คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4411/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยออกเช็คแต่ละฉบับชำระหนี้รายเดียวกันถือได้ว่ามีเจตนาให้จ่ายเงินตามเช็คแต่ละฉบับแยกจากกันเป็นคนละส่วนคนละจำนวนแม้ได้ลงวันที่สั่งจ่ายวันเดียวกันและธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินวันเดียวกันก็เป็นความผิดที่เกิดขึ้นต่างหากแยกจากกันได้โดยชัดเจนเป็นการเฉพาะของเช็คแต่ละฉบับจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน การที่ศาลจะสั่งให้หักจำนวนวันที่จำเลยถูกคุมขังก่อนศาลพิพากษาออกจากโทษจำคุกตามคำพิพากษาหรือไม่นั้น เป็นดุลพินิจของศาลตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 22 วรรคแรก ทั้งมิใช่กรณีที่หากโจทก์ไม่มีคำขอขึ้นมาศาลก็วินิจฉัยให้ไม่ได้

ย่อยาว

ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ที่แก้ไขแล้ว
ระหว่างพิจารณานางสาวพ้องจิตต์ วณิเกียรติ ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ทั้งสองสำนวน ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยให้การรับสารภาพทั้งสองสำนวนภายหลังที่สืบพยานโจทก์ไปบางส่วนและรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
โจทก์ยื่นคำแถลงว่า คดีอาญาหมายเลขดำที่ ช.285/2534,ช.287/2534, ช.568/2534, ช.82/2534, ช.663/2534, ช.569/2534ช.50/2534, ช.662/2534, ช.707/2534, ช.706/2534, ช.1645/2534และ ช.3414/2534 ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาแล้วเป็นคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ช.3515/2534, ช.3539/2534, ข.2673/2534,ช.3558/2534, ช.3836/2534, ช.3855/2534, ช.3997/2534, ช.3998/2534,ช.4043/2534, ช.4118/2534, ช.4160/2534 และ ช.4749/2534 ตามลำดับ ขอให้นับโทษของจำเลยติดต่อกัน
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 ให้วางโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534มาตรา 4 ซึ่งเป็นกฎหมายที่เป็นคุณแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 3 และมาตรา 91 เรียงกระทงลงโทษตามเช็คฉบับหมาย จ.1 จำคุก7 เดือน ตามเช็คฉบับหมาย จ.3 จำคุก 2 เดือน และตามเช็คฉบับหมาย จ.5 จำคุก 3 เดือน รวม 3 กระทง จำคุก 12 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเมื่อสืบพยานโจทก์ไปบ้างแล้ว เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้หนึ่งในสามคงจำคุก 8 เดือน ให้นับโทษจำเลยต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ช.3515/2534, ช.3539/2534, ช.2673/2534,ช.3558/2534, ช.3836/2534, ช.3855/2534, ช.3997/2534, ช.3998/2534,ช.4043/2534, ช.4118/2534, ช.4160/2534 และ ช.4749/2534 ของศาลชั้นต้นสำหรับคดีหมายเลขดำที่โจทก์ขอนับโทษต่อ ศาลชั้นต้นยังมิได้มีคำพิพากษาจึงนับโทษต่อให้ไม่ได้หักวันที่จำเลยถูกคุมขังให้เฉพาะวันถูกคุมขังที่ไม่ซ้ำซ้อนกัน
จำเลยอุทธรณ์ทั้งสองสำนวน
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกาทั้งสองสำนวน
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาว่า การกระทำผิดของจำเลยในการออกเช็คหมาย จ.1 และ จ.3 เป็นความผิดกรรมเดียวกัน มิใช่เป็นความผิดหลายกระทงนั้น เห็นว่า การออกเช็คเป็นการสั่งให้ธนาคารจ่ายเงินตามจำนวนในเช็ค ณ วันที่ที่ลงในเช็คนั้น ผู้ออกเช็คมีเจตนาให้จ่ายเงินตามเช็คแต่ละฉบับแยกจากกันเป็นคนละส่วนคนละจำนวนไม่ได้ร่วมเป็นเช็คฉบับเดียวกัน ความผิดเกิดขึ้นต่างหากแยกจากกันได้โดยชัดเจนเป็นการเฉพาะตัวของเช็คแต่ละฉบับเมื่อธนาคารได้ปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คนั้น ๆ แล้ว ดังนั้น การที่จำเลยออกเช็คแต่ละฉบับชำระหนี้รายเดียวกันแม้ได้ลงวันที่สั่งจ่ายวันเดียวกันธนาคารได้ปฏิเสธการจ่ายเงินวันเดียวกันก็เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันเป็นคนละกระทงความผิดแยกจากกันซึ่งศาลต้องลงโทษจำเลยเรียงเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่ได้มีคำขอให้หักวันคุมขังให้จำเลยเฉพาะวันถูกคุมขังไม่ซ้ำซ้อนกัน ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้หักวันที่จำเลยถูกคุมขังเฉพาะวันที่ถูกคุมขังไม่ซ้ำซ้อนเป็นการพิพากษาเกินคำขอจึงต้องหักวันคุมขังก่อนศาลมีคำพิพากษาออกจากกำหนดโทษจำคุกให้จำเลยทุกคดีแม้ว่าเป็นการนับวันคุมขังซ้ำซ้อนกันก็ตามนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า การที่ศาลจะสั่งให้หักจำนวนวันที่จำเลยถูกคุมขังก่อนศาลพิพากษาออกจากโทษจำคุกตามคำพิพากษาหรือไม่นั้น เป็นดุลพินิจของศาลตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 22 วรรคแรก ทั้งมิใช่กรณีที่หากโจทก์ไม่มีคำขอขึ้นศาลก็วินิจฉัยให้ไม่ได้ ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นระบุในคำพิพากษาโดยชัดแจ้งว่าหักวันที่จำเลยถูกคุมขังให้เฉพาะวันถูกคุมขังที่ไม่ซ้ำซ้อน และศาลอุทธรณ์เห็นด้วยเป็นดุลพินิจที่ชอบแล้ว ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน

Share