แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยกระทำผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3(1) และ (3)แต่ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ในวันที่จำเลยออกเช็ค คือวันสั่งจ่ายเงินหรือวันถึงกำหนดชำระเงินตามเช็คนั้น เงินในบัญชีของจำเลยมีพอจ่ายเกินกว่าจำนวนเงินตามเช็ค จำเลยจึงไม่มีความผิดตามฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2509 เวลากลางวัน จำเลยได้ออกเช็คธนาคารไทยพัฒนา จำกัด หมายเลข G 806398 สั่งจ่ายเงิน150,000 บาท ลงวันที่ 18 เมษายน 2509 มอบให้นายณรงค์ ภูมิตระกูลเพื่อนำไปมอบให้นายวิภาต ฉิมมณี เพื่อชำระหนี้เงินยืม ต่อมาวันที่ 17สิงหาคม 2509 นายวิภาต ฉิมมณี ได้มอบเช็คดังกล่าวให้นายณรงค์ ภูมิตระกูล นำไปเบิกเงินเข้าบัญชีที่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด เพื่อเรียกเก็บเงินตามเช็ค แต่ธนาคารไทยพัฒนาจำกัดได้ตอบปฏิเสธโดยอ้างว่าเงินในบัญชีไม่พอจ่าย โดยในวันขึ้นเงินจำเลยมีเงินในบัญชีเพียง587 บาท 45 สตางค์ ทั้งนี้โดยจำเลยได้บังอาจออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คเหตุเกิดเกี่ยวพันกันที่ตำบลเทพศิรินทร์ อำเภอป้อมปราบ และตำบลจักรวรรดิ์ อำเภอสัมพันธวงศ์ จังหวัดพระนคร ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 และขอให้นับโทษต่อจากคดีอาญาหมายเลขคดีดำที่ 3350/2509 ของศาลอาญาด้วย
นายวิภาต ฉิมมณี ผู้เสียหายขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยให้การปฏิเสธ
โจทก์นำสืบได้ความว่า นายวิภาต ฉิมมณี โจทก์ร่วมกับนายณรงค์ภูมิตระกูล เป็นเพื่อนกันและเป็นหุ้นส่วนการค้าร่วมกัน เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2509 นายณรงค์มาขอยืมเงินโจทก์ร่วม 150,000 บาท บอกว่าจะเอาไปให้แพทย์หญิงลิลิตจำเลย จะเกี่ยวกับกิจการอะไรไม่ได้บอก โจทก์ร่วมมอบเงินดังกล่าวให้ไปในวันนั้น ต่อมาเย็นวันเดียวกันนายณรงค์นำเช็คหมาย จ.1 มาให้ บอกว่าเมื่อเช็คถึงกำหนดให้ไปขึ้นเงินได้เพื่อชำระหนี้ที่ยืมไป เป็นเช็คของจำเลยสั่งจ่ายเงิน 150,000 บาท ลงวันที่ 18 เมษายน 2509 ซึ่งในวันนั้นเงินในบัญชีของจำเลยมีพอจ่ายตามเช็คได้ ต่อมาวันที่ 17 สิงหาคม2509 นายณรงค์มาบอกว่าสงสัยเช็คของจำเลยจะไม่มีเงินจ่ายให้เสียแล้วโจทก์ร่วมจึงมอบเช็คให้นายณรงค์ไปจัดการขึ้นเงินเอาเอง รุ่งขึ้นนายณรงค์นำเช็คและใบคืนเช็คของธนาคารมาให้บอกว่าธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค โจทก์ร่วมขอให้นายณรงค์ไปติดต่อกับจำเลยผลที่สุดไม่ได้เงิน โจทก์ร่วมจึงนำเช็คไปแจ้งความที่สถานีตำรวจซึ่งได้สอบสวนแล้วฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ และคดีอื่นอีกหลายคดีเกี่ยวกับเช็คไม่มีเงินจ่าย รวมทั้งเช็คของจำเลยที่ออกให้นายณรงค์เป็นเงิน 130,000 บาท อีก 3 ฉบับ และจำเลยถูกฟ้องคดีล้มละลายด้วย ซึ่งนายณรงค์ก็ได้นำเช็คหมาย จ.1 ที่มอบให้โจทก์ร่วมไปยื่นขอพิสูจน์หนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ด้วย โดยโจทก์ร่วมมิได้มอบอำนาจให้นายณรงค์ไปยื่นแทน
จำเลยนำสืบว่าจำเลยมีอาชีพเป็นแพทย์มีสถานคลีนิคและเอาเงินให้กู้ด้วย โดยทำมาหลายปีแล้ว เป็นเงินของจำเลยและของเพื่อนฝูงที่เอามาให้จำเลย จำเลยรับเงินไว้โดยออกเช็คให้บ้าง เซ็นรับเงินไว้บ้างแล้วมอบให้เขาไป แล้วเอาเงินให้คนอื่นกู้คิดเอาดอกเบี้ยและให้ดอกเบี้ยแก่เจ้าของเงินเช็ค จ.1 รายนี้จำเลยออกให้นายณรงค์ซึ่งนำเงิน 150,000 บาท มาให้จำเลย ๆ เอาเงินไปให้นางสมสมัยกู้โดยไม่ได้ทำสัญญากู้กันไว้ เพียงแต่เซ็นรับเงินไว้ในกระดาษแล้วจำเลยจ่ายดอกเบี้ยให้นายณรงค์ ในวันสั่งจ่ายเงินตามเช็ค จ.1จำเลยมีเงินฝากธนาคาร 3 แสนบาทเศษ ถ้านายณรงค์นำเช็คไปขึ้นเงินในวันนั้นก็จะรับเงินได้ แต่นายณรงค์ไม่รับเงิน คงรับดอกเบี้ยต่อไปจนถึงเดือนสิงหาคม 2509 จำเลยเก็บเงินจากลูกหนี้ไม่ได้ จึงงดส่งดอกเบี้ยแล้วถูกฟ้อง
ศาลชั้นต้นเห็นว่า เช็คหมาย จ. 1 ไม่ใช่เป็นของนายวิภาตโจทก์ร่วม น่าจะเป็นของนายณรงค์มากกว่า เมื่อโจทก์ร่วมไม่ใช่เจ้าของเงินตามเช็ค โจทก์ร่วมก็ไม่ใช่ผู้เสียหาย พิพากษายกฟ้อง
โจทก์และโจทก์ร่วมต่างอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่านายวิภาตโจทก์ร่วมเป็นเจ้าของเงินตามเช็ค จ.1 โจทก์ร่วมจึงเป็นผู้เสียหาย แต่ในวันสั่งจ่ายตามเช็คจำเลยมีเงินฝากธนาคาร 339,880.70 บาท ถ้านายวิภาตหรือนายณรงค์นำเช็คไปขึ้นเงินในวันถึงกำหนดก็จะรับเงินไปได้ และคดีฟังได้ว่าเช็ค จ.1 จำเลยออกให้นายณรงค์เพื่อประกันเงินที่จำเลยกู้ยืม โดยคู่กรณีไม่มีเจตนาจะให้มีการจ่ายเงินตามเช็ค จำเลยจึงไม่มีความผิด พิพากษายืนในผลที่ให้ยกฟ้อง
โจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยบังอาจออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คซึ่งสั่งจ่ายเงินในวันที่ 18 เมษายน 2509 ต่อมาวันที่ 17 สิงหาคม 2509 ผู้เสียหายมอบเช็คให้นายณรงค์นำไปขึ้นเงินจากธนาคารปรากฏว่าเงินในบัญชีของจำเลยไม่มีพอจ่าย อันเป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 (1) และ (3)ซึ่งจะเป็นความผิดต่อเมื่อในวันที่จำเลยออกเช็คนั้น เงินในบัญชีของจำเลยมีไม่พอจ่ายตามเช็ค แต่ทางพิจารณาได้ความว่า ในวันที่จำเลยออกเช็ค คือวันสั่งจ่ายเงินหรือวันถึงกำหนดชำระเงินตามเช็คนั้น เงินในบัญชีของจำเลยมีพอจ่ายเกินกว่าจำนวนเงินตามเช็ค จำเลยจึงไม่มีความผิดตามฟ้องกรณีมีเงินพอจ่ายในวันออกเช็คแล้วต่อมาไม่มีซึ่งอาจเป็นความผิดได้ตามมาตรา 3(4) หรือ (5) เฉพาะในกรณีถอนเงินเสียจากธนาคารหรือห้ามธนาคารมิให้จ่ายเงินนั้น โจทก์มิได้ฟ้อง ฎีกาโจทก์ร่วมในข้อกฎหมายอื่น ๆ ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยต่อไป
พิพากษายืน