คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3198/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อคำชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานมีผลใช้บังคับ โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างและจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างต้องผูกพันตามคำชี้ขาดนั้นหากนายจ้างประสงค์จะแก้ไขเพิ่มเติมเงื่อนไขในคำชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานต้องยื่นข้อเรียกร้องดำเนินการตามขั้นตอนที่พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ ฯ กำหนดไว้นายจ้างจะดำเนินการไปฝ่ายเดียวโดยลูกจ้างไม่ยินยอมด้วยไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้จ้างโจทก์สองสำนวนเป็นลูกจ้างประจำ เมื่อวันที่13 กุมภาพันธ์ 2524 โจทก์ทั้งสองสำนวนและลูกจ้างอื่นได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อจำเลย เจรจาตกลงกันได้บางข้อและข้อ 9 ได้มีการตั้งผู้ชี้ขาดข้อพิพาทแรงงาน ผู้ชี้ขาดได้ทำคำชี้ขาดว่าให้บริษัทจำเลยจ่ายเงินเบี้ยขยันให้แก่พนักงานผู้ที่ไม่ลากิจ ลาป่วย ขาดงานหรือมาทำงานสายในรอบหนึ่งเดือนเท่ากับค่าจ้างของพนักงานผู้นั้น 1 วัน ถือว่าเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างต่อมาจำเลยไม่จ่ายเบี้ยขยันให้โจทก์ทุกคนในสำนวนแรกที่มาทำงานในเดือนมีนาคม 2525 และไม่จ่ายเบี้ยขยันให้โจทก์สำนวนที่ 2 ที่มาทำงานในเดือนเมษายน 2525 ขอให้จำเลยจ่ายเบี้ยขยันให้โจทก์ทั้งสองสำนวนเท่ากับอัตราค่าจ้างคนละหนึ่งวันตามคำขอท้ายฟ้อง

จำเลยให้การว่า หลักเกณฑ์ในการพิจารณาเบี้ยขยันนอกจากพิจารณาจากการที่ไม่ลากิจ ลาป่วย ขาดงาน หรือมาทำงานสายในรอบเดือนแล้ว ยังต้องพิจารณาการทำงานของพนักงานผู้ที่จะมีสิทธิได้รับเบี้ยขยันอีกด้วยว่ามีความตั้งใจในการทำงาน และมีความพยายามในการที่จะทำงานให้ได้ผลดีหรือไม่อีกด้วย จำเลยได้มอบให้หัวหน้าแผนกเป็นผู้ดูแลรายงานการทำงานของพนักงานที่มีคุณสมบัติครบถ้วนและจะมีสิทธิได้รับเบี้ยขยันเสนอต่อฝ่ายบุคคลของจำเลยเพื่อจะได้อนุมัติจ่ายเบี้ยขยันให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับไปและจำเลยได้จ่ายเบี้ยขยันให้แก่ผู้มีสิทธิรับไปแล้ว

ส่วนโจทก์นั้นเป็นบุคคลซึ่งไม่ได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้รับเบี้ยขยัน โจทก์ทุกคนไม่มีสิทธิได้รับเบี้ยขยันตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง

ในวันนัดพิจารณา โจทก์จำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงว่าพนักงานของจำเลยได้ยื่นข้อเรียกร้องจนเกิดข้อพิพาทขึ้นและได้ตั้งผู้ชี้ขาดข้อพิพาทแรงงาน ผู้ชี้ขาดได้ทำคำชี้ขาดข้อพิพาทแรงงาน ลงวันที่ 14 เมษายน 2524 เกี่ยวกับเบี้ยขยันมีเงื่อนไขตามคำชี้ขาดข้อ 9 เอกสารหมาย ล.1 ตามคำชี้ขาดในข้อ 9 ให้บริษัทจ่ายเงินเบี้ยขยันให้กับพนักงานที่ไม่ลากิจ ลาป่วย ขาดงาน หรือทำงานสายในรอบ 1 เดือนเท่ากับค่าจ้าง 1 วันนับแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2524 เป็นต้นไป จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเบี้ยขยันเพราะลากิจ ลาป่วย ขาดงาน หรือมาทำงานสาย แต่ต่อสู้ว่าจะต้องปรากฏว่า ขยันอีกด้วย แล้วหัวหน้างานจึงจะรายงานให้จำเลยทราบว่าลูกจ้างคนใดมีสิทธิได้รับเบี้ยขยัน และจำเลยได้ประกาศหลักเกณฑ์ในการจ่ายเบี้ยขยันตามเอกสารหมาย ล.1 เท่ากับจำเลยได้อ้างเงื่อนไขในการจ่ายเบี้ยขยันเพิ่มเติมจากคำชี้ขาดข้อ 9 จึงมีปัญหาว่าจำเลยมีสิทธิเพิ่มเติมเงื่อนไขในการจ่ายเบี้ยขยันนอกเหนือไปจากที่ปรากฏในคำชี้ขาดข้อ 9 หรือไม่ ศาลแรงงานกลางเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้แล้ว จึงให้งดสืบพยานโจทก์จำเลยสำหรับโจทก์ที่ 24 ในสำนวนแรกแถลงขอถอนฟ้อง จำเลยไม่คัดค้าน ศาลแรงงานกลางอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่าเอกสารหมาย จ.1 ข้อ 9 เป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างและจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างต้องตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 20 ที่ห้ามมิให้นายจ้างเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเว้นแต่เป็นคุณแก่ลูกจ้างยิ่งกว่า การที่จำเลยได้ประกาศเอกสารหมาย ล.1 เพิ่มเติมข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่เป็นโทษแก่ลูกจ้างหามีผลใช้บังคับไม่ พิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินเบี้ยขยันประจำเดือนมีนาคมให้แก่โจทก์สำนวนแรกคือ โจทก์ที่ 1 ที่ 6 ถึงที่ 12 ที่ 17 ถึงที่ 18 ที่ 21 ถึงที่ 24 คนละ 61 บาท ให้โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 ที่ 13 ที่ 15 ถึงที่ 16 ที่ 19 ถึงที่ 20 คนละ 63 บาท จ่ายเงินเบี้ยขยันประจำเดือนเมษายน 2525 ให้โจทก์สำนวนที่ 2 คือโจทก์ที่ 1 ที่ 5 ที่ 6 ที่ 9 ที่ 11 ที่ 17 ที่ 18 ที่ 20 ถึงที่ 23 คนละ 61 บาท ให้โจทก์ที่ 8 62 บาท โจทก์ที่ 12 63 บาท

จำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ทั้งสองสำนวนเป็นลูกจ้างของจำเลยได้รับค่าจ้างรายวันตามคำฟ้อง เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2524 โจทก์กับพวกได้ยื่นข้อเรียกร้อง โจทก์จำเลยได้เจรจาตกลงกันได้ในบางข้อ ข้อที่ตกลงกันไม่ได้ได้ตกลงกันตั้งผู้ชี้ขาดข้อพิพาทแรงงาน ผู้ชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานได้ทำคำชี้ขาดเกี่ยวกับเบี้ยขยันในคำชี้ขาดเอกสารหมาย จ.1 ข้อ 9 ว่า “บริษัทฯ ยินดีจ่ายเงินเบี้ยขยันให้กับพนักงานทุกคนที่ไม่ลากิจ ลาป่วย ขาดงาน หรือมาทำงานสายในรอบ 1 เดือน เดือนละเท่ากับค่าจ้างของผู้นั้น 1 วันนับแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2524 เป็นต้นไป”ปรากฏว่าจำเลยไม่ยอมจ่ายเบี้ยขยันให้แก่โจทก์สำนวนแรกสำหรับเดือนมีนาคม 2525 และไม่จ่ายเบี้ยขยันให้แก่โจทก์สำนวนที่ 2 สำหรับเดือนเมษายน 2525 โดยจำเลยยอมรับว่าโจทก์ไม่ได้ลากิจ ลาป่วย หรือขาดงาน หรือมาทำงานสายในเดือนนั้น แต่กรณีไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะได้รับเบี้ยขยันเพราะไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามเงื่อนไขของบริษัทจำเลยที่ประกาศใช้บังคับเกี่ยวกับการจ่ายเบี้ยขยัน ลงวันที่ 2 กรกฎาคม 2524 ตามเอกสารหมาย ล.1 ซึ่งมีเงื่อนไขอยู่ 10 ข้อที่ลูกจ้างจะต้องปฏิบัติจึงมีคุณสมบัติได้รับเบี้ยขยัน เช่นต้องแต่งกายเรียบร้อยตามระเบียบของโรงงานที่กำหนดให้ ติดบัตรประจำตัวของตัวเองตลอดเวลาทำงาน ไม่ออกนอกสถานที่ปฏิบัติงานโดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องตั้งใจปฏิบัติงานโดยขยันขันแข็ง ฯลฯ เป็นต้น เมื่อลูกจ้างคนใดปฏิบัติถูกต้องตามเงื่อนไขแล้วหัวหน้างานจึงจะรายงานชื่อของลูกจ้างที่จะได้รับเบี้ยขยัน โจทก์ทั้งสองสำนวนนี้หัวหน้างานมิได้รายงานขึ้นมา จึงไม่จ่ายเบี้ยขยันให้ เห็นว่า ตามคำวินิจฉัยข้อพิพาทแรงงานเอกสารหมาย จ.1 ข้อ 9 กำหนดเงื่อนไขในการจ่ายเบี้ยขยันไว้เพียงว่า “ให้บริษัทฯ จ่ายเบี้ยขยันให้กับพนักงานผู้ที่ไม่ลากิจ ลาป่วย ขาดงาน หรือมาทำงานสายในรอบ 1 เดือนเท่ากับค่าจ้างของพนักงานผู้นั้น 1 วัน นับตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2524 เป็นต้นไป” คำชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานมีผลใช้บังคับซึ่งโจทก์ผู้เป็นลูกจ้างและจำเลยผู้เป็นนายจ้างจะต้องผูกพันตามคำชี้ขาด ผู้ใดที่ปฏิบัติถูกต้องตามข้อ 9 นี้ก็มีสิทธิได้รับเบี้ยขยัน ผู้ใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานก็มีโทษตามมาตรา 131 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 และหากนายจ้างประสงค์จะแก้ไขเพิ่มเติมเงื่อนไขก็ต้องยื่นข้อเรียกร้องดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย นายจ้างจะดำเนินการไปฝ่ายเดียวโดยลูกจ้างไม่ยินยอมด้วยไม่ได้ กรณีจำเลยนี้จำเลยได้เพิ่มเติมเงื่อนไขอื่น ๆ ในการจ่ายเงินเบี้ยขยันปรากฏตามประกาศฯ เอกสารหมาย ล.1 ทำให้ลูกจ้างได้รับเบี้ยขยันยากยิ่งขึ้น ประกาศดังกล่าวย่อมไม่มีผลผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้าง อุทธรณ์จำเลยทั้งสองสำนวนฟังไม่ขึ้น สำหรับโจทก์ที่ 14 ที่ 25 ในสำนวนแรก และโจทก์ที่ 1 ที่ 4 ที่ 7 ที่ 10 ที่ 13 ที่ 14 ที่ 15 ที่ 16 ที่ 19 ในสำนวนที่ 2 ซึ่งศาลแรงงานมิได้พิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินเบี้ยขยันตามที่โจทก์ขอมานั้น โจทก์ดังกล่าวมิได้อุทธรณ์จึงไม่วินิจฉัยให้ ส่วนโจทก์ที่ 24 ในสำนวนแรกขอถอนฟ้องและศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาตแล้ว ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายเบี้ยขยันให้โจทก์ที่ 24 จึงไม่ถูกต้อง

พิพากษาแก้เป็นว่าไม่จ่ายเบี้ยขยันให้โจทก์ที่ 24 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share