คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1257/2514

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลกำหนดวันชี้สองสถานให้คู่ความทราบวันนัดแล้ว ครั้นถึงกำหนดวันนัด โจทก์ไม่มาศาล เช่นนี้ กรณียังถือไม่ได้ว่าโจทก์ทิ้งฟ้อง

ย่อยาว

คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำสัญญากู้เงินจากโจทก์ และได้รับเงินไปแล้วครั้นถึงกำหนด จำเลยไม่ชำระเงินต้นและดอกเบี้ย โจทก์จึงฟ้องขอให้บังคับจำเลยใช้เงินต้นพร้อมด้วยดอกเบี้ย

จำเลยให้การว่า เดิมจำเลยเคยกู้เงินจากโจทก์จำนวนหนึ่ง โดยจำเลยเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราคิดดอกเบี้ยร้อยละ 10 ต่อเดือน จำเลยไม่ได้ชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้โจทก์ โจทก์จึงเอาดอกเบี้ยและต้นเงินดังกล่าวมารวมทำสัญญากู้ฉบับนี้ขึ้น และที่จำเลยลงชื่อในสัญญากู้ก็เพราะโจทก์หลอกลวงข่มขู่หาว่าจำเลยฉ้อโกงในการกู้เงินจำนวนที่กู้เดิม จำเลยกลัวจึงลงลายมือชื่อให้ สัญญากู้จึงไม่สมบูรณ์ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นรับคำให้การของจำเลยไว้ ส่งสำเนาคำให้การให้โจทก์และสั่งนัดชี้สองสถานในวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2513 เวลา 8.30 น.ทนายโจทก์ทนายจำเลยได้ลงนามทราบวันนัดโดยถูกต้อง ครั้นถึงวันที่14 ตุลาคม พ.ศ. 2513 เวลา 9.50 น. ศาลออกนั่งพิจารณาเพื่อทำการชี้สองสถาน คงมาแต่จำเลยและทนายจำเลย โจทก์และทนายโจทก์ไม่มาศาล ทนายจำเลยแถลงว่า กรณีเช่นนี้ถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้อง

ศาลชั้นต้นสั่งว่า กรณีถือได้ว่าโจทก์ทิ้งฟ้อง ให้จำหน่ายคดีโจทก์

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า กรณีที่จะถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174(2) นั้น จะต้องเป็นเรื่องที่โจทก์เพิกเฉยไม่ดำเนินคดีตามหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องกระทำ ภายในกำหนดเวลาที่ศาลกำหนด ส่วนการที่ศาลกำหนดวันชี้สองสถานเป็นการดำเนินกระบวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 182, 183 ซึ่งศาลอาจกำหนดให้มีการชี้สองสถานหรือไม่ก็ได้ ถ้าศาลเห็นสมควรให้มีการชี้สองสถาน ก็ให้ส่งกำหนดนัดให้คู่ความทราบล่วงหน้าไม่ต่ำกว่า 3 วันมิได้มีกฎหมายบังคับว่าคู่ความต้องไปศาลในวันนัดชี้สองสถาน เมื่อคู่ความฝ่ายใดไม่ไปศาลในวันนัดชี้สองสถาน ศาลก็อาจดำเนินการชี้สองสถานกำหนดหน้าที่นำสืบและแจ้งวันนัดสืบพยานให้คู่ความทราบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 184 ได้ ฉะนั้น การที่โจทก์ไม่มาศาลในวันนัดชี้สองสถาน จึงถือไม่ได้ว่า โจทก์ทิ้งฟ้อง

พิพากษายืน

Share