แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เดิมเป็นที่ดินแปลงเดียวแต่ต่อมาได้แบ่งแยกออกเป็นหลายแปลงและแบ่งขายไป อายุความได้ภารจำยอมในทางเดินภายในที่ดินแปลงเหล่านี้ต้องเริ่มนับแต่เมื่อได้มีการแบ่งแยกที่ดินและโอนกรรมสิทธิ์กันแล้ว
เมื่อที่ดินโฉนดเดียวได้แบ่งแยกออกเป็นหลายแปลง และที่ดินบางแปลงไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะ เจ้าของที่ดินแปลงที่ไม่มีทางออก มีสิทธิเรียกร้องเอาทางเดินในที่ดินโฉนดเดิมได้ในฐานะที่เป็นทางจำเป็น
เจ้าของที่ดินที่ทางจำเป็นผ่านอาจเปลี่ยนย้ายทางจำเป็นได้ถ้าไม่ทำให้ผู้มีสิทธิจะผ่านต้องเสียความสะดวกในการออกสู่ทางสาธารณะ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เดิมที่ดินโฉนดที่ 1915 เป็นของนางยวด นางยวดได้กันที่ดินเป็นถนนซอยเพื่อออกถนนสาธารณะสู่ถนนสี่พระยาเพื่อเป็นทางเข้าออกสู่ที่ดินแปลงนี้ ต่อมานางยวดได้แบ่งขายที่ดินแปลงนี้บางส่วนให้ผู้มีชื่อโดยให้ถนนซอยติดไปกับที่ดินที่แบ่งแยกไปด้วย แล้วต่อมาพวกโจทก์ได้ซื้อที่ดินแปลงที่นางยวดแบ่งขาย โจทก์ได้ใช้ถนนซอยเป็นทางเข้าออกตลอดมา นอกจากถนนซอยนี้แล้วพวกโจทก์ไม่มีทางอื่นออกสู่ถนนสาธารณะ ต่อมาจำเลยได้รับโอนที่ดินโฉนดที่ 1915 ที่เหลือจากแบ่งขายแล้ว และได้ปิดกั้นถนนซอยส่วนที่อยู่ในที่ดินที่จำเลยได้รับโอนมา โจทก์ทักท้วง จำเลยก็ไม่เชื่อ โจทก์เห็นว่าถนนซอยดังกล่าวเป็นทางจำเป็นและตกเป็นภารจำยอมตามกฎหมายแล้ว จึงขอให้บังคับจำเลยเปิดถนนซอยให้
จำเลยให้การว่า ทางพิพาทมิใช่ทางจำเป็นและยังไม่เกิดภารจำยอม ทั้งจำเลยได้นำทางใหม่และได้อนุญาตให้โจทก์อาศัยใช้เข้าออกได้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อนางยวดแบ่งขายที่ดินให้ผู้มีชื่อใน พ.ศ. 2494 ยังมิได้มีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ เพราะยังมิได้มีการแบ่งแยกที่ดิน เพิ่งจะได้มาจดทะเบียนขายและโอนกรรมสิทธิ์กันเมื่อวันที่12 พฤศจิกายน 2495 ศาลฎีกาเห็นว่าอายุความที่จะได้การจำยอมในทางพิพาทต้องเริ่มนับแต่วันที่ได้มีการแบ่งแยกที่ดินและโอนกรรมสิทธิ์กันแล้ว เพราะก่อนการแบ่งแยกคงมีแต่ที่ดินโฉนดที่ 1915 แปลงเดียว โฉนดที่ดินของพวกโจทก์ยังหามีไม่ จึงไม่อาจจะนับเอาระยะเวลาก่อนการแบ่งแยกโฉนดเป็นการเริ่มต้นอายุความการได้มาซึ่งภารจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินของพวกโจทก์ได้และเมื่อเริ่มนับอายุความตั้งแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน 2495 ถึงวันที่โจทก์ฟ้องหาว่าจำเลยปิดกั้นทางพิพาทก็ยังไม่ถึง 10 ปี จึงยังไม่เกิดเป็นทางภารจำยอมโดยอายุความและฟังข้อเท็จจริงต่อไปว่า ที่ดินของพวกโจทก์ไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะได้นอกจากทางพิพาทนี้ทางเดียว และโดยเหตุที่ที่ดินของพวกโจทก์ได้แบ่งแยกมาจากที่ดินแปลงหมายเลข 1915 เมื่อการแบ่งแยกกันเป็นเหตุให้ที่ดินของพวกโจทก์ไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะ พวกโจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องเอาทางพิพาทได้ในฐานะที่เป็นทางจำเป็นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349, 1350 แต่เห็นว่า ตามบทบัญญัติมาตรา 1349 วรรค 3 แสดงว่าการใช้ทางจำเป็นต้องคำนึงถึงความจำเป็นของที่ดินที่ถูกล้อม และความเสียหายของที่ดินที่ล้อมอยู่ด้วย ความจำเป็นของโจทก์คือให้ได้มีทางออกสู่ถนนสาธารณะโดยสะดวก ซึ่งปรากฏว่าจำเลยได้เปิดทางให้โจทก์ได้ออกสู่ถนนสี่พระยาโดยตรงแล้ว และทางใหม่นี้ก็สามารถนำรถยนต์แล่นเข้าออกได้สะดวกแม้จะได้ความว่าโจทก์ต้องลอดตึก แต่ก็ไม่ทำให้ต้องเสียความสะดวกอย่างใด และถ้าไม่ย้ายทางจำเป็นของโจทก์อาจทำให้จำเลยเสียหาย ศาลฎีกาจึงเห็นว่าจำเลยมีสิทธิเปลี่ยนย้ายทางจำเป็นของโจทก์ไปยังส่วนอื่นได้
พิพากษายืน