คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2273/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องจำเลยเรียกเบี้ยปรับตามสัญญาค้ำประกันคนต่างด้าว5 ราย โดยจำเลยทำสัญญาค้ำประกันเป็นรายฉบับรวม 5 ฉบับ สำหรับลูกประกันแต่ละรายหากจำเลยผิดสัญญายอมให้ปรับรายละ 20,000 บาท ทุนทรัพย์ในคดีจึงแยกออกตามสัญญาค้ำประกันแต่ละฉบับ แม้จะปรับรวมกันมา ก็ถือว่ากำหนดค่าปรับภายในวงเงินตามสัญญาค้ำประกันแต่ละฉบับไม่เกินฉบับละ 20,000 บาท คดีจึงต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 224 แม้ศาลชั้นต้นจะสั่งรับอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงและศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยให้ ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในชั้นอุทธรณ์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 แม้จำเลยจะฎีกาในข้อเท็จจริงดังกล่าวต่อมา ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
จำเลยทำสัญญาค้ำประกันคนต่างด้าวซึ่งเดินทางเข้ามาในประเทศไทยต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองกรุงเทพซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา โดยตำแหน่งหน้าที่ราชการอันกฎหมายกำหนดไว้ให้ทำสัญญาประกันได้ เมื่อจำเลยผิดสัญญาผู้บังคับการกองตรวจคนเข้าเมืองจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยในฐานะเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่โดยใช้ชื่อตำแหน่งของตนได้
จำเลยสัญญาแก่โจทก์ว่า หากผิดสัญญาข้อใดข้อหนึ่งย่อมให้โจทก์ปรับเป็นเงิน 20,000 บาท จึงมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ เมื่อจำเลยผิดสัญญาจำเลยก็ต้องชำระเบี้ยปรับแก่โจทก์ตามสัญญาจะอ้างว่าโจทก์ไม่ได้รับความเสียหายมิได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ มีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2493 จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดมีวัตถุประสงค์รับค้ำประกันคนต่างด้าวซึ่งเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร จำเลยได้ทำสัญญาค้ำประกันตัวคนต่างด้าวประเภทคนเดินทางผ่านรวม 5 คน ไว้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองกรุงเทพซึ่งสัญญามีข้อความว่าจำเลยจะจัดการให้ลูกประกันของจำเลยปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองหรือตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองทุกประการ ถ้าลูกประกันจะเดินทางไปนอกราชอาณาจักร จำเลยจะนำลูกประกันมารายงานตัวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองก่อนจะเดินทางออกไป ถ้าผิดสัญญาจำเลยยอมให้ปรับสัญญาละ 20,000 บาท ปรากฏว่าคนต่างด้าว 4 คนที่จำเลยค้ำประกันไม่มีหลักฐานว่าได้เดินทางออกไปจากประเทศไทย อีกคนหนึ่งอยู่เกินกำหนดที่ได้รับอนุญาต จำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันได้กระทำผิดสัญญาค้ำประกันที่ให้ไว้ โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอบังคับให้จำเลยชำระค่าปรับสัญญาละ 20,000 บาท รวม 100,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยให้การรับว่า ได้ทำสัญญาค้ำประกันดังกล่าวจริง แต่มิได้ทำกับโจทก์ โจทก์จำเลยไม่มีนิติสัมพันธ์ต่อกัน โจทก์มิได้รับมอบอำนาจจากผู้ที่ลงนามในสัญญาค้ำประกันกับจำเลยให้ฟ้องคดีนี้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม จำเลยไม่ผิดสัญญาค้ำประกัน ลูกประกันคนหนึ่งที่อยู่เกินกำหนดก็เพราะได้รับการผ่อนผันจากทางราชการหากโจทก์ได้รับความเสียหายก็ไม่เกินรายละ 100 บาท โจทก์ชอบจะเรียกร้องจากลูกประกันของจำเลยก่อน ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 100,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้แม้โจทก์ฟ้องกำหนดทุนทรัพย์มา 100,000 บาท แต่ตามฟ้องปรากฏว่า จำเลยทำสัญญาค้ำประกันคนต่างด้าว 5 ราย ซึ่งเรียกว่าลูกประกันโดยแยกทำสัญญาค้ำประกันเป็นรายฉบับรวม 5 ฉบับสำหรับลูกประกันแต่ละราย มีข้อสัญญาว่าถ้าจำเลยผิดสัญญาแต่ละรายยอมให้ปรับรายละ 20,000 บาท ดังนั้น ทุนทรัพย์ในคดีนี้จึงแยกตามสัญญาค้ำประกันแต่ละฉบับ คือ ฉบับละ 20,000 บาท แม้จะปรับรวมกันมาก็ยังถือว่ากำหนดค่าปรับภายในวงเงินตามสัญญาค้ำประกันแต่ละฉบับ ไม่เกินฉบับละ 20,000 บาท กรณีจึงห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 ข้อที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยมิได้ผิดสัญญาและจำเลยมิได้ละเลยจัดการให้ลูกประกันปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ทั้งลูกประกันของจำเลยก็ได้เดินทางออกไปนอกราชอาณาจักรหมดแล้ว รวมทั้งฎีกาขอให้ศาลฎีกาลดหรืองดค่าปรับแก่จำเลยด้วยล้วนเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งต้องห้ามมิให้อุทธรณ์มาแต่ชั้นอุทธรณ์ แม้ศาลชั้นต้นจะสั่งรับอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงและศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยให้ ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ว่ากันมาแล้วโดยชอบในชั้นอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้

ที่จำเลยฎีกาข้อกฎหมายว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า กรณีเรื่องนี้เกิดเนื่องจากสัญญาที่จำเลยได้กระทำไว้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาและไม่มีปัญหาว่าพนักงานเจ้าหน้าที่นั้นได้กระทำแทนหน่วยราชการต่างหากจากตัวบุคคลธรรมดา พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองเป็นบุคคลธรรมดาโดยตำแหน่งหน้าที่ราชการอันกฎหมายกำหนดให้ทำสัญญาประกันได้ตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง ฉะนั้น ย่อมมีอำนาจที่จะต้องขอให้บังคับตามสัญญานั้นได้ กรณีเป็นเรื่องบุคคลธรรมดาในฐานะที่เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่จะพึงฟ้องความโดยใช้ชื่อแห่งตำแหน่งของตน ซึ่งย่อมจะทำได้ตามอำนาจแห่งตำแหน่งหน้าที่ โดยนัยนี้ตำแหน่งพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองกรุงเทพจึงไม่แตกต่างอะไรไปจากตำแหน่งพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรหรือนครบาล หรือตำแหน่งพนักงานอัยการจังหวัดหรือตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด พลตำรวจตรีอนันต์ เดชรังสีฟ้องคดีในฐานะเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่โดยใช้ชื่อตำแหน่งของตนย่อมกระทำได้ตามอำนาจและหน้าที่ราชการของตน โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

ที่จำเลยฎีกาว่า หากถือว่าจำเลยผิดสัญญา โจทก์ก็ไม่มีสิทธิปรับจำเลยเพราะโจทก์ไม่ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด ศาลฎีกาเห็นว่า กรณีเป็นเรื่องจำเลยสัญญาแก่โจทก์ว่า ถึงจำเลยผิดสัญญาข้อใดข้อหนึ่งจำเลยยอมให้โจทก์ปรับจำเลยเป็นเงินรายละ 20,000 บาท อันมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ เมื่อฟังว่าจำเลยผิดสัญญาจำเลยก็ต้องชำระเบี้ยปรับให้แก่โจทก์ตามข้อสัญญา จะอ้างว่าโจทก์ไม่ได้รับความเสียหายย่อมฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

Share