คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3035/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกับพวกได้ร่วมกันล้อมรั้วตามคันสวนซึ่งจำเลยทำรุกล้ำเข้ามาในที่ดินมีโฉนดของโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทำลายคันสวนและรื้อรั้วออกไป จำเลยให้การว่าได้ครอบครองที่พิพาทโดยสงบเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลา 20 ปีเศษจึงได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์และฟ้องแย้งขอให้ศาลพิพากษาว่าที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยคดีจึงมีข้อพิพาทว่าโจทก์หรือจำเลยเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่พิพาทโดยแท้จริงหากฟังได้ว่าจำเลยเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่พิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ จำเลยย่อมมีสิทธิที่จะฟ้องแย้งขอให้ศาลพิพากษาแสดงกรรมสิทธิ์ที่พิพาทให้แก่จำเลยได้ฟ้องแย้งของจำเลยจึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิมโดยตรง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 310 จำเลยกับพวกได้ร่วมกันล้อมรั้วตามคันสวนซึ่งจำเลยทำรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์ด้านที่ติดกับที่ดินของจำเลยเป็นเนื้อที่ 1 ไร่ 2 งาน ขอให้บังคับจำเลยทำลายคันสวนและรื้อถอนรั้วออกไปให้พ้นจากที่ดินโจทก์

จำเลยทั้งสองให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยได้ครอบครองที่ดินส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 310 เป็นเนื้อที่ 1 ไร่ 2 งานเศษ โดยสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของมาเป็นเวลา 20 ปีเศษ โดยเข้าใจว่าเป็นที่ดินของจำเลย จำเลยจึงได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ ขอให้ยกฟ้องโจทก์และสั่งว่ากรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 310 เนื้อที่ 1 ไร่ 2 งานเศษที่จำเลยครอบครองเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย

ศาลชั้นต้นสั่งรับคำให้การ แต่ไม่รับฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองเพราะไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้รับฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสอง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกับพวกได้ร่วมกันล้อมรั้วตามคันสวนซึ่งจำเลยทำรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 310 ด้านที่ติดกับที่ดินของจำเลยเป็นเนื้อที่ 1 ไร่ 2 งาน ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองทำลายคันสวนและรื้อรั้วออกไปจากที่พิพาท จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้คดีว่า จำเลยทั้งสองได้ครอบครองที่พิพาทซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 310 เป็นเนื้อที่ 1 ไร่ 2 งานเศษ โดยสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของมาเป็นเวลา 20 ปีเศษ จึงได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ขอให้ยกฟ้องและฟ้องแย้งขอให้ศาลพิพากษาว่า กรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 310 เนื้อที่ 1 ไร่ 2 งานเศษ ที่จำเลยครอบครองเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยทั้งสอง ดังนี้ เห็นได้ชัดแจ้งว่าฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองมิใช่เป็นเรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิม หากแต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิมโดยตรง เพราะคู่ความโต้เถียงกันเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่พิพาท ซึ่งการที่ศาลจะมีคำวินิจฉัยชี้ขาดบังคับให้จำเลยทั้งสองปฏิบัติตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ก็จำต้องพิจารณาในปัญหาข้อพิพาทที่ว่า โจทก์หรือจำเลยทั้งสองฝ่ายใดเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่พิพาทโดยแท้จริง หากคดีฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่พิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ดังที่ต่อสู้ จำเลยก็ย่อมมีสิทธิที่จะฟ้องแย้งขอให้ศาลพิพากษาแสดงกรรมสิทธิ์ที่พิพาทให้แก่จำเลยทั้งสองได้ เพราะฟ้องของโจทก์มีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิของจำเลยทั้งสองแล้ว

พิพากษายืน

Share