คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1836/2524

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

มาตรา 110 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายเป็นเรื่องการบังคับคดีตามคำสั่งหรือหมายบังคับคดีของศาลเท่านั้น จะขยายมาใช้แก่การยึดและขายทอดตลาดเพื่อให้ได้รับชำระค่าภาษีอากรค้างตามคำสั่งของข้าหลวงประจำจังหวัดหรือนายอำเภอตามประมวลรัษฎากร มาตรา 12 หาได้ไม่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงไม่มีอำนาจเรียกให้ผู้ร้องส่งเงินที่ได้นำส่งชำระค่าภาษีไปแล้วก่อนวันที่จำเลยถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดไปรวมไว้ในกองทรัพย์สินของจำเลยในคดีล้มละลาย
จำเลยถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2520 แต่เงินที่ได้จากการยึดและขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยนั้น หัวหน้าเขตได้นำส่งชำระค่าภาษีไปแล้วส่วนหนึ่งก่อนวันที่จำเลยถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เงินจำนวนดังกล่าวจึงไม่ใช่ทรัพย์สินที่จำเลยมีอยู่ในวันที่ 24 มิถุนายน2520 ่อันเป็นวันซึ่งถือว่าเป็นเวลาเริ่มต้นการล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 62 ไม่ใช่ทรัพย์สินในคดีล้มละลายอันอาจแบ่งแก่เจ้าหนี้ได้ตาม มาตรา 109(1)
ส่วนเงินอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งได้นำส่งชำระค่าภาษีอากรนับแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2520 นั้น ประมวลรัษฎากร มาตรา 12ไม่มีข้อความใดที่แสดงว่าเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดเมื่อหักค่าธรรมเนียมกับค่าใช้จ่ายในการยึด และขายทอดตลาดแล้วในถือเป็นเงินชำระค่าภาษีอากรค้างตกเป็นกรรมสิทธิ์ของแผ่นดินในทันทีที่ขายทอดตลาดเสร็จจึงยังเป็นทรัพย์สินของจำเลยอยู่และถือได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่จำเลยมีอยู่ในเวลาเริ่มต้นแห่งการล้มละลายเป็นทรัพย์สินในคดีล้มละลายอันอาจแบ่งแก่เจ้าหนี้ได้ตามมาตรา 109(1)เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจเรียกให้ส่งไปรวมไว้ในกองทรัพย์สินของจำเลยในคดีล้มละลายได้

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องมาจากจำเลยค้างชำระภาษีให้แก่ผู้ร้อง หัวหน้าเขตปทุมวันโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 12 แห่งประมวลรัษฎากรได้ดำเนินการยึดและขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยเพื่อเอามาชำระค่าภาษีดังกล่าวได้เงิน 639,737 บาท ต่อมาศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดของจำเลย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงมีหนังสือถึงผู้ร้องขอให้ส่งเงิน 639,737 บาทนั้น ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ โดยถือว่าเป็นทรัพย์สินในคดีล้มละลาย อันอาจแบ่งแก่เจ้าหนี้ได้ตามมาตรา 109(1) และมาตรา 110 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า จำเลยค้างชำระภาษีการค้าและภาษีเงินได้นิติบุคคลอยู่ 84,813,757.71 บาท เงินจำนวน 639,737 บาท ได้นำส่งกระทรวงการคลังเป็นเงินรายได้ของแผ่นดินไปแล้ว และเงินจำนวนดังกล่าวตกเป็นกรรมสิทธิ์ของแผ่นดิน เมื่อขายทอดตลาดเสร็จไม่ใช่ทรัพย์สินของจำเลยอันมีอยู่ในเวลาเริ่มต้นแห่งการล้มละลายไม่ถือว่าเป็นทรัพย์สินในคดีล้มละลายอันอาจแบ่งแก่เจ้าหนี้ได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย มาตรา 109

เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำร้องคัดค้านว่า อำนาจตามประมวลรัษฎากร มาตรา 12 ย่อมตกอยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติล้มละลาย ผู้ร้องจะอ้างว่าเงินจำนวน 639,737ไม่อยู่ในบังคับแห่งพระราชบัญญัติล้มละลายหาได้ไม่ คดีนี้นับแต่วันที่หัวหน้าเขตปทุมวันขายทอดตลาดทรัพย์สินจำเลยถึงวันที่จำเลยถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดยังไม่ครบ 14 วัน การบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของจำเลยยังไม่เสร็จบริบูรณ์ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย มาตรา 110 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 290 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจเรียกรวบรวมไว้ในกองทรัพย์สินของจำเลยได้ ขอให้ยกคำร้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้อง

ผู้ร้องอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วพิพากษาแก้เป็นว่า มิให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกเงินจำนวน 613,387 บาทจากผู้ร้อง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งศาลชั้นต้น

เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ และผู้ร้องฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า คงมีปัญหาสู่ศาลฎีกาว่าเงินจำนวน 639,737 บาทซึ่งหัวหน้าเขตปทุมวันได้มาจากการยึดและขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยเพื่อเอาชำระค่าภาษีอากรที่จำเลยค้างชำระตามมาตรา 12 แห่งประมวลรัษฎากรเป็นทรัพย์สินในคดีล้มละลายอันอาจแบ่งแก่เจ้าหนี้ได้โดยเป็นทรัพย์สินที่จำเลยมีอยู่ในเวลาเริ่มต้นแห่งการล้มละลายตามมาตรา 109(1) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายหรือไม่ มาตรา 109 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2511 มาตรา 7 บัญญัติว่า “ทรัพย์สินดั่งต่อไปนี้ให้ถือว่าเป็นทรัพย์สินในคดีล้มละลาย อันอาจแบ่งแก่เจ้าหนี้ได้

(1) ทรัพย์สินทั้งหลายอันลูกหนี้มีอยู่ในเวลาเริ่มต้นแห่งการล้มละลาย รวมทั้งสิทธิเรียกร้องเหนือทรัพย์สินของบุคคลอื่น เว้นแต่

ก. เครื่องใช้สอยส่วนตัวอันจำเป็นแก่การดำรงชีพซึ่งลูกหนี้รวมทั้งภริยาและบุตรผู้เยาว์ของลูกหนี้ จำเป็นต้องใช้ตามสมควรแก่ฐานานุรูป และ

ข. สัตว์ พืชพันธุ์ เครื่องมือและสิ่งของสำหรับใช้ในการประกอบอาชีพของลูกหนี้ราคารวมกันไม่เกินสามพันบาท

(2) ……………….ฯลฯ …………………..

(3) ……………….ฯลฯ …………………..

พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า จำเลยถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดวันที่ 24มิถุนายน 2520 แต่เงินที่ได้จากการยึดและขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยจำนวน 639,737 บาทดังกล่าวข้างต้นได้ความว่าหัวหน้าเขตปทุมวันได้นำส่งชำระค่าภาษีไปแล้วส่วนหนึ่งเป็นเงิน 613,387บาทก่อนวันที่จำเลยถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เงินจำนวน 613,387บาท ดังกล่าวนี้จึงไม่ใช่ทรัพย์สินที่จำเลยมีอยู่ในวันที่ 24 มิถุนายน2520 อันเป็นวันซึ่งถือว่าเป็นเวลาเริ่มต้นแห่งการล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 62 ไม่ใช่ทรัพย์สินในคดีล้มละลายอันอาจแบ่งแก่เจ้าหนี้ได้ตามมาตรา 109(1) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฎีกาว่าในวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาด (24 มิถุนายน 2520)การบังคับคดีของผู้ร้องยังไม่สำเร็จบริบูรณ์ กล่าวคือ นับแต่วันขายทอดตลาด (13 มิถุนายน 2520 ถึง 23 มิถุนายน 2520) ถึงวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ยังไม่พ้นกำหนดเวลา (14 วันนับแต่วันขายทอดตลาด) ที่อนุญาตให้เจ้าหนี้อื่นยื่นคำขอเฉลี่ยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 290 ใช้ยันเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ได้ตามมาตรา 110 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจเรียกให้ส่งเงินที่ขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยได้ไปรวบรวมไว้ในกองทรัพย์สินของจำเลยเพื่อแบ่งให้แก่บรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลายรวมทั้งหนี้ภาษีอากรของผู้ร้องด้วยตามมาตรา 130 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ว่า ตามมาตรา 110แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายเป็นเรื่องการบังคับคดีตามคำสั่งหรือหมายบังคับคดีของศาลเท่านั้นจะขยายมาใช้แก่การยึดและขายทอดตลาดเพื่อให้ได้รับชำระค่าภาษีอากรค้างตามคำสั่งของข้าหลวงประจำจังหวัดหรือนายอำเภอตามประมวลรัษฎากรมาตรา 12 หาได้ไม่ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงไม่มีอำนาจเรียกให้ผู้ร้องส่งเงินจำนวน 613,387 บาทที่ได้นำส่งชำระค่าภาษีไปแล้วก่อนวันจำเลยถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดไปรวบรวมไว้ในกองทรัพย์สินของจำเลยในคดีล้มละลายฎีกาของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฟังไม่ขึ้น

สำหรับเงินที่ได้จากการยึดและขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยอีกส่วนหนึ่งคือ จำนวน 26,350 บาทซึ่งได้นำส่งชำระค่าภาษีนับแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2520 อันเป็นวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเป็นต้นมา ที่ผู้ร้องฎีกาคัดค้านว่า ไม่เป็นทรัพย์สินในคดีล้มละลายอันอาจแบ่งแก่เจ้าหนี้ เพราะเป็นการยึดและขายทอดตลาดเพื่อให้ได้รับชำระค่าภาษีอากรค้างตามประมวลรัษฎากร มาตรา 12และการขายทอดตลาดได้สำเร็จบริบูรณ์ก่อนศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ได้เงินมายังไม่ครบค่าภาษีอากรค้าง เงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทั้งหมดจำนวน 639,737 บาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของแผ่นดินเมื่อขายทอดตลาดเสร็จเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่มีอำนาจเรียกให้ส่งไปรวบรวมไว้ในกองทรัพย์สินของจำเลยในคดีล้มละลายนั้นศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว ประมวลรัษฎากร มาตรา 12 บัญญัติว่า”ฯลฯ เพื่อให้ได้รับชำระค่าภาษีอากรค้าง ให้เป็นอำนาจของข้าหลวงประจำจังหวัดหรือนายอำเภอโดยเฉพาะที่จะสั่งยึดและสั่งขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ต้องรับผิดเสียภาษีอากร โดยมิต้องขอให้ศาลออกหมายยึดหรือสั่ง ฯลฯ เงินที่ได้จากการขายทอดตลาดดังกล่าวแล้ว ให้หักค่าธรรมเนียมกับค่าใช้จ่ายในการยึดและขายและเงินภาษีอากรค้าง ถ้ามีเงินเหลือ ให้คืนแก่เจ้าของทรัพย์สิน” เห็นว่าตามบทบัญญัติดังกล่าวนี้ไม่มีข้อความใดแสดงว่าเงินที่ได้จากการขายทอดตลาด เมื่อหักค่าธรรมเนียมกับค่าใช้จ่ายในการยึดและขายทอดตลาดแล้ว ให้ถือเป็นเงินชำระค่าภาษีอากรค้างตกเป็นกรรมสิทธิ์ของแผ่นดินในทันทีที่ขายทอดตลาดเสร็จ ดังที่ผู้ร้องฎีกาหากแต่เห็นว่ายังเป็นของเจ้าของทรัพย์สินที่ถูกขายทอดตลาดอยู่จะตกเป็นของแผ่นดินก็ต่อเมื่อเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ได้จัดสรรนำส่งชำระเป็นค่าภาษีอากรค้างแล้ว ฉะนั้น เมื่อปรากฏว่าเงินจำนวน 26,350บาท ดังกล่าวข้างต้นเพิ่งถูกนำส่งชำระค่าภาษีในวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและภายหลังจากนั้นเงินจำนวน 26,350 บาทนี้จึงเป็นทรัพย์สินที่จำเลยมีอยู่ในเวลาเริ่มต้นแห่งการล้มละลายเป็นทรัพย์สินในคดีล้มละลายอันอาจแบ่งแก่เจ้าหนี้ได้ตามมาตรา 109(1) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจเรียกให้ส่งไปรวมไว้ในกองทรัพย์สินของจำเลยในคดีล้มละลาย

พิพากษายืน

Share