คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1676/2513

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ยึดถือที่ดินมีโฉนดไว้แทนเจ้าของเกิน 10 ปีแล้ว แต่เพิ่งแสดงเจตนาเปลี่ยนการยึดถือเมื่อราว 2 ปีมานี้ ย่อมไม่อาจอ้างว่าได้กรรมสิทธิ์โดยทางครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อ พ.ศ. 2498 โจทก์ได้รับมรดกที่ดินจากนายอินบิดาโจทก์ 1 แปลง ตามโฉนดที่ 1880 จำเลยขออาศัยปลูกบ้านอยู่ตั้งแต่ครั้งบิดาโจทก์ เมื่อโจทก์ได้รับมรดกมาแล้วจำเลยคงขออาศัยอยู่ต่อไป และขอรักษาโฉนดไว้ เมื่อเดือน 11 และ 12 พ.ศ. 2509 จำเลยตัดต้นไม้และกอไผ่รวมราคา 600 บาท โดยโต้แย้งกรรมสิทธิ์ว่าที่ดินเป็นของจำเลยโจทก์ขอโฉนดคืนก็ไม่ยอมคืนให้ ขอให้พิพากษาให้จำเลยส่งโฉนดคืน และขับไล่จำเลยพร้อมทั้งรื้อสิ่งปลูกสร้างออกไป กับให้ใช้ค่าเสียหาย 600 บาท

จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า เดิมที่พิพาทเป็นของนางสี เมื่อ 43 ปีมานี้ จำเลยแต่งงานกับนางทองมีบุตรนางสี ในวันแต่งงานนางสียกที่ดินดังกล่าวกับเรือนและยุ้งข้าวให้จำเลยกับนางทองมี จำเลยกับนางทองมีได้ครอบครองด้วยความสงบและเปิดเผยตลอดมาจนนางสีตาย เป็นเวลาถึง 43 ปีแล้ว ย่อมได้สิทธิตามกฎหมายบิดามารดาโจทก์และตัวโจทก์เองไม่เคยเกี่ยวข้องหรือใช้สิทธิเป็นเจ้าของที่ดินนี้เลย ขอให้พิพากษาแสดงว่าที่พิพาทเป็นของจำเลยกับสั่งถอนชื่อโจทก์ออกจากโฉนดที่ 1880 และลงชื่อจำเลยถือกรรมสิทธิ์ต่อไป

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า เมื่อจำเลยมาได้นางทองมีย่าของโจทก์เป็นภริยานั้น หาได้มีการยกทรัพย์สินให้ในระหว่างแต่งงานไม่ นางสีโอนขายที่พิพาทให้บิดาโจทก์ บิดามารดาโจทก์ได้อยู่กินในที่พิพาท เมื่อบิดาโจทก์ตายแล้ว โจทก์กับมารดาก็อยู่ในที่พิพาทตลอดมา เมื่อโจทก์ขอรับมรดกที่ดินนี้แล้วจำเลยขออาศัยปลูกบ้านอยู่ในที่แปลงนี้ และขอโฉนดไปเก็บไว้ให้ขอให้ยกฟ้องแย้ง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ขับไล่จำเลย กับให้ส่งโฉนดที่พิพาทให้โจทก์ และให้ใช้ค่าเสียหาย

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาฟังว่า ที่พิพาทเดิมเป็นของนายแดงนางสี นางสีจดทะเบียนรับมรดกจากนายแดงสามีเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2485 แล้วนางสีโอนขายให้นายทองอิน (หลานของนางสี) บิดาโจทก์ในวันเดียวกันนั้นเอง ต่อมานายทองอินตาย จึงมีการจดทะเบียนโอนมรดกมาเป็นของโจทก์เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2494 เมื่อจำเลยแต่งงานกับนางทองมี(ย่าของโจทก์) แล้วก็ได้อาศัยอยู่กับนางสีแม่ยายในที่พิพาทจนนางสีตาย จำเลยจึงได้อาศัยนายทองอินอยู่ต่อมาในฐานะที่นายทองอินเป็นบุตรของนางทองมีภริยาจำเลยซึ่งเกิดจากสามีคนก่อน แม้เมื่อนายทองอินแต่งงานและไปทำนาอยู่กับแม่ยาย ห่างไปประมาณ 4 กิโลเมตร นายทองอินก็ยังไป ๆ มา ๆ บางคราวนายทองอินก็มาเก็บผลไม้กินในที่พิพาท จำเลยจึงคงเป็นผู้ยึดถือที่พิพาทในฐานะผู้แทนนายทองอินแม้จะครอบครองมาเกิน10 ปี แต่ตราบใดที่จำเลยยังมิได้บอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือไปยังนายทองอินหรือโจทก์ซึ่งเป็นทายาทเมื่อนายทองอินตายแล้ว ว่าไม่เจตนาจะยึดถือที่พิพาทแทนต่อไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1381 ตราบนั้นจำเลยก็ไม่อาจอ้างว่าได้กรรมสิทธิ์โดยทางครอบครองตามมาตรา 1382 ได้ และตามข้อเท็จจริงจำเลยเพิ่งแสดงเจตนาเปลี่ยนการยึดถือเมื่อประมาณ 2 ปีก่อนโจทก์ฟ้องนี่เอง โดยไม่ยอมให้มารดาโจทก์เก็บผลไม้ในที่พิพาท อ้างว่าโจทก์ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่พิพาท เมื่อฟังว่าที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ การที่จำเลยตัดต้นไม้ในที่พิพาท จึงเป็นการละเมิดต้องใช้ค่าเสียหาย

ส่วนโฉนดที่พิพาท ยังฟังไม่ถนัดว่าอยู่ที่จำเลย

พิพากษาแก้เฉพาะที่ให้จำเลยส่งโฉนดที่พิพาทให้โจทก์ เป็นว่าให้ยกคำขอข้อนี้เสียนอกนั้นคงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share