แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
มาตรา 38 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475ที่บัญญัติให้ผู้รับประเมินชำระค่าภาษีแก่กรมการอำเภอแห่งท้องที่ซึ่งทรัพย์นั้นตั้งอยู่ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งความการประเมินนั้น เป็นหลักปฏิบัติเบื้องต้นสำหรับผู้รับประเมินจะไปชำระได้ที่ไหนเมื่อใดเท่านั้นหาใช่เป็นบทบังคับเด็ดขาดว่าจะต้องชำระค่าภาษีตามการประเมินเบื้องต้นเสมอไป เพราะตามมาตรา 25 และมาตรา 26 บัญญัติให้โอกาสแก่ผู้รับประเมินที่ไม่พอใจการประเมินเบื้องต้นร้องขอไปยังผู้มีอำนาจชี้ขาดการประเมินได้ภายในกำหนด 15 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งความการประเมินเพื่อให้มีการพิจารณาการประเมินนั้นใหม่ ทั้งค่าภาษีที่มิได้ชำระภายในเวลาที่กำหนดไว้ในมาตรา 38 นั้น ตามมาตรา 42 บัญญัติให้ถือว่าเป็นเงินค่าภาษีค้างชำระอันจะต้องเสียเงินเพิ่มตามอัตราที่กำหนดไว้ในมาตรา 43 และอาจถูกบังคับคดียึดทรัพย์ขายทอดตลาดโดยพนักงานเก็บภาษีตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 44 ต่อไปด้วย การไม่ชำระภาษีตามมาตรา 38 กฎหมายมิได้ถือเป็นการตัดสิทธิผู้รับประเมินในการฟ้องร้องคดีเพื่อโต้แย้งการประเมินภาษีแต่ประการใด
วันที่ 5 สิงหาคม 2508 โจทก์ได้รับใบแจ้งการประเมินภาษีจากจำเลยให้นำค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินไปชำระให้จำเลย โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ประเมินภาษีใหม่เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2508 ต่อมาวันที่ 21 พฤษภาคม2512 โจทก์ได้รับคำชี้ขาดจากจำเลยให้โจทก์เสียภาษีเท่าที่ประเมินไว้เดิมโจทก์จึงนำภาษีกับเงินเพิ่มอีกร้อยละสิบไปชำระให้จำเลยเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2512 แล้ววันรุ่งขึ้นโจทก์จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลเพื่อแสดงว่าการประเมินภาษีไม่ถูกต้อง ดังนี้ ฟ้องของโจทก์ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 31 เพราะโจทก์ได้ฟ้องภายใน 30 วันนับแต่วันรับแจ้งความให้ทราบคำชี้ขาดและฟ้องของโจทก์ไม่เป็นการต้องห้ามมิให้ศาลประทับเป็นฟ้องตามมาตรา 39 เพราะก่อนฟ้องโจทก์ชำระค่าภาษีทั้งสิ้นเสร็จแล้ว ทั้งนี้ ไม่จำต้องคำนึงว่าหนี้ค่าภาษีถึงกำหนดชำระหรือเลยกำหนดชำระขณะฟ้องหรือยัง
จำเลยประเมินภาษีจากรายได้ค่าเช่าห้องพักตามแบบ ภ.ร.ด.2ของโจทก์ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้รับประเมินจะต้องกรอกรายการตามความเป็นจริง ตามความในมาตรา 20 เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่มิได้สั่งการให้แก้ไขรายการเป็นอย่างอื่น ก็ต้องถือว่าเป็นจำนวนค่าเช่าสุทธิสำหรับการประเมินภาษีเพราะตามมาตรา 8 บัญญัติว่า ถ้าทรัพย์สินนั้นให้เช่าท่านว่า ค่าเช่านั้นเป็นหลักคำนวณค่ารายปี ฉะนั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอลดค่าภาษี ลงโดยอาศัยเทียบเคียงเสมอกับโรงแรมอื่นแต่อย่างใดจะฟังว่าการประเมินภาษีของจำเลยไม่เป็นการถูกต้องหาได้ไม่ จึงไม่มีเหตุที่ศาลจะตัดสินลดภาษีให้โจทก์ได้ (ฟ้องต้องห้ามตามมาตรา 39 หรือไม่วินิจฉัยโดยมติที่ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 23/2516)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของอาคารในเขตเทศบาลเมืองนครราชสีมา รวม 6 อาคาร ได้ยื่นรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปี พ.ศ. 2505 ถึง 2508 รวม 4 ปี ต่อมาเดือนสิงหาคม 2508 จำเลยสั่งให้โจทก์เสียค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินของอาคารต่าง ๆ ทั้ง 4 ปี รวมค่ารายปีของอาคารเลขที่ 1674/1 ซึ่งดำเนินกิจการโรงแรมไม่ถูกต้องตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา 8 ผู้แทนโจทก์จึงยื่นอุทธรณ์คำสั่งให้นายกเทศมนตรีเมืองนครราชสีมาประเมินภาษีใหม่เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2508 ภายในกำหนด 15 วันแล้ว ต่อมาเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2512โจทก์ได้รับคำชี้ขาดให้โจทก์เสียค่าภาษีเท่าเดิมทั้ง 4 ปี โจทก์ได้นำเงินค่าภาษีจำนวน 145,898.14 บาท กับเงินเพิ่มร้อยละสิบอีก 14,589.82 บาท รวมเป็นเงิน 160,487.96 บาท ไปชำระให้จำเลยเสร็จสิ้นแล้วแต่วันที่ 18 มิถุนายน 2512 ค่ารายปีกับค่าภาษีที่ถูกต้องทั้ง 4 ปีเป็นค่ารายปี 284,900 บาท ค่าภาษี 35,612.50 บาท รวมค่าภาษีและเงินเพิ่ม 39,172.75 บาท โจทก์จึงชำระเกินความจริงไป 121,314.21 บาท จึงขอให้ศาลบังคับจำเลยคืนเงินดังกล่าวให้โจทก์
จำเลยให้การต่อสู้ข้อกฎหมายว่า โจทก์ได้รับแจ้งการประเมิน เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2508 ให้นำค่าภาษีทั้ง 4 ปี รวม 145,898.14 บาทไปชำระให้จำเลย ซึ่งโจทก์จะต้องชำระภายใน 90 วัน ตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา 38 โจทก์กลับชำระให้จำเลยเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2512 เกินเวลาที่กฎหมายกำหนด คดีจึงต้องห้ามมิให้ศาลประทับฟ้องตามมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว และต่อสู้ข้อเท็จจริงว่า การประเมินเหมาะสมเป็นไปตามความจริงและถูกต้องแล้ว
วันชี้สองสถาน ศาลชั้นต้นเห็นว่าคงมีประเด็นข้อโต้เถียงกัน เฉพาะอาคารเลขที่ 1674/1 ว่า ควรคิดค่ารายปี 4 ปี ๆ ละเท่าใด ส่วนอาคารอื่น ๆ ไม่มีข้อโต้เถียงกัน
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนฯมาตรา 38 ให้ผู้รับประเมินชำระค่าภาษีภายใน 90 วัน นับแต่วันได้รับแจ้งความการประเมินนั้น หมายความถึงการประเมินโดยจำนวนถูกต้อง คดีนี้ โจทก์ชำระค่าภาษีครบถ้วนแล้วเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2512 อันเป็นระยะเวลาภายใน 90 วันตามมาตรา 38 แล้วฟ้องโจทก์จึงไม่ต้องห้ามตามมาตรา 39 ส่วนค่ารายปีของโรงแรมพิพาททั้ง 4 ปี ควรคิดเป็นเงินรวม245,100 บาท คิดเป็นภาษีร้อยละ 12 ครึ่ง กับเงินเพิ่มอีกร้อยละ 10 เป็น ค่าภาษีทั้งสิ้นที่โจทก์ต้องเสีย 33,701.25 บาท ซึ่งมากกว่าที่โจทก์คำนวณมาในฟ้อง พิพากษาให้จำเลยคืนเงินจำนวน 111,262.96 บาทแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า การชำระค่าภาษีใน 90 วัน ตามมาตรา 38น่าจะแปลว่านับแต่วันที่ได้รับคำชี้ขาดแล้ว คดีนี้นับแต่วันที่คำสั่งชี้ขาดการประเมินภาษีถึงวันที่โจทก์ชำระภาษีทั้งสิ้นแล้วอยู่ภายใน 90 วันตามมาตรา 38 คดีโจทก์จึงไม่ต้องห้ามมิให้ศาลประทับฟ้องตามมาตรา 39 ส่วนค่ารายปีของโรงแรมพิพาท เห็นพ้องกับศาลชั้นต้น พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่า เมื่อโจทก์ได้ยื่นรายการเพื่อเสียภาษีที่ดินและโรงเรือนพิพาทแล้ว ต่อมาวันที่ 5 สิงหาคม 2508 โจทก์ได้รับใบแจ้งการประเมินภาษีจากจำเลยให้นำค่าภาษีทั้งหมดรวม 145,989.14 บาทไปชำระให้จำเลย โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ประเมินภาษีใหม่เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2508 ต่อมาวันที่ 21 พฤษภาคม 2512 โจทก์ได้รับคำชี้ขาดลงวันที่ 20 เดือนเดียวกันจากจำเลยให้โจทก์เสียภาษีเท่าที่ประเมินไว้เดิม โจทก์จึงนำเงินค่าภาษี 145,898.14 บาท กับเงินเพิ่มอีกร้อยละสิบ รวมเป็นเงิน 160,487.96 บาท ไปชำระให้จำเลยเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2512 แล้วรุ่งขึ้นโจทก์ก็ยื่นฟ้องคดีนี้
ในปัญหาข้อกฎหมายว่า โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ได้หรือไม่
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นผู้รับประเมิน จึงเป็นบุคคลผู้พึงชำระภาษีตามที่พนักงานเก็บภาษีแจ้งรายการประเมิน (ภ.ร.ด.8) ไปให้ทราบตามมาตรา 24 ส่วนการชำระค่าภาษีตามมาตรา 38 เป็นหลักปฏิบัติเบื้องต้นสำหรับผู้รับประเมิน จะไปชำระได้ที่ไหน เมื่อใด เท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องของการเก็บภาษีในกรณีธรรมดาทั่วไป หาใช่เป็นบทบังคับเด็ดขาดว่าจะต้องชำระค่าภาษีตามการประเมินเบื้องต้นเสมอไป เพราะตามมาตรา 25 และมาตรา 26 บัญญัติให้โอกาสแก่ผู้รับประเมินที่ไม่พอใจการประเมินเบื้องต้นร้องขอไปยังผู้มีอำนาจชี้ขาดการประเมินได้ภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งความการประเมินเพื่อให้มีการพิจารณาชี้ขาดการประเมินเสียใหม่ประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งค่าภาษีที่มิได้ชำระภายในเวลาที่ได้กำหนดไว้ในมาตรา 38 นั้น ตามมาตรา 42 บัญญัติให้ถือว่าเป็นค่าภาษีค้างชำระอันจะต้องเสียเงินเพิ่มเป็นอัตราตั้งแต่ร้อยละสองครึ่งจนถึงร้อยละสิบของเงินภาษีที่ค้างแล้วแต่ระยะเวลาค้างชำระสั้นยาวเพียงใด รวมทั้งอาจถูกบังคับคดียึดทรัพย์ขายทอดตลาดโดยพนักงานเก็บภาษี เพื่อเอาเงินมาเสียภาษีตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 43, 44 ต่อไปด้วย เห็นได้ชัดว่า การไม่ชำระค่าภาษีตามมาตรา 38 กฎหมายมิได้ถือเป็นการตัดสิทธิผู้รับประเมินในการฟ้องร้องคดีเพื่อโต้แย้งการประเมินภาษีแต่ประการใด
ปัจจัยสำคัญอันก่อให้เกิดสิทธิฟ้องร้องคัดค้านการประเมินภาษีคงขึ้นอยู่กับความในมาตรา 31 กับมาตรา 39 เท่านั้น โจทก์ฟ้องคดีนี้ว่าจำเลยประเมินภาษีไม่ถูก หลังจากวันได้รับคำชี้ขาดตามใบแจ้งคำชี้ขาดเอกสารหมาย จ.64 ถึง จ.67 เป็นเวลา 28 วัน ฟ้องจึงไม่ต้องห้ามตามมาตรา 31 กรณีเช่นนี้จะเป็นฟ้องอันศาลพึงปฏิเสธไม่รับไว้พิจารณาตามมาตรา 39 มิได้ เพราะก่อนฟ้องโจทก์ชำระค่าภาษีทั้งสิ้นเสร็จแล้ว ศาลมีหน้าที่ต้องรับฟ้องไว้ทางเดียวเท่านั้น โดยไม่จำต้องคำนึงว่า หนี้ค่าภาษีถึงกำหนดหรือเลยกำหนดชำระขณะฟ้องหรือยัง หรืออีกนัยหนึ่งต้องถือว่าฟ้องโจทก์ไม่เป็นการต้องห้ามมิให้ประทับฟ้องตามมาตรา 39 แต่ประการใด ตรงข้ามกรณีดังนี้หากศาลไม่รับฟ้องก็น่าจะขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายมากกว่า เท่ากับเป็นการไม่ให้โอกาสโจทก์ใช้สิทธิทางศาลด้วยความชอบธรรม ส่วนข้อความที่พาดพิงถึงมาตรา 38 ในประโยคที่ว่า “เพราะเวลาซึ่งท่านให้ไว้ตามมาตรา 38 นั้น ได้สิ้นไปแล้ว ย่อมหมายถึงว่าระยะเวลา 90 วัน ได้ผ่านพ้นไปโดยยังไม่มีการชำระค่าภาษีตามการประเมินเบื้องต้นนั่นเอง เพราะที่ถูกนั้นเมื่อยังไม่ได้ชำระค่าภาษีตามมาตรา 38 ก็เป็นเรื่องเงินภาษีค้างชำระไปซึ่งตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 ไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการทุเลาการชำระภาษีไว้เลย ถ้าหากเป็นกรณีที่ยังไม่พ้นกำหนดชำระค่าภาษีขณะฟ้องก็ต้องชำระค่าภาษีเสียก่อนฟ้องเช่นเดียวกันแสดงชัดว่ากฎหมายไม่ได้ถือเอาการชำระค่าภาษีตามมาตรา 38 เป็นข้อสารสำคัญแต่อย่างใด เพราะฉะนั้นเมื่อโจทก์มาขอปลดเปลื้องทุกข์ต่อศาลในเรื่องการประเมินภาษีโดยได้ชำระค่าภาษีจนครบถ้วนตามคำชี้ขาดของจำเลยก่อนฟ้องแล้ว ซึ่งย่อมเป็นการประกันการเก็บภาษีมิให้ตกเรี่ยเสียหายอยู่ในตัวเช่นนี้ ศาลจึงจำต้องรับฟ้องของโจทก์ไว้เพื่อชี้ขาดต่อไปว่าการประเมินภาษีไม่ถูกจริงหรือไม่
ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า ศาลไม่ควรลดค่าภาษีทั้ง 4 ปีให้โจทก์นั้นศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยประเมินภาษีจากรายได้ค่าเช่าห้องพักตามแบบ ภ.ร.ด.2 ของโจทก์ ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้รับประเมินจะต้องกรอกรายการตามความเป็นจริงตามความในมาตรา 20 เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่มิได้สั่งการให้แก้ไขรายการเป็นอย่างอื่น ก็ต้องถือว่าเป็นจำนวนค่าเช่าสุทธิสำหรับการประเมินภาษี เพราะตามมาตรา 8 บัญญัติว่า “ถ้าทรัพย์สินนั้นให้เช่า ท่านว่าค่าเช่านั้นเป็นหลักคำนวณค่ารายปี” ฉะนั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอลดค่าภาษีลงโดยอาศัยเทียบเคียงเสมอกับโรงแรมอื่นแต่อย่างใด จะฟังว่าการประเมินภาษีของจำเลยไม่เป็นการถูกต้องหาได้ไม่ ไม่มีเหตุที่ศาลจะตัดสินลดภาษีให้โจทก์ได้
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์