แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่หญิงมีสามีทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของผู้อื่นก็ถือว่าทำการที่จะผูกพันสินบริคณห์ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 38 แล้ว ถ้าทำไปโดยมิได้รับอนุญาตของสามี สัญญานั้นย่อมเป็นโมฆียะ เมื่อสามีบอกล้างแล้ว สัญญานั้น.ก็ตกเป็นโมฆะไม่ผูกพันสินบริคณห์ แต่โมฆะกรรมในกรณีเช่นนี้มิได้ทำให้สัญญาที่หญิงมีสามีไปทำไว้นั้นไม่มีผลเสียเลย หญิงนั้นยังคงต้องรับผิดใช้หนี้เป็นส่วนตัว คือให้ใช้ด้วยสินส่วนตัวของหญิงนั้นก่อน เมื่อไม่พอหรือไม่ปรากฏว่าหญิงนั้นมีสินส่วนตัว เจ้าหนี้จะต้องร้องขอต่อศาลให้แยกสินบริคณห์ออกเป็นส่วนของหญิงนั้นตามมาตรา 1483 เพื่อดำเนินการตามคำพิพากษา โจทก์จะยึดสินบริคณห์ก่อนขอแยกไม่ได้
(ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 9-10/2514)
ย่อยาว
เดิม ศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ผู้กู้ และจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันร่วมกันชำระหนี้ให้โจทก์ จำเลยไม่ชำระ โจทก์นำยึดเรือน 1 หลัง อ้างว่าเป็นของจำเลยที่ 2 เพื่อขายทอดตลาดใช้หนี้ ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า จำเลยที่ 2เป็นภริยาของผู้ร้องแต่เรือนนี้เป็นของผู้ร้องปลูกอยู่กับภริยาอีกคนหนึ่ง จำเลยที่ 2 ไม่เคยเกี่ยวข้อง แม้จำเลยที่ 2 เป็นภริยา และทรัพย์พิพาทเกิดขึ้นระหว่างเป็นสามีภริยากับผู้ร้อง แต่จำเลยที่ 2 ไม่มีสินเดิม ผู้ร้องมีสินเดิมฝ่ายเดียว หากเป็นสินบริคณห์ก็เป็นส่วนของจำเลยที่ 2 เพียง1 ใน 3 จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันโดยผู้ร้องไม่รู้เห็นยินยอม และผู้ร้องได้บอกล้างแล้ว นิติกรรมจึงเป็นโมฆะ โจทก์ไม่มีสิทธิยึดทรัพย์รายนี้ แม้จะเป็นสินบริคณห์ที่จำเลยที่ 2 มีส่วนอยู่บ้างก็ตาม ทั้งสัญญาค้ำประกันปิดอากรแสตมป์ไม่ครบ ใช้เป็นพยานหลักฐานไม่ได้เท่ากับไม่มีสัญญาค้ำประกัน ขอให้ถอนการยึด
โจทก์ให้การว่า จำเลยที่ 2 มีสินเดิมการก่อสร้างหรือบูรณะทรัพย์พิพาทใช้สินเดิมของจำเลยที่ 2 ผู้ร้องกับจำเลยที่ 2 เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ไม่รับรองผู้ร้องได้รู้เห็นยินยอมให้สัตยาบันสัญญาค้ำประกันแล้ว
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันโดยผู้ร้องไม่ทราบทรัพย์พิพาทไม่ใช่ของจำเลยที่ 2
ศาลนัดพร้อม ผู้ร้องแถลงว่า ทรัพย์ที่โจทก์ยึดเป็นสินสมรสระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ไม่มีสินเดิม จึงมีสิทธิเพียง 1 ใน 3 โจทก์ว่าจำเลยที่ 2 มีสินเดิม มีส่วนได้ครึ่งหนึ่ง ศาลชั้นต้นเห็นว่า ข้อที่อ้างสัญญาค้ำประกันเป็นโมฆะเพราะได้บอกล้างแล้วและปิดแสตมป์ไม่ครบถ้วนนั้นไม่เป็นประเด็นในคดีนี้เพราะศาลได้พิพากษาคดีถึงที่สุดแล้วว่าจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกัน ประเด็นในชั้นขัดทรัพย์มีประเด็นเดียว คือทรัพย์สินเป็นของผู้ร้องหรือของผู้ถูกยึดเท่านั้น โจทก์และผู้ร้องโต้เถียงกันในส่วนแห่งสิทธิในทรัพย์ที่ยึดของจำเลยที่ 2 จึงให้ผู้ร้องนำสืบแทนส่วนประเด็นอื่น ๆ ให้งดไม่สืบพยาน
ผู้ร้องยื่นคำแถลงคัดค้านคำสั่งว่า คดียังมีประเด็นว่าผู้ร้องมิได้รู้เห็นยินยอม และได้บอกล้างนิติกรรมสัญญาค้ำประกันแล้ว โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิยึดสินบริคณห์และสัญญาค้ำประกันรับฟังไม่ได้ ศาลสั่งงดสืบพยานประเด็นเหล่านี้จึงไม่ชอบ
ศาลชั้นต้นสืบพยานแล้วเห็นว่า ผู้ร้องอยู่ในฐานะเป็นเจ้าของทรัพย์ที่ยึดร่วมกับจำเลยที่ 2 จะมาร้องขัดทรัพย์ไม่ได้ คงมีสิทธิเพียงขอให้แบ่งสินบริคณห์ส่วนของตนออกเท่านั้น ปัญหาเรื่องจำเลยที่ 2 มีส่วนได้เท่าใดจึงไม่เป็นประเด็นในชั้นนี้ จึงสั่งยกคำร้องขัดทรัพย์
ผู้ร้องขัดทรัพย์อุทธรณ์ว่า 1. ผู้ร้องขัดทรัพย์บอกล้างสัญญาค้ำประกันแล้วโจทก์จะนำยึดสินบริคณห์ไม่ได้จึงเป็นประเด็นที่ผู้ร้องมีสิทธินำสืบได้ ศาลชั้นต้นตัดประเด็นนี้ออกจึงไม่ถูกต้อง ขอสั่งให้พิจารณาใหม่หรือถอนการยึด 2. สัญญาค้ำประกันรับฟังไม่ได้ 3.สามีย่อมมีสิทธิร้องขัดทรัพย์ได้ 4. โจทก์มิได้ขอแบ่งแยกสินบริคณห์ก่อนจึงไม่มีสิทธิยึดสินบริคณห์ (อ้างฎีกาที่ 1792/2492, 2159/2511)
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้น ให้ทำการพิจารณาต่อไปจนสิ้นกระบวนความ และมีคำสั่งใหม่
รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ทำความเห็นแย้งว่า คำสั่งศาลชั้นต้นชอบแล้ว
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาฟังว่า จำเลยที่ 2 เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ร้องในระหว่างสมรส จำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาค้ำประกันเงินกู้ที่จำเลยที่ 1 ยืมจากโจทก์ ปัญหามีว่า การที่จำเลยที่ 2 ไปทำสัญญาค้ำประกันนี้จำต้องได้รับอนุญาตจากสามีก่อนหรือไม่
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่หญิงมีสามีทำสัญญาค้ำประกันย่อมเป็นหนี้ที่ก่อขึ้นในระหว่างสมรส ซึ่งถ้าเป็นหนี้ร่วมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1482 ไม่ว่าจะได้รับอนุญาตจากสามีหรือไม่ ก็ย่อมต้องผูกพันสินบริคณห์และสินส่วนตัวของทั้งสองฝ่ายเสมอ แต่ถ้าไม่ใช่หนี้ร่วมและกรณีไม่อยู่ภายในบังคับแห่งมาตรา 39 และ 41 เช่นการที่จำเลยที่ 2 ไปทำสัญญาค้ำประกันรายนี้แล้ว ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า เป็นการกระทำที่ผูกพันสินบริคณห์หญิงมีสามีจำต้องได้รับอนุญาตจากสามีก่อน ถ้าไม่ได้รับอนุญาตสัญญาค้ำประกันนั้นตกเป็นโมฆียะตามมาตรา 38
ตามคำร้อง ผู้ร้องอ้างว่าไม่รู้เห็นยินยอมและบอกล้างแล้ว แต่โจทก์เถียงว่าผู้ร้องได้รู้เห็นยินยอมให้สัตยาบันสัญญาค้ำประกันแล้ว จึงเป็นปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปว่าความจริงเป็นประการใด เพราะถ้าฟังได้ว่าผู้ร้องไม่รู้เห็นยินยอมอนุญาตและบอกล้างแล้ว สัญญาค้ำประกันนั้นย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา 138 ไม่ผูกพันสินบริคณห์ โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้จะยึดเรือนพิพาทอันเป็นสินบริคณห์ไม่ได้ แต่โมฆะกรรมเช่นนี้มิได้ทำให้สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ไม่มีผลไปเสียเลย จำเลยที่ 2 ยังต้องรับผิดใช้หนี้เป็นส่วนตัวคือให้ใช้ด้วยสินส่วนตัวของจำเลยที่ 2 ก่อน เมื่อไม่พอจึงให้ใช้จากสินบริคณห์ที่เป็นส่วนของจำเลยที่ 2 ตามมาตรา 1479 คดีนี้ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 มีสินส่วนตัว จึงต้องให้ใช้จากสินบริคณห์ที่เป็นส่วนของจำเลยที่ 2 โดยวิธีการที่เจ้าหนี้จะต้องร้องขอต่อศาลให้แยกสินบริคณห์ออกเป็นส่วนของจำเลยที่ 2 เพื่อดำเนินการตามคำพิพากษาได้ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า ในกรณีเช่นนั้น โจทก์จะยึดเรือนพิพาทอันเป็นสินบริคณห์ก่อนขอแยกออกเป็นส่วนของจำเลยที่ 2 ไม่ได้ ผลแห่งคดีก็คือ ต้องปล่อยเรือนพิพาทที่ยึด แต่หากข้อเท็จจริงเป็นดังที่โจทก์ต่อสู้ คือผู้ร้องได้รู้เห็นยินยอมให้สัตยาบันสัญญาค้ำประกันแล้ว หนี้นั้นก็ย่อมผูกพันสินบริคณห์ที่โจทก์มีสิทธิยึดได้ ผู้ร้องจะขอปล่อยทรัพย์ที่ยึดไม่ได้ผลแห่งคดีย่อมต้องยกคำร้องขัดทรัพย์ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้น ให้ทำการพิจารณาต่อไปแล้วมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี จึงชอบแล้ว
พิพากษายืน