คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3235/2516

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145(1) บัญญัติว่า คำสั่งเรื่องล้มละลายอาจใช้ยันบุคคลภายนอกได้นั้น ต้องพิจารณาประกอบกับพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 28 ซึ่งบัญญัติให้มีการประกาศโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ในหนังสือราชกิจจานุเบกษา และในหนังสือพิมพ์รายวันอย่างน้อยหนึ่งฉบับ ในมาตรานี้มิได้บัญญัติไว้ด้วยว่า เมื่อได้มีการประกาศโฆษณาดังกล่าวแล้วให้ถือว่าบุคคลภายนอกทุกคนต้องทราบ จึงจะถือว่าบุคคลภายนอกที่ไม่ทราบ ได้ทราบคำสั่งนั้นแล้ว ย่อมไม่เป็นธรรม แต่ตามเจตนารมณ์ของบทบัญญัติมาตรานี้อนุมานได้ว่าประสงค์จะให้การประกาศโฆษณาในหนังสือราชกิจจานุเบกษาเป็นข้อสันนิษฐานเบื้องต้นว่า บุคคลภายนอกทราบคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดที่ได้ประกาศโฆษณานั้นแล้ว ฉะนั้น เมื่อผู้ใดอ้างว่าตนไม่ทราบก็ย่อมนำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานนี้ได้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ส่งประกาศคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดจำเลยซึ่งเป็นข้าราชการกรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง ไปให้กระทรวงการคลังทราบ โดยระบุว่ามีอาชีพค้าขายหัวหน้ากองกลางผู้ได้รับประกาศนั้นไม่รู้จักจำเลย จึงได้สั่งให้รวมเก็บ และทางปฏิบัติเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ส่งประกาศเกี่ยวกับลูกหนี้ถูกพิทักษ์ทรัพย์ไปให้กระทรวงการคลังทุกราย ไม่ว่าลูกหนี้นั้นจะเป็นข้าราชการหรือไม่ ในพฤติการณ์ดังกล่าว กรมสรรพสามิตและกระทรวงการคลังอาจนำสืบแสดงว่าตนไม่ทราบคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดนั้นได้
กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง ได้จ่ายเงินสะสมพร้อมด้วยดอกเบี้ยให้แก่จำเลยซึ่งลาออกจากราชการไป โดยไม่ทราบว่าจำเลยถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดก่อนวันจ่ายเงิน ย่อมต้องถือว่าเป็นการชำระหนี้โดยสุจริต จึงไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ดังกล่าวอีกครั้งหนึ่งให้แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ (วรรคแรกและวรรคสอง วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 30/2516)

ย่อยาว

กรณีสืบเนื่องจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยทั้งสองเด็ดขาดเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้มีหนังสือถึงกระทรวงการคลังและกรมสรรพสามิต ให้ส่งเงินซึ่งจำเลยที่ 2 มีสิทธิได้รับ ไปให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เพื่อรวบรวมไว้ในกองทรัพย์สินของลูกหนี้

กระทรวงการคลังและกรมสรรพสามิตยื่นคำร้องคัดค้านว่ากรมสรรพสามิตได้ชำระเงินอันเป็นเงินสะสมของจำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 2 ไปโดยถูกต้องและชอบด้วยระเบียบของกระทรวงการคลังแล้วกระทรวงการคลังและกรมสรรพสามิตไม่ทราบมาก่อนว่า จำเลยที่ 2 ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด และเงินสะสมเป็นเงินเดือนส่วนหนึ่งของจำเลยที่ 2 ไม่อาจถูกยึดได้ตามกฎหมาย ขอให้จำหน่ายกระทรวงการคลังและกรมสรรพสามิตออกจากบัญชีลูกหนี้

เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 2 ร้องคัดค้านว่า ศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 2 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ส่งประกาศคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์นั้นไปยังกระทรวงการคลังแล้ว ทั้งคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดก็ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว การที่กระทรวงการคลังและกรมสรรพสามิตจ่ายเงินให้จำเลยที่ 2 ไปเป็นการจ่ายภายหลังที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดลูกหนี้ จึงต้องรับผิดคืนเงินดังกล่าวให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจยึดเงินเดือนและเงินสะสมได้

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้จำหน่ายกระทรวงการคลังกับกรมสรรพสามิตจากบัญชีลูกหนี้

เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 2 เป็นข้าราชการสังกัดกรมสรรพสามิตกระทรวงการคลัง ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2513 ได้ขอลาออกจากราชการและได้รับคำสั่งอนุญาตให้ลาออกได้ จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอรับเงินสะสมพร้อมด้วยดอกเบี้ยจำนวน 7,744.66 บาท เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2513 กรมสรรพสามิตได้วางฎีกาเบิกเงินจำนวนดังกล่าวต่อกรมบัญชีกลางกระทรวงการคลังทางกรมบัญชีกลางได้สั่งจ่ายโอนเงินจำนวนนี้เข้าบัญชีเงินฝากของกรมสรรพสามิตเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2513 จำเลยที่ 2 ได้รับเงินจำนวนนี้ไปเมื่อวันที่ 30 เดือนเดียวกันก่อนจำเลยที่ 2 รับเงินไป เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ส่งประกาศคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดของจำเลยที่ 2 ไปยังกระทรวงการคลัง โดยระบุในประกาศว่าจำเลยที่ 2 มีอาชีพค้าขาย ทั้งได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2513 แต่ผู้ร้องคัดค้านทั้งสองเพิ่งได้รับหนังสือราชกิจจานุเบกษาภายหลังวันที่ 1 พฤศจิกายน 2513

ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยมี 2 ประเด็น ตามฎีกาของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์

ประเด็นข้อแรกคือ เมื่อได้มีการประกาศโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในหนังสือราชกิจจานุเบกษาแล้ว ผู้ร้องคัดค้านจะอ้างว่าตนไม่ทราบได้หรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 145(1) บัญญัติว่า คำสั่งเรื่องล้มละลายอาจใช้ยันบุคคลภายนอกได้นั้น ต้องพิจารณาประกอบกับพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 28 ซึ่งบัญญัติให้มีการประกาศโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ในหนังสือราชกิจจานุเบกษา และในหนังสือพิมพ์รายวันอย่างน้อยหนึ่งฉบับ แต่มาตรานี้ก็มิได้บัญญัติไว้ด้วยว่า เมื่อได้มีการประกาศโฆษณาดังกล่าวแล้วให้ถือว่าบุคคลภายนอกทุกคนต้องทราบคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์นั้น การที่จะให้บุคคลซึ่งเป็นลูกหนี้ของลูกหนี้ผู้ถูกพิทักษ์ทรัพย์ต้องรับผิดชำระหนี้ให้แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อีกครั้งหนึ่ง เพราะไม่ทราบคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดที่ได้โฆษณาแล้วจริง ๆ และได้ชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ผู้ถูกพิทักษ์ทรัพย์ไปแล้วนั้น ย่อมไม่เป็นธรรม แต่ในขณะเดียวกันเมื่อได้มีการประกาศโฆษณาในหนังสือราชกิจจานุเบกษาแล้ว จะถือว่าไม่มีผลในทางที่จะให้บุคคลภายนอกทราบเสียเลยนั้นก็หาเป็นการถูกต้องไม่เมื่อพิเคราะห์บทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 28 แล้ว ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า แม้บทบัญญัติมาตรานี้มิได้ระบุถึงผลของการประกาศโฆษณาโดยแจ้งชัดแต่ตามเจตนารมณ์ของบทบัญญัตินี้ อนุมานได้ว่าประสงค์จะให้การประกาศโฆษณาในหนังสือราชกิจจานุเบกษาเป็นข้อสันนิษฐานเบื้องต้นว่า บุคคลภายนอกทราบคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดที่ประกาศโฆษณาแล้วนั้น เมื่อผู้ร้องคัดค้านร้องว่าตนไม่ทราบ ย่อมนำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานนี้ได้

ประเด็นข้อสอง เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฎีกาว่า ตนได้ส่งประกาศคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดจำเลยที่ 2 ไปให้กระทรวงการคลังทราบแล้ว โดยเจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังได้ลงนามรับทราบประกาศฉบับนี้ตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2513 อันเป็นเวลาก่อนที่กรมสรรพสามิตจ่ายเงินให้แก่จำเลยที่ 2 ผู้ร้องคัดค้านได้ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง จะอ้างว่าตนไม่ทราบประกาศไม่ได้ผู้ร้องคัดค้านแก้ฎีกาว่าตนไม่ได้ประมาทเลินเล่อ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เองต่างหากที่เป็นฝ่ายประมาทเลินเล่อที่แจ้งไปว่าจำเลยที่ 2 มีอาชีพค้าขาย และนำสืบว่า เมื่อหัวหน้ากองกลางสำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง ได้รับประกาศคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดจำเลยที่ 2 แล้ว ก็สั่งให้รวมเก็บประกาศนั้นเสียเพราะไม่เคยรู้จักจำเลยที่ 2 ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่าในพฤติการณ์ดังกล่าว ผู้ร้องคัดค้านอาจนำสืบแสดงว่าตนไม่ทราบคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดนี้ได้ตามข้อเท็จจริงที่ฟังได้นั้นกระทรวงการคลังเป็นกระทรวงใหญ่มีข้อราชการในสังกัดเป็นจำนวนมากและในทางปฏิบัติ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็ได้ส่งประกาศเกี่ยวกับลูกหนี้ถูกพิทักษ์ทรัพย์ไปให้กระทรวงการคลังทุกราย ไม่ว่าลูกหนี้นั้นจะเป็นข้าราชการหรือไม่ แม้ว่าจะมีการระบุชื่อจำเลยที่ 2 ในประกาศแจ้งเรื่องพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดไปให้ผู้ร้องคัดค้านทราบก็ตาม ประกาศนั้นก็มีลักษณะเป็นเพียงแจ้งเรื่องให้สาธารณชนทราบเท่านั้น ยิ่งในประกาศฉบับดังกล่าวระบุว่าจำเลยที่ 2 มีอาชีพค้าขายด้วยแล้ว จะถือว่ากระทรวงการคลังต้องทราบว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นข้าราชการสังกัดกรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดยังไม่ได้

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ร้องคัดค้านไม่ทราบจริง ๆ ว่าจำเลยที่ 2 ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดก่อนวันที่ 30 ตุลาคม 2513 อันเป็นวันที่ผู้ร้องคัดค้านจ่ายเงินสะสมพร้อมด้วยดอกเบี้ยรายพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ไป ย่อมต้องถือว่าผู้ร้องคัดค้านได้ชำระหนี้รายพิพาทไปโดยสุจริตแล้ว ผู้ร้องคัดค้านไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ดังกล่าวอีกครั้งหนึ่งให้แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์

พิพากษายืน

Share