คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2825/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คณะกรรมการองค์การโทรศัพท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายกรัฐมนตรีเป็นเพียงผู้วางนโยบายและควบคุมดูแลโดยทั่วไปขององค์การโทรศัพท์ฯจึงไม่มีฐานะเป็นนายจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ฯ ข้อ 2ส่วนกรรมการองค์การโทรศัพท์ ฯ ผู้รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการเป็นผู้บริหารกิจการขององค์การโทรศัพท์ฯ มีอำนาจบังคับบัญชาพนักงาน ถือได้ว่าเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลตามความหมายของกฎหมาย จึงต้องรับผิดต่อลูกจ้างขององค์การโทรศัพท์ ฯ แต่หาต้องรับผิดเป็นส่วนตัวไม่
กฎหมายแรงงานเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับเพื่อจัดระเบียบในการจ้างการใช้แรงงานและแก้ไขข้อขัดแย้งระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง เมื่อมีการเลิกจ้างลูกจ้างรัฐวิสาหกิจโดยไม่เป็นธรรม ศาลแรงงานย่อมมีอำนาจพิจารณาและสั่งโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานฯ ได้มิใช่เป็นการก้าวล่วงเข้าไปในอำนาจของฝ่ายบริหารส่วนมติของคณะรัฐมนตรีเป็นการดำเนินการของฝ่ายบริหารซึ่งเป็นอำนาจของฝ่ายบริหารเท่านั้นไม่อาจใช้บังคับในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งโดยอาศัยอำนาจของกฎหมายได้
หลังจากคณะกรรมการองค์การโทรศัพท์ ฯ มีมติให้ผู้อำนวยการองค์การโทรศัพท์ฯพ้นจากตำแหน่งแล้วจึงได้มีคำเสนอขององค์การโทรศัพท์ ฯเชิญให้เป็นที่ปรึกษาขององค์การโทรศัพท์ฯดังนี้เป็นการเลิกจ้างแล้วหาใช่เป็นการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งหน้าที่ไม่
เมื่อศาลแรงงานเห็นว่านายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยไม่เป็นธรรม แต่ทั้งสองฝ่ายไม่อาจทำงานร่วมกันได้ศาลแรงงานย่อมมีอำนาจที่จะใช้ดุลพินิจไม่สั่งให้ลูกจ้างกลับเข้าทำงานตามที่ลูกจ้างฟ้องขอให้บังคับแต่ให้ชดใช้ค่าเสียหายแทนได้ ไม่เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น
กฎหมายบังคับให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง เมื่อไม่จ่ายต้องถือว่าผิดนัดนับแต่วันเลิกจ้าง จึงต้องเสียดอกเบี้ยนับแต่วันเลิกจ้างอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีส่วนสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายอื่นลูกจ้างฟ้องเรียกให้ชำระพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันเลิกจ้างโดยมิได้ทวงถามก่อน ศาลพิพากษาให้ได้รับชำระดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย จำเลยทั้งแปดเป็นนายจ้างของโจทก์ได้เลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม ไม่บอกกล่าวล่วงหน้าและไม่จ่ายค่าชดเชย ขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งของคณะรัฐมนตรีที่ให้โจทก์ออกจากตำแหน่งและให้รับโจทก์เข้าทำงานในตำแหน่งเดิมค่าจ้างไม่ต่ำกว่าเดิม หากไม่อาจบังคับได้ให้จำเลยทั้งแปดร่วมกันใช้ค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหาย รวมจำนวน 31,898,350 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งแปดให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลแรงงาน การแต่งตั้งและถอนโจทก์กระทำโดยมติของคณะรัฐมนตรีซึ่งเป็นอำนาจสูงสุดของฝ่ายบริหารจึงมิใช่กรณีพิพาททางแรงงานตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน โจทก์ปฏิบัติงานล่าช้าและบกพร่องก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลย จำเลยจึงมีมติให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งผู้อำนวยการโดยสุจริต ถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมาย จำเลยได้เปลี่ยนแปลงตำแหน่งโจทก์ให้สูงขึ้นคือเป็นที่ปรึกษาได้รับเงินเดือนเพิ่มขึ้นแต่โจทก์ไม่ยอมตอบรับตำแหน่งใหม่นี้ โจทก์ไม่เสียหาย ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายรวม 1,043,700 บาทแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8

โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 มีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2497 เป็นผู้ซึ่งร่วมกันพิจารณาตกลงรับโจทก์เข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้างให้ เฉพาะจำเลยที่ 4 ยังเป็นผู้รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการ มีฐานะเป็นตัวแทนจำเลยที่ 1 อีกฐานะหนึ่งด้วย จำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 จึงเป็นนายจ้างตามความหมายของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์ พิเคราะห์แล้วตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 2 ให้คำนิยามคำว่า “นายจ้าง” หมายความว่าผู้ซึ่งตกลงรับลูกจ้างเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้างให้ และหมายความรวมถึงผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำงานแทนนายจ้าง ในกรณีที่นายจ้างเป็นนิติบุคคล หมายความว่าผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลนั้น และหมายความรวมถึงผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำงานแทนผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคล องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยเป็นนิติบุคคล ผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคล จึงมีฐานะเป็นนายจ้างตามความหมายของกฎหมายสำหรับจำเลยที่ 2 นั้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งพระราชบัญญัติองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2497 มาตรา 23 บัญญัติว่าให้มีอำนาจและหน้าที่กำกับโดยทั่วไปซึ่งกิจการขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ส่วนจำเลยที่ 8 เป็นนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าของคณะรัฐมนตรี มีหน้าที่ให้ความเห็นชอบในการดำเนินกิจการที่สำคัญบางประการ และให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งหรือถอดถอนประธานกรรมการและกรรมการขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย สำหรับจำเลยที่ 3 ถึงที่ 7 เป็นคณะกรรมการขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย มีอำนาจและหน้าที่วางนโยบายและควบคุมดูแลโดยทั่วไปซึ่งกิจการขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย กับมีอำนาจแต่งตั้งผู้อำนวยการและให้ออกด้วยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ดังกล่าวนี้เห็นว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 และจำเลยที่ 5 ถึงที่ 8 มิได้เป็นผู้บริหารกิจการขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ที่กำหนดจึงไม่มีฐานะเป็นนายจ้างคงมีเฉพาะพลโทแสวง จามรจันทร์ จำเลยที่ 4 กรรมการคนหนึ่งเท่านั้นซึ่งนอกจากเป็นกรรมการขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยแล้ว ยังเป็นผู้รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการ เป็นผู้บริหารกิจการขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยและมีอำนาจบังคับบัญชาพนักงาน ย่อมถือได้ว่าเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลตามความหมายของกฎหมาย มีฐานะเป็นนายจ้าง จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ในฐานะผู้รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย มิใช่ในฐานะส่วนตัวร่วมกับจำเลยที่ 1 ด้วย

โจทก์อุทธรณ์ว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยอันเป็นการเลิกจ้าง เมื่อการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมก็ชอบที่ศาลแรงงานกลางจะเพิกถอนมติคณะรัฐมนตรีนั้นเสีย ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกคำขอในข้อที่โจทก์ขอให้เพิกถอนมติคณะรัฐมนตรีจึงไม่ชอบ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า กฎหมายแรงงานเป็นกฎหมายที่รัฐตราขึ้นใช้บังคับระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างเพื่อจัดระเบียบในการจ้างและใช้แรงงานและแก้ไขข้อขัดแย้งระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างเมื่อการเลิกจ้างลูกจ้างไม่เป็นธรรม ศาลแรงงานย่อมมีอำนาจอยู่แล้วที่จะสั่งโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มติของคณะรัฐมนตรีนั้นเป็นการดำเนินการของฝ่ายบริหาร ซึ่งเป็นอำนาจของฝ่ายบริหารเท่านั้น ไม่อาจใช้บังคับในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งโดยอาศัยอำนาจของกฎหมายได้ ฉะนั้นที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกคำขอในข้อนี้จึงชอบแล้วอุทธรณ์โจทก์ฟังไม่ขึ้น

โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยอ้างว่าโจทก์หย่อนสมรรถภาพและปฏิบัติงานไม่เรียบร้อย เป็นการเลิกจ้างตามพระราชบัญญัติองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2497 มาตรา 32 อันเป็นเงื่อนไขของการปฏิบัติตามสัญญาจ้างแรงงานอย่างหนึ่ง จำเลยอ้างว่าโจทก์ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขจึงเลิกจ้าง โจทก์จึงมาฟ้องว่าโจทก์มิได้ปฏิบัติผิดเงื่อนไขซึ่งเป็นข้อตกลงในการจ้างโจทก์เข้ามาทำงานในตำแหน่งนี้ ฉะนั้นเมื่อศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าไม่มีเหตุตามมาตรา 32 ที่จะยกขึ้นเป็นข้อเลิกสัญญาได้ จำเลยก็ต้องรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งที่ว่าจ้างตามสัญญา ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยไม่รับโจทก์กลับเข้าทำงาน จึงเป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงนอกประเด็น พิเคราะห์แล้วคดีนี้โจทก์ฟ้องว่าถูกเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมโจทก์ไม่ได้กระทำผิดหรือบกพร่องต่อหน้าที่ หรือหย่อนสมรรถภาพ หรือมีเหตุอันสมควรอื่นใด เห็นว่าเป็นคดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานซึ่งในการพิจารณาคดีแรงงานในกรณีที่โจทก์ถูกเลิกจ้างนั้น พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 ให้เป็นอำนาจของศาลโดยเฉพาะ ถ้าเห็นว่าการเลิกจ้างนั้นไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง ศาลแรงงานจะสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างผู้นั้นกลับเข้าทำงาน แต่ถ้าเห็นว่าลูกจ้างกับนายจ้างไม่อาจทำงานร่วมกันต่อไปได้ ก็ให้ศาลแรงงานกำหนดจำนวนค่าเสียหายให้นายจ้างชดใช้ให้แทน ซึ่งทั้งนี้แล้วแต่ข้อเท็จจริงเป็นเรื่อง ๆ ไป อันเป็นดุลพินิจของศาลที่จะพิจารณาให้ความเป็นธรรมแก่คู่ความ ฉะนั้นที่ศาลแรงงานกลางใช้ดุลพินิจไม่สั่งให้จำเลยที่ 1 รับโจทก์กลับเข้าทำงานแต่ให้ชดใช้ค่าเสียหายแทน จึงไม่ใช่เป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงนอกประเด็นประการใดอุทธรณ์โจทก์ฟังไม่ขึ้น

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า การที่คณะกรรมการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยมีมติให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งผู้อำนวยการ และเชิญโจทก์ให้เป็นที่ปรึกษาของจำเลยที่ 1 โดยให้ได้รับเงินเดือนสูงกว่าเดิม เป็นการเปลี่ยนแปลงตำแหน่ง ไม่ใช่เป็นการเลิกจ้าง โจทก์ไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้อง พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ข้อเสนอของจำเลยที่เชิญโจทก์เป็นที่ปรึกษาขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยจำเลยได้เสนอภายหลังที่ให้โจทก์ออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการตามนัยมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2497 อันถือเป็นการเลิกจ้างแล้ว จึงเป็นการเลิกจ้าง มิใช่เป็นการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งหน้าที่ดังอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า การพิจารณาว่าการเลิกจ้างเป็นธรรมหรือไม่ ต้องพิจารณาว่าการให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งเป็นไปตามขั้นตอนหรือไม่ประการหนึ่ง และมีการกลั่นแกล้งโจทก์หรือไม่อีกประการหนึ่ง ส่วนข้อเท็จจริงที่ว่าโจทก์บกพร่องต่อหน้าที่หรือไม่ หย่อนสมรรถภาพหรือไม่ หรือมีเหตุอันสมควรหรือไม่นั้น เมื่อกฎหมายมอบให้เป็นดุลพินิจของคณะกรรมการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยด้วยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีแล้ว ศาลก็ไม่มีอำนาจก้าวล่วงเข้าไปวินิจฉัยได้ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ถูกเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม ในการพิจารณาว่าการเลิกจ้างเป็นธรรมหรือไม่ มาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 ได้ให้อำนาจศาลที่จะพิจารณาเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความ เป็นดุลพินิจของศาล โดยอาศัยอำนาจของกฎหมาย มิใช่เป็นการก้าวล่วงเข้าไปวินิจฉัยดังจำเลยที่ 1 อุทธรณ์

โจทก์อุทธรณ์ประการสุดท้ายขอให้จำเลยชำระดอกเบี้ยนับแต่วันเลิกจ้างเห็นว่าจำนวนหนี้ที่จำเลยจะต้องชำระให้โจทก์คงมีเฉพาะค่าชดเชยเท่านั้นที่กฎหมายบังคับให้นายจ้างต้องจ่ายให้ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยฯ ข้อ 2 ประกอบด้วยข้อ 46 เมื่อไม่จ่ายให้ย่อมต้องถือว่าผิดนัดนับแต่วันที่เลิกจ้างโดยมิพักต้องเรียกร้องหรือทวงถามค่าชดเชยเป็นหนี้เงิน ฉะนั้นเมื่อผิดนัดก็ต้องเสียดอกเบี้ยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 ในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันเลิกจ้าง ส่วนสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายอื่นนั้นต้องมีการทวงถาม เมื่อไม่ปรากฏว่าทวงถาม จึงให้ได้รับชำระดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้อง

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้องค์การโทรศัพท์ฯ จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 4 ในฐานะผู้รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการร่วมกันจ่ายค่าชดเชยจำนวน 74,550 บาท กับดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จ และจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 24,850 บาท ค่าเสียหายจำนวน 944,300 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จ นอกจากนี้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share