนจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่จึงมีคำสั่งตามเอกสารหมาย จ.3 แต่งตั้งให้นายอำเภอในจังหวัดเชียงใหม่ทุกอำเภอ เป็นเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับรายได้ที่ได้รับเงินมา และให้เจ้าหน้าที่สรรพากรอำเภอทุกคนเป็นผู้ช่วยนายอำเภอของตน ตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2501 ปรากฏตามบัญชีเงินสดของอำเภอพร้าวเกี่ยวกับเงินค่าใบอนุญาตฆ่าสัตว์ พ.ศ. 2502 – 2503 เอกสารหมาย จ.29 จ.30 ว่านายอำเภอพร้าวและจำเลยได้ปฏิบัติราชการเกี่ยวกับรายได้ที่โอนมาตามพระราชกฤษฎีกาเป็นหลักฐานให้เห็นว่าจำเลยทราบคำสั่งผู้ว่าราชการจังหวัดและรับมอบหมายงานเรื่องนี้มาแล้ว จำเลยไม่มีพยานหลักฐานนำสืบหักล้างให้ฟังเป็นอย่างอื่นข้อเท็จจริงและพฤติการณ์เช่นนี้ ถือได้ว่าจำเลยเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ปฏิบัติราชการในเรื่องนี้แล้ว เพราะฐานะของเจ้าพนักงานเกิดจากการรับหน้าที่ตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาก็ได้ ส่วนข้อที่ว่าจำเลยได้กระทำการทุจริตยักยอกเบียดบังเอาเงินค่าใบอนุญาตฆ่าสัตว์ไปดังฟ้องหรือไม่ โจทก์มีพยานบุคคลหลายคน เชื่อได้ว่าพยานโจทก์ได้นำเงินเหล่านั้นส่งให้กับจำเลยที่ 2 แต่ผู้เดียวสำหรับจำนวนเงินที่จำเลยเบียดบังยักยอกเอาไป ก็เชื่อได้ว่าเป็นจำนวนเงิน 12,627 บาทดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมา
สำหรับคดีสำนวนหลังตามพฤติการณ์และเหตุผลของคดีฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ร่วมปลอมแปลงเอกสาร โดยอาศัยโอกาสที่จำเลยมีหน้าที่ร่วมทำการทุจริตในการเก็บภาษีบำรุงท้องที่จริง ดังคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ และจำเลยที่ 2 ทุจริตยักยอกเอาเงินค่าภาษีเงินได้ ภาษีการค้า ภาษีป้ายจากราษฎรผู้นำมาชำระให้ไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวจริง ฎีกาของจำเลยที่ 2 ไม่มีทางเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
พิพากษายืน