แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยบังอาจพยายามขนสินค้าผ่านเขตแดนทางบกออกนอกราชอาณาจักรเข้าไปในเขตประเทศกัมพูชานอกทางอนุมัติแต่ถูกพนักงานเจ้าหน้าที่ขัดขวางจับกุมเสียก่อน ซึ่งเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2480 มาตรา 5 อันมีบทลงโทษตามมาตรา 10 มาตรา 10 นี้ บัญญัติว่า ผู้ฝ่าฝืนมาตรา 5 ต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 จึงเห็นได้ว่ามาตรา 10 ดังกล่าวนั้นโยงไปให้เอาโทษในพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 มาใช้บังคับเมื่อจำเลยกระทำผิดโดยฝ่าฝืนมาตรา 5,10 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 7) ซึ่งการพยายามกระทำความผิดตามมาตรา 5 ก็มีโทษเช่นเดียวกับการกระทำผิดสำเร็จ ศาลก็ลงโทษตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ได้เต็มตามที่มาตรา 10 ให้โยงมาใช้ แม้โจทก์จะได้อ้างมาตรา 80 แห่งประมวลกฎหมายอาญามาด้วยก็จะถือว่าโจทก์ประสงค์จะให้ลงโทษเพียงฐานพยายาม คือสองในสามของโทษสำหรับความผิดสำเร็จหาได้ไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้บังอาจขนผงชูรสตราหม้อหูจำนวน 100 ถุงหนัก 100 กิโลกรัม ราคา 3,000 บาท อันเป็นสินค้าที่ไม่ต้องเสียอากรเข้าไปและขนในท้องที่ตลาดป่าไผ่ ซึ่งเป็นบริเวณพิเศษในเขตควบคุมศุลกากรดังกล่าวข้างต้น ทั้งนี้ โดยจำเลยไม่มีใบอนุญาตขนซึ่งพนักงานศุลกากรได้ออกให้ อันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย และจำเลยได้บังอาจทำการขนสินค้าดังกล่าวข้างต้นผ่านเขตแดนทางบกออกนอกราชอาณาจักรไทยเข้าไปในเขตประเทศกัมพูชานอกทางอนุมัติ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกำหนดไว้ในกฎกระทรวงอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายซึ่งจำเลยได้ลงมือกระทำความผิดแล้ว แต่กระทำไปไม่ตลอด เพราะพนักงานเจ้าหน้าที่เข้าขัดขวางจับกุมได้ทันท่วงที ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ฯลฯ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80
จำเลยให้การรับสารภาพในข้อหาขนสินค้าเข้าไปและขนภายในบริเวณพิเศษในเขตควบคุมศุลกากร โดยไม่รับอนุญาต ส่วนข้อหาพยายามส่งของผ่านเขตแดนทางบกออกนอกราชอาณาจักรนอกทางอนุมัติ ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นฟังว่า จำเลยได้ทำผิดข้อหาพยายามส่งของผ่านเขตแดนทางบกออกนอกราชอาณาจักรนอกทางอนุมัติด้วย พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้อง จำคุก 6 เดือน และปรับ 4 เท่าราคาของเป็นเงิน12,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ภายใน 2 ปี
จำเลยอุทธรณ์ว่า ไม่ได้กระทำผิดข้อหาพยายามส่งของผ่านเขตแดนทางบกออกนอกราชอาณาจักรนอกทางอนุมัติ
ศาลอุทธรณ์เห็นชอบด้วยที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยในข้อหาพยายามนำสินค้าออกนอกราชอาณาจักรนอกทางอนุมัติ แต่เห็นว่า ที่ศาลชั้นต้นกำหนดโทษจำเลยมานั้น คลาดเคลื่อน เพราะโจทก์ขอให้ลงโทษเพียงฐานพยายาม อ้างประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80 มาด้วย แม้การพยายามกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากรจะลงโทษได้เช่นเดียวกันกับความผิดสำเร็จก็ตาม แต่ศาลก็จะลงโทษเกินคำขอไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 จึงพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นว่าให้กำหนดโทษจำเลยในขั้นพยายามกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80 จำคุกจำเลย 4 เดือน และปรับ 800 บาทนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การขนสินค้าเข้าไปภายในบริเวณพิเศษโดยไม่มีใบอนุญาตนั้น มีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2497 มาตรา 14 ซึ่งได้มีบทลงโทษไว้ตามมาตรา 16 ส่วนการขนของหรือพยายามขนของผ่านเขตแดนทางบกออกนอกราชอาณาจักรไทยเข้าไปในเขตประเทศกัมพูชานอกทางอนุมัตินั้น มีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2480 มาตรา 5 ซึ่งมีบทลงโทษไว้ตามมาตรา 10 โดยมาตรา 10 ได้บัญญัติว่า ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 5ผู้นั้นต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช 2469 และของทั้งปวงเนื่องด้วยการกระทำผิดนั้นให้ริบเสียสิ้นโดยมิพักต้องคำนึงว่าบุคคลใดจะต้องรับโทษหรือหาไม่ จึงเห็นได้ว่ามาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 7) เป็นเรื่องโยงให้เอาโทษในพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช 2469 มาตรา 27 มาใช้บังคับกับความผิดฐานนี้ ก็เมื่อจำเลยได้กระทำผิดโดยฝ่าฝืนมาตรา 5, 10 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 7) ซึ่งการพยายามกระทำความผิดในมาตรา 5 ก็มีโทษเช่นเดียวกับการกระทำผิดสำเร็จ ศาลก็ต้องลงโทษตามพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช 2469 มาตรา 27 ได้เต็มตามที่มาตรา 10 ดังกล่าวให้โยงมาใช้ ฉะนั้น ที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ที่โจทก์อ้างมาตรา 80แห่งประมวลกฎหมายอาญา เพราะโจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยเพียงฐานพยายามกระทำความผิดนั้น จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
จึงพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดโทษไว้