คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 427/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เจ้าพนักงานตำรวจจะดำเนินคดีอาญาเกี่ยวกับภาษีอากรตามประมวลรัษฎากรได้ก็ต่อเมื่อเจ้าพนักงานตามประมวลรัษฎากรซึ่งมีเฉพาะแต่ข้าราชการพลเรือนสามัญสังกัดกรมสรรพากร ร้องขอเท่านั้น หาได้มีข้อยกเว้นให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจับได้โดยไม่ต้องมีหมายจับในกรณีความผิดซึ่งหน้าแต่อย่างใดไม่ ฉะนั้น เมื่อข้อเท็จจริงในคดีนี้ฟังได้เป็นยุติว่าเจ้าพนักงานตามประมวลรัษฎากรมิได้มีคำขอให้ดำเนินคดีแต่อย่างใดเจ้าพนักงานตำรวจซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนย่อมไม่มีอำนาจสอบสวนดำเนินคดีการสอบสวนที่ได้กระทำไปจึงไม่ชอบพนักงานอัยการจึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ (วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 2/2525)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ร่วมกันจัดให้มีมหรสพฉายภาพยนตร์ขึ้นที่โรงภาพยนตร์ของจำเลยที่ 1 แล้วจำเลยได้ร่วมกันจำหน่ายตั๋วให้แก่ผู้ดูภาพยนตร์โดยในตั๋วดังกล่าวไม่ลงวันเดือนปีและกำหนดรอบที่ฉายภาพยนตร์ ไม่ลงเลขที่นั่ง ไม่ได้จัดทำผังที่นั่ง ไม่ทำการฉีกตั๋วในขณะที่รับตั๋วจากผู้ดู ไม่ยอมส่งมอบส่วนของตั๋วที่กำหนดให้มีเลขที่นั่งให้แก่ผู้ดู กับไม่มีภาชนะที่มีฝาปิดตั้งไว้ ณ ที่เปิดเผยหรือใกล้ทางเข้าดู เพื่อแยกเก็บตั๋วอีกส่วนหนึ่งไว้ ทั้งนี้เพื่อนำตั๋วดังกล่าวไปเวียนขายให้แก่ผู้ดูอีก โดยมีเจตนาหลีกเลี่ยงและพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร ขอให้ลงโทษตามประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2481 มาตรา 37,130 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 16) พ.ศ. 2502มาตรา 14 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และขอให้ริบของกลาง

จำเลยให้การปฏิเสธ และต่อสู้ว่าการจับกุม การสอบสวน และการดำเนินคดีนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากมิได้มีคำขอของเจ้าพนักงานตามประมวลรัษฎากรขัดต่อประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 8 ลงวันที่ 7 พฤศจิกายน 2520 ฯลฯ ขอให้ศาลพิพากษายกฟ้อง

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 8 พ.ศ. 2520 ข้อ 2 เจ้าพนักงานตำรวจจะดำเนินคดีอาญาเกี่ยวกับภาษีอากรตามประมวลรัษฎากรได้ก็ต่อเมื่อเจ้าพนักงานตามประมวลรัษฎากรร้องขอเท่านั้นพยานหลักฐานของโจทก์ปรากฏว่า เจ้าพนักงานตามประมวลรัษฎากรมิได้ร้องขอการสอบสวนซึ่งเจ้าพนักงานตำรวจกระทำไปโดยลำพังจึงมิชอบ พนักงานอัยการจึงไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า คำสั่งของคณะปฏิวัติฉบับที่ 8 ลงวันที่ 7 พฤศจิกายน2520 เป็นการห้ามเจ้าพนักงานตำรวจมิให้ดำเนินการเกี่ยวกับภาษีอากรตามประมวลรัษฎากรอย่างเจ้าพนักงานตามประมวลรัษฎากร ซึ่งประมวลรัษฎากรให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานทำการตรวจสอบไต่สวนบุคคลที่มีเหตุเชื่อว่าหลีกเลี่ยงภาษีอากรเท่านั้น ส่วนอำนาจหน้าที่ที่เจ้าพนักงานตำรวจมีอยู่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาอย่างไรก็คงมีอยู่เช่นนั้นมิได้ถูกห้าม โดยเฉพาะเมื่อมีการกระทำผิดซึ่งมีโทษทางอาญาไม่ว่าการกระทำนั้นกฎหมายใดจะบัญญัติเป็นความผิด ถ้าเป็นความผิดซึ่งหน้าแล้ว เจ้าพนักงานตำรวจย่อมมีอำนาจทำการจับกุมสอบสวนดำเนินคดีได้ แต่จะเข้าไปทำการสืบสวนเพื่อดำเนินคดีเองไม่ได้เท่านั้น คดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฏว่าเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานตำรวจพบเห็นการกระทำผิดซึ่งหน้า การจับกุมและการสอบสวนดำเนินคดีจึงชอบด้วยกฎหมาย โจทก์มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาใหม่ตามรูปคดี

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 8 ลงวันที่ 7 พฤศจิกายนพ.ศ. 2520 ข้อ 2 บัญญัติว่า “นับแต่วันที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ใช้บังคับห้ามมิให้เจ้าพนักงานตำรวจดำเนินการเกี่ยวกับภาษีอากรตามประมวลรัษฎากรเว้นแต่การดำเนินคดีอาญาตามคำขอของเจ้าพนักงานตามประมวลรัษฎากร” ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า คำว่า “ดำเนินการเกี่ยวกับภาษีอากร” มีความหมายถึงการดำเนินการในคดีอาญาที่เป็นความผิดตามประมวลรัษฎากรรวมอยู่ด้วย ไม่ได้หมายเฉพาะการดำเนินการอย่างเจ้าพนักงานตามประมวลรัษฎากรเท่านั้น ทั้งนี้เพราะอำนาจในการตรวจสอบการชำระภาษีอากรของเจ้าพนักงานตำรวจก็ต้องอาศัยอำนาจในการสืบสวนสอบสวนคดีอาญานั่นเอง หาได้มีกฎหมายให้อำนาจไว้เป็นพิเศษดังเช่นเจ้าพนักงานตามประมวลรัษฎากรไม่ ทั้งข้อความตอนต่อไปที่ว่า “เว้นแต่การดำเนินคดีอาญาตามคำขอของเจ้าพนักงานตามประมวลรัษฎากร” ก็มีความหมายชัดแจ้งอยู่ในตัวแล้วว่า มีข้อยกเว้นให้เจ้าพนักงานตำรวจดำเนินคดีอาญาในความผิดตามประมวลรัษฎากรได้อยู่กรณีเดียวคือ เมื่อมีคำขอของเจ้าพนักงานตามประมวลรัษฎากรเท่านั้น หาได้มีข้อยกเว้นในกรณีความผิดซึ่งหน้าไว้แต่อย่างใดไม่ และตามมาตรา 5 แห่งประมวลรัษฎากรก็บัญญัติไว้ว่า “ภาษีอากรซึ่งบัญญัติไว้ในลักษณะนี้ให้อยู่ในอำนาจหน้าที่และการควบคุมของกรมสรรพากร” และการที่มีบทลงโทษผู้ฝ่าฝืนไว้ด้วยก็เพื่อให้ได้ผลในการจัดเก็บภาษีอากรนั่นเอง หาใช่เป็นกรณีที่เกี่ยวกับการรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชนโดยทั่ว ๆ ไปซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจโดยตรงไม่ดังนี้ จึงเห็นเจตนารมณ์ของประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ได้ว่า ไม่ประสงค์จะให้เจ้าพนักงานตำรวจเข้ามาดำเนินคดีเกี่ยวกับความผิดตามประมวลรัษฎากรโดยลำพัง หากแต่ประสงค์ให้เจ้าพนักงานตามประมวลรัษฎากรซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงในเรื่องนี้เป็นผู้ใช้ดุลพินิจว่าสมควรจะดำเนินคดีอาญากับผู้ใดหรือไม่ ทั้งนี้แล้วแต่ความจำเป็นในการจัดเก็บภาษีอากรเป็นราย ๆ ไป และเพื่อขจัดภาระของพ่อค้าประชาชนที่จะต้องชี้แจงแสดงหลักฐานต่อเจ้าหน้าที่หลายฝ่าย ดังคำปรารภในตนต้นแห่งประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้นั่นเอง

โดยเฉพาะในกรณีที่เกี่ยวกับอากรมหรสพ ประมวลรัษฎากร มาตรา 140 วรรคแรกบัญญัติว่า “ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าไปในสถานที่มหรสพได้เท่าที่จำเป็น เพื่อตรวจสอบการปฏิบัติตามบทบัญญัติในหมวดนี้” และวรรคสองบัญญัติว่า “นอกจากพนักงานเจ้าหน้าที่ตามความในวรรคก่อน พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจมีอำนาจเข้าไปในสถานที่มหรสพเพื่อตรวจตรารักษาความสงบเรียบร้อยได้เท่าที่จำเป็น” คำว่า “พนักงานเจ้าหน้าที่” มาตรา 130 ให้นิยามไว้ว่า หมายความถึงเจ้าพนักงานซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้ง ซึ่งปรากฏตามประกาศกระทรวงการคลังฯ ว่า มีเฉพาะข้าราชการพลเรือนสามัญสังกัดกรมสรรพากรเท่านั้น หาได้แต่งตั้งเจ้าพนักงานตำรวจไว้ด้วยไม่ ดังนี้ จะเห็นได้ว่าแม้จะยังไม่มีประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ออกมา ตามบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากรที่มีอยู่เดิมก็ไม่ประสงค์จะให้เจ้าพนักงานตำรวจเข้าไปเกี่ยวข้องในเรื่องเกี่ยวกับอากรมหรสพอยู่แล้ว ฉะนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่าเจ้าพนักงานตามประมวลรัษฎากรมิได้มีคำขอให้ดำเนินคดีเรื่องนี้แต่อย่างใดแล้วเจ้าพนักงานตำรวจซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนย่อมไม่มีอำนาจสอบสวนดำเนินคดีการสอบสวนที่ได้กระทำไปนั้นจึงไม่ชอบ พนักงานอัยการจึงไม่มีอำนาจฟ้อง

พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ยกฟ้องโจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share