คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3162/2524

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อตกลงระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างที่ว่า เมื่อนายจ้างจะเลิกจ้างต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษรไม่น้อยกว่า 30 วันนั้น หมายถึงกรณีการเลิกจ้างตามปกติโดยลูกจ้างมิได้กระทำการอันไม่สมควรอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อลูกจ้างขาดงานเป็นเวลา 4 วัน แม้จะเป็นการขาดงานระหว่างที่เป็นลูกจ้างทดลองงานเสีย 3 วัน แต่การปฏิบัติงานระหว่างทดลองงานก็เป็นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นลูกจ้างเช่นกัน จึงถือว่าลูกจ้างละทิ้งงานไปเสียตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 นายจ้างเลิกจ้างโดยมิต้องบอกกล่าวล่วงหน้าได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยตกลงรับโจทก์เข้าทำงานโดยให้ทดลองปฏิบัติงานเป็นเวลา 6 เดือน เมื่อพ้นระยะเวลาดังกล่าวให้ถือว่าโจทก์เป็นพนักงานประจำ ต่อมาจำเลยได้บอกเลิกจ้างโดยมิได้ตักเตือนหรือบอกกล่าวล่วงหน้า โจทก์มิได้ปฏิบัติหน้าที่บกพร่องทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างเนื่องจากการเลิกจ้างโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายอันเนื่องจากการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมพร้อมด้วยดอกเบี้ย

จำเลยให้การว่า ในระหว่างทดลองปฏิบัติงานโจทก์ปฏิบัติหน้าที่บกพร่องประพฤติตนไม่เหมาะสม ละทิ้งหน้าที่การงานติดต่อกันเป็นเวลา 7 วัน โดยปราศจากเหตุอันสมควร จำเลยได้ว่ากล่าวตักเตือนแต่ก็ไม่เป็นผล จึงบอกเลิกสัญญาโจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าสินจ้างหรือค่าเสียหายใด ๆ ขอให้พิพากษายกฟ้อง

ในวันสืบพยานโจทก์สละข้ออ้างเรื่องการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม

ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ตามสัญญาจ้างจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างจะเลิกสัญญาหรือเลิกจ้างโจทก์ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษรไม่น้อยกว่า 30 วันนั้น หมายถึงกรณีการเลิกจ้างตามปกติโดยลูกจ้างมิได้กระทำการอันไม่สมควรอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่ระบุไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 เมื่อได้ความว่าโจทก์ขาดงานในเดือนพฤษภาคม 2524 เป็นเวลา 4 วันแม้จะเป็นการขาดงานระหว่างโจทก์เป็นลูกจ้างทดลองงานเสีย 3 วัน แต่การปฏิบัติงานของโจทก์ในระหว่างทดลองงานก็เป็นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นลูกจ้างจำเลยเช่นเดียวกันการที่โจทก์ขาดงานที่ต้องปฏิบัติให้แก่จำเลยตามหน้าที่ในเดือนเดียวกันเป็นเวลาถึง 4 วัน ถือได้ว่าโจทก์ละทิ้งงานไปเสียตามความหมายของมาตรา 583 แล้ว จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยมิต้องบอกกล่าวล่วงหน้าได้

พิพากษายืน

Share