คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3402/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หนังสือมอบอำนาจของโจทก์มีข้อความมอบอำนาจให้รองผู้อำนายการ(บริหาร) ปฏิบัติการแทนผู้อำนวยการในการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องคดีความทั้งหมดที่เกี่ยวเนื่องกับองค์การโจทก์ทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา แม้จะเป็นการมอบอำนาจให้รองผู้อำนวยการ(บริหาร) โดยตำแหน่งหน้าที่ซึ่งมิได้เป็นบุคคลหรือนิติบุคคลก็ตาม ก็มีผลใช้บังคับได้ บุคคลซึ่งดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการ (บริหาร) จึงมีอำนาจดำเนินคดีแทนโจทก์ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นรัฐวิสาหกิจ ได้มอบอำนาจให้รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารฟ้องคดีนี้ จำเลยที่ 2 ที่ 3 เป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุก จำเลยที่ 4เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวไว้ในลักษณะประกันภัยค้ำจุนจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างและขับรถไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3ด้วยความประมาทชนรถยนต์โดยสารประจำทางของโจทก์เสียหายเป็นเงินทั้งสิ้น 145,940 บาท ขอให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินดังกล่าวแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย

โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นอนุญาต

จำเลยที่ 2 และที่ 4 ให้การร่วมกันว่า หนังสือมอบอำนาจของโจทก์ท้ายฟ้องระบุมอบอำนาจให้แก่ตำแหน่งรองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารซึ่งไม่ใช่บุคคลหรือนิติบุคคลจึงไม่ชอบ นายยรรยงจึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ จำเลยที่ 1ไม่ได้เป็นลูกจ้างและขับรถไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 4 รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกไว้จากจำเลยที่ 2 จริง แต่ข้อสัญญามีวงเงินรับผิดไม่เกิน 100,000 บาท เหตุที่เกิดขึ้นเกิดจากความประมาทของผู้ขับขี่รถยนต์ของโจทก์ ค่าเสียหายไม่ถึงที่โจทก์ฟ้อง

จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 และที่ 4 ร่วมกันชดใช้เงินแก่โจทก์128,213 บาท 53 สตางค์ พร้อมดอกเบี้ย

จำเลยที่ 2 และที่ 4 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 4

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า หนังสือมอบอำนาจของโจทก์ท้ายฟ้องเป็นคำสั่งของโจทก์ที่มีข้อความมอบอำนาจให้รองผู้อำนวยการ (บริหาร) ปฏิบัติการแทนผู้อำนวยการในการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องคดีความทั้งหมดที่เกี่ยวเนื่องกับองค์การโจทก์ทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา คำสั่งดังกล่าวแม้จะเป็นการมอบอำนาจให้รองผู้อำนวยการ (บริหาร) ของโจทก์โดยตำแหน่งหน้าที่ซึ่งมิได้เป็นบุคคลหรือนิติบุคคลก็ตามก็มีผลใช้บังคับได้ ดังนั้น บุคคลซึ่งดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการ (บริหาร) ของโจทก์จึงมีอำนาจดำเนินคดีแทนโจทก์และฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ได้ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่านายยรรยงซึ่งดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารดำเนินคดีแทนโจทก์และฟ้องจำเลยได้นั้นชอบแล้ว

จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ได้กระทำละเมิดในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้างจึงต้องร่วมรับผิดด้วย ส่วนจำเลยที่ 4ได้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์บรรทุกไว้โดยจำกัดความรับผิดไม่เกิน 100,000บาท จึงต้องรับผิดตามข้อสัญญาในวงเงินไม่เกิน 100,000 บาท และโจทก์เสียหายตามที่ศาลชั้นต้นกำหนด

พิพากษาแก้เป็นให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เว้นแต่จำเลยที่ 4 ให้รับผิดชดใช้เงินแก่โจทก์ในวงเงินไม่เกิน 100,000 บาท

Share