แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์เป็นคู่สัญญาในการซื้อขายโรงสีกับ ป. โจทก์ โอนสิทธิในการเป็นคู่สัญญาในฐานะผู้ซื้อให้แก่จำเลยยอมให้จำเลยไปทำสัญญาซื้อขายโดยตรงกับ ป. แต่มีข้อตกลงกันว่าจำเลยจะชำระเงิน 20,000 บาท ที่โจทก์วางมัดจำไว้กับ ป. คืนให้โจทก์นั้น มิใช่โจทก์โอน กรรมสิทธิ์ในโรงสีให้จำเลย กรรมสิทธิ์ในโรงสียังเป็นของ ป. ถ้าจะมีการโอนกรรมสิทธิ์ก็ต้องมีการโอนระหว่างป. กับจำเลย เงิน 20,000 บาทที่จำเลยจะต้องชำระให้โจทก์ตามข้อตกลงมิใช่ราคาโรงสีที่จำเลยจะได้รับโอนข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญา (ต่างตอบแทน)อย่างหนึ่ง มิใช่สัญญาซื้อขายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 453, 456 จึงไม่จำต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียน ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องให้จำเลยชำระ เงินจำนวนดังกล่าวนั้นตามที่ ตกลงกันไว้ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ซื้อโรงสีจากนายปรีชาราคา 90,000 บาท โจทก์ชำระเงินให้แก่นายปรีชาในวันซื้อขายเป็นเงิน 20,000 บาทส่วนที่เหลือผ่อนชำระเป็น 3 งวด ได้ทำสัญญากันไว้เป็นหลักฐานนายปรีชาได้มอบโรงสีให้โจทก์ โจทก์เข้าดำเนินการได้ประมาณ15 วัน จำเลยได้ตกลงซื้อโรงสีกับโจทก์ในราคา 90,000 บาท จำเลยตกลงว่าจะส่งมอบเงินงวดที่ค้างอยู่ให้กับนายปรีชาเป็นเงิน70,000 บาทแล้วจำเลยจะชำระเงินให้แก่โจทก์ 20,000 บาท การตกลงซื้อขายนี้ไม่ได้ทำหลักฐานเป็นหนังสือ โจทก์มอบโรงสีให้จำเลยเข้าดำเนินการ จำเลยส่งเงินให้นายปรีชา 70,000 บาทโจทก์ทวงเงิน 20,000 บาท จำเลยผัดผ่อนเรื่อยมา ขอให้จำเลยชำระเงินดังกล่าวแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยตกลงซื้อโรงสีจากโจทก์ จำเลยทำสัญญาซื้อขายโรงสีกับนายปรีชาเจ้าของโรงสีโดยตรง การซื้อขายระหว่างโจทก์จำเลยเกินกว่า 500 บาท ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ โรงสีปลูกอยู่ในที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ การซื้อขายต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า เป็นการขายสิทธิที่โจทก์มีอยู่ตามสัญญากับนายปรีชาให้จำเลย ไม่ต้องทำเป็นหนังสือและไม่ต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 ไม่เป็นโมฆะ พิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 20,000 บาทแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า เป็นเพียงสัญญาจะซื้อจะขาย ได้มีการชำระหนี้บางส่วนต่อกัน ไม่จำต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษรก็ฟ้องร้องบังคับกันได้ พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลล่างฟังมาว่า โจทก์ซื้อโรงสีจากนายปรีชาราคา 90,000 บาท ทำสัญญาเป็นหนังสือ จะมีการโอนกรรมสิทธิ์เมื่อชำระเงินครบทุกงวดแล้ว เมื่อโจทก์วางมัดจำ 20,000 บาทให้นายปรีชาแล้วโจทก์ก็เข้าทำการสีข้าว ส่วนเงินที่เหลืออีก 70,000 บาทแบ่งชำระเป็น 3 งวด โจทก์สีข้าวได้ 15 วัน โจทก์จึงขายสิทธิในการซื้อโรงสีให้จำเลย โดยมีข้อตกลงกันว่า เมื่อจำเลยชำระเงินค่างวดครบแล้วต้องชำระเงิน 20,000 บาทที่โจทก์วางไว้กับนายปรีชาคืนให้โจทก์ เมื่อจำเลยวางเงินค่างวดไปบ้างแล้ว นายปรีชาจึงเปลี่ยนสัญญาให้จำเลยเป็นผู้ซื้อ จำเลยชำระเงินให้นายปรีชา 70,000 บาท รวมทั้งเงินมัดจำของโจทก์อีก 20,000 บาท เป็น 90,000 บาทครบถ้วนแล้ว จำเลยยังไม่ชำระเงินมัดจำ 20,000 บาทคืนให้โจทก์ คดีมีปัญหาวินิจฉัยว่าสัญญาดังกล่าวระหว่างโจทก์จำเลยมิได้ทำเป็นหนังสือมีผลทำให้โจทก์มีอำนาจฟ้องเพียงใดหรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นคู่สัญญาซื้อโรงสีกับนายปรีชา แล้วโจทก์โอนสิทธิในการเป็นคู่สัญญาในฐานะผู้ซื้อให้แก่จำเลย ยอมให้จำเลยไปทำสัญญาซื้อขายโดยตรงกับนายปรีชา มีข้อตกลงกันว่า จำเลยยอมชำระเงิน 20,000 บาท ที่โจทก์วางมัดจำไว้กับนายปรีชาคืนให้โจทก์นั้นมิใช่โจทก์โอนกรรมสิทธิ์ในโรงสีให้จำเลย กรรมสิทธิ์ยังเป็นของนายปรีชาอยู่ ถ้าจะโอนกรรมสิทธิ์ก็ต้องโอนกันระหว่างนายปรีชากับจำเลย เงิน 20,000 บาท ที่จำเลยจะต้องชำระให้โจทก์ตามข้อตกลงก็มิใช่ราคาโรงสีที่จำเลยจะได้รับโอน ข้อตกลงระหว่างโจทก์จำเลยเป็นสัญญาอย่างหนึ่งมิใช่สัญญาซื้อขายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 453, 456 จึงไม่ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องให้จำเลยชำระเงิน 20,000 บาทตามที่ตกลงกันนั้นได้
พิพากษายืน