คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1118/2524

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สิทธิที่จะได้รับค่าชดเชยเป็นสิทธิที่ได้กำหนดไว้ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานแต่ก็มิได้กำหนดอายุความสิทธิเรียกร้องดังกล่าวไว้เป็นพิเศษ ต้องถืออายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ 46แก้ไขเพิ่มเติมโดยฉบับที่ 2 ข้อ 1 ที่ว่า ‘การเลิกจ้างตามข้อนี้หมายความว่า การที่นายจ้างให้ลูกจ้างออกจากงานปลดออกจากงาน หรือไล่ออกจากงาน โดยลูกจ้างไม่ได้กระทำความผิดตามข้อ 47 ฯลฯ’ นั้น หมายถึงการที่นายจ้างให้ลูกจ้างออกจากงานไม่ว่ากรณีใดๆ โดยมิได้ยกเว้นไว้ว่า การให้ออกจากงานเพราะขาดคุณสมบัติไม่เป็นการเลิกจ้าง การที่โจทก์ให้จำเลยออกจากงานเพราะจำเลยขาดคุณสมบัติ จึงถือว่าเป็นการเลิกจ้างจำเลยตามประกาศดังกล่าว
เงินบำเหน็จเป็นเงินต่างประเภทจากค่าชดเชย จึงถือไม่ได้ว่าเงินบำเหน็จเป็นค่าชดเชย

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์ทั้งสองเป็นลูกจ้างประจำต่อมาได้เลิกจ้างโจทก์เพราะเป็นคนต่างด้าว โดยไม่จ่ายค่าชดเชยให้ ขอให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ทั้งสองคนละ 13,380 บาท

จำเลยทั้งสองสำนวนให้การว่า โจทก์ทั้งสองมีสัญชาติอินเดีย จำเลยให้โจทก์ทั้งสองออกจากงานเพราะโจทก์ขาดคุณสมบัติตามระเบียบคุณสมบัติมาตรฐานพนักงานยาสูบจำเลยให้ออกจากงานเพราะขาดคุณสมบัติ ไม่ใช่เลิกจ้าง โจทก์ทั้งสองได้รับบำเหน็จไปตามระเบียบแล้ว ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยซ้ำอีก คดีของโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ การที่จำเลยให้โจทก์ออกจากงานเพราะขาดคุณสมบัติเป็นการเลิกจ้าง เงินบำเหน็จที่โจทก์ได้รับไปแล้วเป็นเงินประเภทอื่นต่างหากจากค่าชดเชย พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ทั้งสองคนละ 13,380 บาท

จำเลยที่ 1 ที่ 2 ทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า

สิทธิที่จะได้รับค่าชดเชยนี้เป็นสิทธิที่ได้กำหนดไว้ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานแต่ก็มิได้กำหนดอายุความสิทธิเรียกร้องดังกล่าวไว้เป็นพิเศษ จึงจะถือเอาอายุความ2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165 ดังจำเลยอุทธรณ์หาได้ไม่ต้องถืออายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 นับแต่โจทก์ทั้งสองออกจากงานจนถึงวันฟ้องยังไม่เกิน 10 ปี จึงไม่ขาดอายุความ

ที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่า การที่โจทก์ทั้งสองต้องพ้นจากสภาพการเป็นพนักงานยาสูบเพราะขาดคุณสมบัติเป็นผลของกฎหมาย มิใช่เป็นการเลิกจ้าง ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยนั้น เห็นว่า ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานฯข้อ 46 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 ข้อ 1 ที่ใช้บังคับอยู่ขณะที่จำเลยทั้งสองให้โจทก์ทั้งสองออกจากงานได้คำนิยามไว้ว่า “การเลิกจ้างตามข้อนี้หมายความว่า การที่นายจ้างให้ลูกจ้างออกจากงานปลดออกจากงาน หรือไล่ออกจากงาน โดยที่ลูกจ้างไม่ได้กระทำความผิดตามข้อ 47 ฯลฯ” ซึ่งหมายถึงการที่นายจ้างให้ลูกจ้างออกจากงานไม่ว่ากรณีใด ๆโดยมิได้ยกเว้นว่าการให้ออกจากงานเพราะขาดคุณสมบัติมิใช่เป็นการเลิกจ้าง ผลปรากฏว่านอกจากจำเลยได้ออกระเบียบโรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง ว่าด้วยคุณสมบัติมาตรฐานพนักงานยาสูบ พ.ศ. 2518 ซึ่งมีความในข้อ 4 ว่า “พนักงานยาสูบต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ (1) มีสัญชาติไทย ฯลฯ” และข้อ 6 ว่า “พนักงานยาสูบที่ขาดคุณสมบัติตามข้อ 4 ให้พ้นจากสภาพการเป็นพนักงานยาสูบ เมื่อพ้นหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ระเบียบนี้ใช้บังคับ” ซึ่งเป็นการกำหนดคุณสมบัติทั่ว ๆ ไปของพนักงานยาสูบที่จะทำงานกับจำเลยทั้งสองได้ต่อไปแล้วจำเลยทั้งสองยังได้มีคำสั่งที่ ท.49/2518ให้โจทก์ทั้งสองพ้นสภาพการเป็นพนักงานยาสูบอันเป็นการเลิกจ้างจำเลยทั้งสองตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานด้วย

ส่วนปัญหาที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่า โจทก์ทั้งสองได้รับเงินบำเหน็จไปตามระเบียบแล้วไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยซ้ำอีกนั้น โดยปกติเป็นที่เห็นได้แล้วว่าโดยสภาพและชื่อที่เรียกเงินบำเหน็จเป็นเงินต่างประเภทจากค่าชดเชย ทั้งมิได้มีหลักฐานใดแสดงให้เห็นว่า เงินบำเหน็จที่จำเลยทั้งสองจ่ายให้โจทก์ทั้งสองถือได้ว่าเป็นค่าชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน จึงถือไม่ได้ว่าเงินบำเหน็จเป็นค่าชดเชยโจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิเรียกร้องค่าชดเชยจากจำเลยทั้งสองได้

พิพากษายืน

Share