แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24 มิใช่บทบังคับให้ศาลต้องทำการวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายตามคำขอของคู่ความทุกเรื่อง ถ้าเห็นว่าการวินิจฉัยชี้ขาดดังกล่าว ไม่เป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายที่ขอ หรือคดีจำเป็นต้องดำเนินการพิจารณาต่อไป ก็อาจมีคำสั่งให้รอไว้วินิจฉัยในคำพิพากษาได้
ฟ้องเดิมบรรยายว่า ‘จดทะเบียนโอนมาเป็นของโจทก์ เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2520 ตามสำเนาภาพถ่ายเอกสารท้ายฟ้อง’ ปรากฏว่าสำเนาภาพถ่ายเอกสารท้ายฟ้อง จดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดินวันที่ 2 มิถุนายน 2520 โจทก์จึงขอแก้ไขฟ้องก่อนวันชี้สองสถาน เฉพาะวันที่เป็นวันที่ 2มิถุนายน 2520 ให้ตรงกับความจริงเป็นเรื่องการขอแก้ไขความผิดพลาดเล็กน้อยอันเป็นรายละเอียดแห่งคำฟ้องมิใช่ในสารสำคัญ ศาลมีอำนาจอนุญาตให้แก้ไขได้ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180
การที่ศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตให้มีการเผชิญสืบสภาพที่พิพาทภายหลังการสืบพยานจำเลยตามคำขอของโจทก์ ซึ่งได้ยื่นภายหลังโจทก์สืบพยานฝ่ายตนเสร็จแล้ว 1 วัน เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา เมื่อจำเลยมิได้โต้แย้งคัดค้านไว้จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 226(2)
ข้อที่จำเลยไม่ได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินรวม3 โฉนด พร้อมสิ่งปลูกสร้างอาคารไม่สองชั้นสามหลัง กับห้องไม้เล็ก ๆสองชั้นอยู่ติดกัน จำเลยอาศัยอยู่ในห้องไม้เล็ก ๆ ดังกล่าวก่อนแล้วโจทก์บอกให้จำเลยทราบว่าหากโจทก์ต้องการใช้ที่ดินและห้องที่ให้จำเลยอาศัยก็ให้จำเลยออกไป ต่อมาโจทก์ตกลงขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดให้นางวรรณีจึงบอกกล่าวให้จำเลยออกไป จำเลยเพิกเฉยเป็นการละเมิดโจทก์ ทำให้ได้รับความเสียหายไม่ได้รับเงินค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างและต้องเสียค่าเสียหายให้นางวรรณีอีก ขอให้บังคับจำเลยและบริวารขนย้ายออกไปจากที่ดินและห้องพิพาท กับใช้ค่าเสียหายให้โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยมิได้อาศัยอยู่ในห้องไม้สองชั้นตามฟ้องแต่จำเลยเช่าตึกแถวเลขที่ 188 จากนางใหม่ ต่อมานางใหม่ขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่นางสาวกนกรัตน์โดยนางสาวกนกรัตน์ รับโอนสิทธิการเช่าดังกล่าวมาด้วยโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยอาศัยอยู่ในห้องแถวไม้สองชั้นในที่ดินของโจทก์ แต่ที่ดินที่โจทก์ตกลงขายให้นางวรรณีเป็นคนละแปลงกับที่โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลย จำเลยไม่ต้องรับผิดเรื่องค่าเสียหาย พิพากษาขับไล่จำเลย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาว่าศาลชั้นต้นไม่วินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายเรื่องฟ้องโจทก์เคลือบคลุมตามคำขอของจำเลยชอบหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24มิใช่บทบังคับให้ศาลต้องทำการวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายตามคำขอของคู่ความทุกเรื่อง ถ้าศาลเห็นว่าการวินิจฉัยชี้ขาดดังกล่าวไม่เป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายที่ขอหรือคดีจำเป็นต้องดำเนินการพิจารณาต่อไป ก็อาจมีคำสั่งให้รอไว้วินิจฉัยในคำพิพากษาได้
ฟ้องเดิมโจทก์บรรยายว่า “เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์โดยซื้อมาจากนายกัญจน ตั่งทัตสวัสดิ์ เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2520 และจดทะเบียนโอนมาเป็นของโจทก์ เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2520 ตามสำเนาภาพถ่ายเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 8” ปรากฏว่าสำเนาภาพถ่ายเอกสารดังกล่าวเป็นสัญญาซื้อขายที่มีการจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดินเมื่อวันที่ 2มิถุนายน 2520 ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องก่อนวันชี้สองสถานขอแก้ไขเป็นว่าได้ซื้อและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินรวมทั้งสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2520 ให้ถูกต้องตรงกับความจริง ดังนี้เป็นเรื่องของการขอแก้ไขความผิดพลาดเล็กน้อยอันเป็นรายละเอียดแห่งคำฟ้องมิใช่ในสารสำคัญ ศาลมีอำนาจอนุญาตให้แก้ไขได้ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180
โจทก์สืบพยานฝ่ายตนเสร็จในวันที่ 14 เมษายน 2523 วันรุ่งขึ้นโจทก์ยื่นคำแถลงขอให้ศาลออกไปเผชิญสืบสภาพที่พิพาทตามที่โจทก์ระบุอ้างไว้ในบัญชีระบุพยานภายหลังการสืบพยานจำเลย ศาลชั้นต้นพิจารณาคำขอของโจทก์ประกอบคำคัดค้านของจำเลยแล้วสั่งอนุญาตให้มีการเผชิญสืบตามคำขอของโจทก์ คำสั่งเช่นว่านี้เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาจำเลยมิได้โต้แย้งคัดค้านไว้ จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226(2) ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ข้อที่จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ไว้ในคำให้การ เป็นเรื่องนอกประเด็นและเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน