คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2894/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บริษัทส.จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ และมีสำนักงานตั้งอยู่ในต่างประเทศ แต่เข้ามาประกอบกิจการในประเทศไทย โดยเข้าทำสัญญากับโจทก์รับจ้างและร่วมดำเนินการในการให้บริการในด้านวิศวกรรมและให้บริการต่างๆ เกี่ยวกับการผลิตเหล็กให้แก่โจทก์ โดยได้รับเงินค่าจ้างหรือค่าตอบแทนจากโจทก์ อันถือได้ว่าเป็นการประกอบการค้าจะต้องเสียภาษีการค้าสำหรับเงินค่าจ้างหรือค่าตอบแทนที่ได้รับจากโจทก์เมื่อตามสัญญาระบุว่าโจทก์รับเป็นผู้ออกภาษีให้ ถือได้ว่าโจทก์เป็นสาขาหรือตัวแทนของบริษัท ฮ. ในการเสียภาษีด้วย โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการการค้าของบริษัท ฮ. ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด เมื่อไม่ปฏิบัติ เจ้าพนักงานประเมินของกรมสรรพากรจำเลยย่อมมีอำนาจประเมินภาษี เบี้ยปรับ และเงินเพิ่มได้

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ‘ข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำฟ้องของโจทก์ คำให้การจำเลย และที่คู่ความแถลงรับกันว่า โจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ในการประกอบการค้าผลิตเหล็ก ในการนี้โจทก์ได้ทำสัญญากับบริษัทฮาเย็คเอ็นยิเนียริ่ง จำกัดซึ่งเป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศสวิสเซอร์แลนด์รวม 4 ฉบับฉบับลงวันที่ 26 เมษายน 2511 มีข้อความว่า บริษัทฮาเย็คเอ็นยิเนียริ่ง จำกัด รับเป็นผู้จัดหาเจ้าหน้าที่ทางเทคนิค และให้บริการทางด้านวิศวกรรมในเรื่องการออกแบบแผนผังโรงงานและงานด้านวิศวกรรมเกี่ยวกับการสร้างโรงงานหลอมและโรงงานรีดเหล็ก ซึ่งจะสร้างขึ้นที่ท่าหลวงให้แก่โจทก์ โดยได้รับค่าจ้างจากโจทก์ไม่เกิน 4,127,000 ฟรังส์สวิสส์ ฉบับลงวันที่ 29 เมษายน 2511 บริษัทฮาเย็คเอ็นยิเนียริ่ง จำกัด รับจะทำการพิจารณาใหม่ถึงรายละเอียดและข้อเสนอแนะของโครงการเกี่ยวกับการสร้างโรงหลอมเหล็กชั้นที่หนึ่ง การสร้างโรงรีดเหล็ก การสร้างท่าเรือการวางโครงการที่จะเอาแร่เหล็กจากเหมืองเขาทับควายมาใช้ในการผลิตเหล็กให้กับโจทก์ โดยได้รับค่าจ้างจากโจทก์เป็นรายเดือน เดือนละ 33,000 ฟรังส์สวิสส์ ฉบับลงวันที่ 17 เมษายน 2512 บริษัทฮาเย็คเอ็นยิเนียริ่ง จำกัด รับจะเป็นผู้ดำเนินการในเรื่องการผลิต การดำเนินการในด้านเทคนิค การบริหารงานโรงรีดและโรงหลอมเหล็กใหม่ให้กับโจทก์โดยได้รับค่าจ้างจากโจทก์ปีละ 100,000 ฟรังส์สวิสส์ บวกด้วยเงินเดือนของพนักงานชาวต่างประเทศที่บริษัทฮาเย็คเอ็นยิเนียริ่ง จำกัด เป็นผู้ว่าจ้างเข้ามาทำงานให้โจทก์และค่าภาษีต่างๆ ที่ต้องเสียให้แก่ประเทศไทยและฉบับลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2513 บริษัทฮาเย็คเอ็นยิเนียริ่ง จำกัด รับเป็นผู้จัดหาเจ้าหน้าที่ทางเทคนิคและการให้บริการทางด้านวิศวกรรมในการออกแบบแปลนแผนผัง และงานทางด้านวิศวกรรมที่เกี่ยวกับการขยายโรงรีดเหล็กใหม่ขั้นที่สอง โดยได้รับค่าจ้างจากโจทก์ไม่เกิน 871,500 ฟรังส์สวิสส์ ตามคำแปลสัญญา 4 ฉบับเอกสารท้ายฟ้อง เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2522 โจทก์ได้รับแบบแจ้งการประเมินภาษีการค้าจากเจ้าพนักงานประเมินภาษีของจำเลยที่ 1 รวม 2 ฉบับ แจ้งว่าโจทก์ในฐานะตัวแทนของบริษัทฮาเย็คเอ็นยิเนียริ่ง จำกัด มีหน้าที่ต้องเสียภาษีการค้าตามประเภทการค้า 4 การรับจ้างทำของชนิด 1 (ฉ) แต่ไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการและเสียภาษีการค้าสำหรับเดือนกันยายน – ธันวาคม 2512 และเดือนมกราคม – พฤศจิกายน 2513 ให้โจทก์นำเงินภาษีการค้าพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มรวมเป็นเงินทั้งสิ้น1,478,344.34 บาทไปชำระปรากฏตามสำเนาภาพถ่ายแบบแจ้งการประเมินภาษีการค้าเลขที่ 1020/3/01259 และแบบแจ้งการประเมินภาษีการค้าเลขที่ 1020/3/01260 เอกสารท้ายฟ้อง โจทก์เห็นว่าการประเมินภาษีการค้าของเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวไม่ถูกต้อง ได้อุทธรณ์ต่อจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ซึ่งเป็นคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ และได้นำเงินค่าภาษีทั้งหมดไปชำระให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว ต่อมาคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้วินิจฉัยว่า การประเมินภาษีของเจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1 ชอบแล้ว และได้แจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้โจทก์ทราบ เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2523 ตามสำเนาภาพถ่ายคำวินิจฉัยอุทธรณ์เลขที่ 168/2523

ปัญหาในชั้นนี้มีว่า การประเมินภาษีการค้าของจำเลยที่ 1เลขที่ 1020/3/01259 และเลขที่ 1020/3/01260 ซึ่งเป็นเงินรวมทั้งสิ้น 1,474,344.34 บาท กับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ที่วินิจฉัยให้โจทก์ต้องเสียภาษีดังกล่าวนั้น ถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วข้อพิพาทกรณีนี้เป็นเรื่องภาษีการค้าปรากฏว่กรณีเกิดระหว่าง พ.ศ. 2512 และ พ.ศ. 2513 โดยเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1 ได้เรียกเก็บภาษีการค้าจากโจทก์ประจำเดือนกันยายน – ธันวาคม 2512 และประจำเดือนมกราคม – พฤศจิกายน 2513 กรณีต้องบังคับตามประมวลรัษฎากร หมวด 4 ว่าด้วยภาษีการค้า ซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร(ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2508 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น ประมวลรัษฎากร มาตรา 77 บัญญัติว่า ‘การค้า’ หมายความว่าการประกอบธุรกิจ การพาณิชย์ การอุตสาหกรรม การเกษตร การผลิต การนำเข้า การส่งออก หรือการให้บริการใดๆ เพื่อหาประโยชน์อันมีมูลค่า”ผู้ประกอบการค้า” หมายความว่าบุคคลธรรมดา นิติบุคคล คณะบุคคลหรือรัฐวิสาหกิจใดๆ ซึ่งเข้าลักษณะตามที่กำหนดในบัญชีอัตราภาษีการค้า และประกอบการค้าในราชอาณาจักร โดยการค้านั้นเป็นการค้าตามประเภทที่กำหนดในบัญชีอัตราภาษีการค้า และหมายความรวมถึงผู้ที่บทบัญญัติในหมวดนี้ให้ถือว่าเป็นผู้ประกอบการค้าด้วย คดีนี้บริษัทฮาเย็คเอ็นยิเนียริ่ง จำกัด จดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัด ย่อมเห็นได้ว่ามีวัตถุประสงค์ในการประกอบการค้าเพื่อหากำไร ฉะนั้นการที่บริษัทฮาเย็คเอ็นยิเนียริ่ง จำกัด ได้ตกลงทำสัญญากับโจทก์รวม 4 ฉบับ ตามเอกสารท้ายฟ้องนั้น ศาลฎีกาได้ตรวจพิจารณาสัญญาทั้งสี่ฉบับดังกล่าวโดยตลอดแล้วเห็นว่าเป็นการให้บริการใดๆ เพื่อหาประโยชน์อันมีมูลค่า โดยบริษัทฮาเย็คเอ็นยิเนียริ่ง จำกัดได้ค่าจ้างหรือค่าตอบแทนจากโจทก์ จึงถือว่าเป็นการค้า และบริษัทฮาเย็คเอ็นยิเนียริ่ง จำกัด เป็นผู้ประกอบการค้านั้น ซึ่งการค้าดังกล่าวนี้เข้าลักษณะเป็นการรับจ้างทำของอย่างอื่น ตามที่ระบุอยู่ในบัญชีอัตราภาษีการค้าประเภทการค้า 4 ชนิด 1 (ฉ) และประมวลรัษฎากร (ฉบับซึ่งใช้บังคับอยู่ในเวลาที่เกิดกรณีพิพาทนี้) กำหนดอัตราร้อยละ 2.0 ของรายรับที่ผู้ประกอบการค้ามีหน้าที่ต้องเสียภาษีการค้า แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่าบริษัทฮาเย็คเอ็นยิเนียริ่ง จำกัด เป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ และมีสำนักงานตั้งอยู่ในต่างประเทศก็ตาม แต่เมื่อได้เข้ามาประกอบกิจการในประเทศไทยโดยเข้าทำสัญญากับโจทก์รับจ้างและร่วมดำเนินการในการให้บริการในด้านวิศวกรรมและให้บริการต่างๆ เกี่ยวกับการผลิตเหล็กให้แก่โจทก์รวม 4 สัญญา โดยได้รับเงินค่าจ้างหรือค่าตอบแทนจากโจทก์ อันถือได้ว่าเป็นการประกอบการค้าก็หาได้มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดยกเว้นมิให้บริษัทต่างประเทศที่มิได้มีสำนักงานอยู่ในประเทศไทย ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีการค้าแต่อย่างใดไม่ ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องที่บริษัทต่างประเทศจะต้องเสียภาษีการค้าหากได้เข้ามาประกอบการค้าในประเทศไทยนั้นบริษัทฮาเย็คเอ็นยิเนียริ่ง จำกัด คงจะตระหนักในปัญหาข้อนี้ดี จึงได้ระบุข้อความไว้ในสัญญาที่กำกับโจทก์ทั้งสี่ฉบับตามเอกสารท้ายฟ้องว่า ภาษีเงินได้ ภาษีการส่งออก หรือภาษีอื่น ๆ ซึ่งจะต้องจ่ายในประเทศไทยสำหรับเงินต่าง ๆ ที่ฮาเย็ค (บริษัทฮาเย็คเอ็นยิเนียริ่ง จำกัด) เป็นผู้รับนั้น ซิสโก้ (บริษัทเหล็กสยาม จำกัด โจทก์) จะเป็นผู้ออก จากพฤติการณ์ดังกล่าวจึงฟังได้ว่าบริษัทฮาเย็คเอ็นยิเนียริ่ง จำกัด จะต้องเสียภาษีการค้าสำหรับเงินค่าจ้างหรือค่าตอบแทนที่ได้รับจากโจทก์ตามสัญญาท้ายฟ้องเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าบริษัทฮาเย็คเอ็นยิเนียริ่ง จำกัด ต้องเสียภาษีรายพิพาทนี้แล้ว คดีก็ไม่จำต้องคำนึงถึงว่าการประการการค้าของบริษัทดังกล่าว เป็นอาชีพอิสระดังที่โจทก์ฎีกาโต้เถียงหรือไม่ คำพิพากษาฎีกาที่ 1321/2509 คดีระหว่างบริษัทยินอินซอย จำกัด โจทก์ กรมสรรพากร กับพวก จำเลย ที่โจทก์อ้างนั้นข้อเท็จจริงแตกต่างกับคดีนี้ จะนำมาเทียบเคียงกับคดีนี้หาได้ไม่และเนื่องจากสัญญาระหว่างโจทก์กับบริษัทฮาเย็คเอ็นยิเนียริ่ง จำกัด ระบุข้อความไว้ชัดเจนว่าโจทก์รับเป็นผู้ออกภาษีต่าง ๆ ให้แก่บริษัทฮาเย็คเอ็นยิเนียริ่ง จำกัด เช่นนี้ถือได้ว่าโจทก์เป็นสาขาหรือตัวแทนของบริษัทฮาเย็คเอ็นยิเนียริ่ง จำกัด ในการเสียภาษีต่างๆ ด้วย โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการการค้าของบริษัทฮาเย็คเอ็นยิเนียริ่ง จำกัด ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด เมื่อโจทก์ไม่ปฏิบัติเช่นนั้น เจ้าพนักงานประเมินภาษีของจำเลยที่ 1 ย่อมมีอำนาจประเมินภาษี เบี้ยปรับ และเงินเพิ่ม ตามบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร หมวด 4 ว่าด้วยภาษีการค้าได้ ดังนี้การประเมินภาษีการค้าของจำเลยที่ 1 กับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์รายนี้จึงถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายแล้ว โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอน”

พิพากษายืน

Share