แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่บุคคลหลายคนร่วมกันมาปล้นทรัพย์บ้านใกล้เคียงกันแม้จะแยกกันเข้าทำการในหลายบ้าน แต่ละบ้านมีจำนวนไม่ถึง 3 คน อันจะเป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์ก็ตามก็ถือว่าการกระทำทั้งหมดเป็นกรรมเดียวกัน แต่ละคนย่อมมีความผิดฐานปล้นทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 390 ประกอบด้วยมาตรา 83แต่เมื่อคนหนึ่งในจำนวนนั้นไปข่มขืนกระทำชำเราเจ้าทรัพย์ด้วยอันไม่อยู่ในเจตนาของการร่วมกันมา ย่อมเป็นความผิดอีกกรรมหนึ่งต่างหากตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 ซึ่งศาลอาจเรียงกระทงลงโทษได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ในกรณีที่โจทก์ฟ้องรวมกระทงกันมา
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องมีใจความว่า เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2511 เวลากลางคืนจำเลยทั้งหกนี้กับพวกที่ยังหลบหนีอยู่อีก 1 คน ได้ร่วมกันมีปืนและมีดพกเป็นอาวุธเข้าทำการปล้นบ้าน 5 หลังคาเรือนซึ่งอยู่ใกล้เคียงกัน ในเวลาเดียวกันจำเลยที่ 5 กับพวกอีกคนหนึ่งแยกเข้าทำการที่บ้านผู้เสียหายที่ชื่อนางแต่ง สาวน้อย และจำเลยที่ 5 เพียงคนเดียวได้ข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายจนสำเร็จความใคร่ไป 1 ครั้ง ในระหว่างที่ทำการปล้นทรัพย์นั้น จำเลยคนหนึ่งได้ใช้ปืนยิงเจ้าทรัพย์แต่ไม่ถึงแก่ความตาย โจทก์จึงฟ้องจำเลยต่อศาลจังหวัดปราจีนบุรีที่เหตุเกิดในเขต ขอให้ลงโทษจำเลยฐานปล้นทรัพย์ พยายามฆ่า ข่มขืนกระทำชำเรา และขอให้เพิ่มโทษจำเลยบางคนด้วยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340, 83, 288, 80, 276, 93
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลจังหวัดปราจีนบุรีพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 มีความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าด้วยบทหนึ่ง จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 มีความผิดฐานร่วมกันปล้นทรัพย์ เฉพาะจำเลยที่ 5 มีความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 276 อีกบทหนึ่งลงโทษจำเลยตามฟ้อง เฉพาะจำเลยที่ 5 ลงโทษฐานปล้นทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 ซึ่งเป็นบทหนัก โดยถือว่าเป็นความผิดกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 4 และ 6
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 4 และที่ 6 ด้วย
จำเลยที่ 5 อุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 5 ฎีกาต่อมาในปัญหาข้อเท็จจริงว่า ไม่ได้กระทำผิดและในปัญหาข้อกฎหมายว่า ถึงแม้ศาลจะฟังว่าจำเลยกระทำผิด ก็เป็นเพียงความผิดฐานชิงทรัพย์ เพราะตามพยานหลักฐานโจทก์แสดงว่าจำเลยที่ 5 เข้ากระทำการกับพวกอีก 1 คนเท่านั้น
ศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่าจำเลยที่ 5 ได้ร่วมกับพวกกระทำความผิด ทั้งฐานปล้นทรัพย์และฐานข่มขืนกระทำชำเรา สำหรับปัญหาข้อกฎหมายที่จำเลยต่อสู้ขึ้นมานั้น ศาลฎีกาเห็นว่าตามข้อเท็จจริงจำเลยกับพวกได้ร่วมกันมาแต่ต้นเพื่อปล้นทรัพย์ในคดีนี้แล้วแยกย้ายกันเข้าทำการปล้นในเวลาเดียวกันและใกล้เคียงกัน จึงเป็นการร่วมกันกระทำในความผิดอันเดียวกัน เป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 ประกอบด้วยมาตรา 83 ทั่วทุกคนและวินิจฉัยต่อไปว่า การที่จำเลยที่ 5 ได้ข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายด้วย ย่อมเป็นความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 อีกกรรมหนึ่งต่างหาก จำเลยที่ 5 มีความผิดสองกรรมต่างกัน ซึ่งศาลอาจลงโทษเรียงกระทงความผิดหรือลงเฉพาะกระทงที่หนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จึงแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เฉพาะเรื่องวางบทกำหนดโทษ สำหรับจำเลยที่ 5 ว่ามีความผิดสองกระทง ให้ลงโทษตามมาตรา 340 วรรค 4 แห่งประมวลกฎหมายอาญาซึ่งเป็นกระทงที่หนักที่สุด
ยกฎีกาจำเลยที่ 5