คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1216/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การพิจารณาคำขอให้พิจารณาใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 209 วรรคหนึ่ง ต้องพิจารณาเป็นลำดับขั้นตอน คือศาลต้องพิจารณาคำขอนั้นก่อนว่าถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 207 และ 208 หรือไม่ แล้วจึงพิจารณาต่อไปว่ามีเหตุสมควรเชื่อว่าคู่ความฝ่ายที่ขาดนั้นมาศาลไม่ได้หรือไม่ และศาลจะมีคำสั่งอนุญาตตามคำขอให้พิจารณาคดีใหม่หรือไม่
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 209 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ศาลไต่สวนพิจารณาเพียงเหตุเดียวคือ มีเหตุสมควรเชื่อว่าคู่ความฝ่ายที่ขาดนัดนั้น มาศาลไม่ได้หรือไม่เท่านั้น
การที่คู่ความจงใจขาดนัดเป็นกรณีไม่มีเหตุสมควรเชื่อว่าคู่ความฝ่ายที่ขาดนัดนั้นมาศาลไม่ได้นั่นเอง เมื่อศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วเห็นว่า โจทก์พลั้งเผลอเป็นเหตุให้หลงลืมวันนัดและไม่มาศาลในวันนัดสืบพยานโจทก์นัดแรกไม่ใช่เหตุอันสมควรที่โจทก์จะมาศาลไม่ได้ เท่ากับว่าศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยแล้วว่าการขาดนัดพิจารณาของโจทก์เป็นไปโดยจงใจ การที่ศาลชั้นต้นสั่งยกคำขอให้พิจารณาใหม่ของโจทก์จึงชอบแล้ว

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องมาจากการกระทำละเมิดเป็นเงิน 53,165 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ยื่นคำให้การต่อสู้คดี ครั้นถึงวันนัดสืบพยานโจทก์ โจทก์และจำเลยที่ 1ไม่มาศาล คงมีแต่จำเลยที่ 2 และที่ 3 มาศาล ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 แถลงขอให้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณา ให้ดำเนินคดีของจำเลยที่ 2และที่ 3 ไปฝ่ายเดียว แล้วพิพากษายกฟ้อง

โจทก์ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ อ้างว่ามิได้จงใจขาดนัดพิจารณาเพราะโจทก์เข้าใจวันนัดสืบพยานโจทก์ผิดไป กล่าวคือศาลได้นัดสืบพยานโจทก์ไว้ในวันที่ 10 และ 31 มีนาคม 2541 แต่โจทก์เข้าใจว่าศาลนัดสืบพยานโจทก์ไว้เพียงวันเดียวคือวันที่ 31 มีนาคม 2541 ดังนั้นในวันนัดสืบพยานโจทก์นัดแรกวันที่ 10 มีนาคม 2541 โจทก์จึงไม่ได้มาศาลตามนัด

จำเลยที่ 2 และที่ 3 ยื่นคำคัดค้านว่า โจทก์จงใจขาดนัดพิจารณา ขอให้ยกคำร้อง

ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องแล้วมีคำสั่งว่า การที่โจทก์ไม่มาศาลในวันนัดสืบพยานโจทก์เป็นเพราะความพลั้งเผลอของโจทก์เอง เป็นเหตุให้หลงลืมวันนัดไม่ใช่เหตุอันสมควรที่โจทก์จะมาศาลไม่ได้ ให้ยกคำร้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เฉพาะข้อกฎหมายว่า การที่ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ของโจทก์อ้างว่าโจทก์พลั้งเผลอเป็นเหตุให้หลงลืมวันนัดไม่ใช่เหตุอันสมควรที่โจทก์จะมาศาลไม่ได้โดยไม่ได้พิจารณาว่าการขาดนัดพิจารณาของโจทก์เป็นไปโดยจงใจหรือไม่ เป็นการไม่ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 209 นั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่หลังจากที่ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาแล้ว ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 209 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “การยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่นั้น ถ้าศาลเห็นว่าคำขอนั้นถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งสองมาตราก่อนนี้ และมีเหตุสมควรเชื่อว่าคู่ความฝ่ายที่ขาดนัดนั้นมาศาลไม่ได้ ให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตตามขอ ” การพิจารณาคำขอให้พิจารณาคดีใหม่จึงต้องพิจารณาเป็นลำดับขั้นตอน คือ ศาลต้องพิจารณาคำขอนั้นก่อนว่าถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 207 และ 208 หรือไม่ แล้วจึงพิจารณาต่อไปว่ามีเหตุสมควรเชื่อว่าคู่ความฝ่ายที่ขาดนัดนั้น มาศาลไม่ได้หรือไม่ และในการที่ศาลจะมีคำสั่งอนุญาตตามคำขอให้พิจารณาคดีใหม่หรือไม่นั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 209 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ศาลไต่สวนพิจารณาเพียงเหตุเดียวคือ มีเหตุสมควรเชื่อว่าคู่ความฝ่ายที่ขาดนัดนั้นมาศาลไม่ได้หรือไม่เท่านั้น การที่คู่ความจงใจขาดนัดก็เป็นกรณีไม่มีเหตุสมควรเชื่อว่าคู่ความฝ่ายที่ขาดนัดนั้นมาศาลไม่ได้นั่นเอง เมื่อศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วเห็นว่า โจทก์พลั้งเผลอเป็นเหตุให้หลงลืมวันนัด และไม่มาศาลในวันนัดสืบพยานโจทก์นัดแรกไม่ใช่เหตุอันสมควรที่โจทก์จะมาศาลไม่ได้ ก็เท่ากับว่าศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยแล้วว่าการขาดนัดพิจารณาของโจทก์เป็นไปโดยจงใจ คำสั่งศาลชั้นต้นจึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 209 วรรคหนึ่ง แล้ว ที่ศาลชั้นต้นสั่งยกคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ของโจทก์และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย

พิพากษายืน

Share