คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1519/2517

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 ชำระราคายางแอสฟัลท์ที่จำเลยซื้อไปจากโจทก์ จำเลยที่ 1 ให้การและฟ้องแย้งว่าก่อนที่จะทำสัญญาซื้อขายจำเลยที่ 1 ได้แจ้งให้โจทก์ทราบว่า จำเลยที่ 1 จะนำยางแอสฟัลท์ไปก่อสร้างทางซึ่งจำเลยที่ 1 รับเหมามาจากกรมทางหลวงตามเอกสารท้ายคำให้การและฟ้องแย้งแต่โจทก์ส่งยางแอสฟัลท์ให้จำเลยที่ 1 ล่าช้าจำเลยที่ 1 ไม่สามารถส่งมอบงานให้ทันกำหนดถูกกรมทางหลวงปรับ จึงให้โจทก์ชดใช้เงินค่าปรับ ดังนี้ ฟ้องแย้งได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาแล้วแม้จะไม่ได้กล่าวถึงข้อเท็จจริงที่เป็นรายละเอียด ซึ่งจำเลยที่ 1 มีสิทธินำสืบในชั้นพิจารณา. ก็หาทำให้เป็นฟ้องที่เคลือบคลุมไม่
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ล่วงเลยอายุความ 2 ปี จึงขาดอายุความ เห็นได้ว่าอายุความที่โจทก์ตั้งเป็นข้อต่อสู้มาแต่แรกเป็นเรื่องอายุความในมูลสัญญาซื้อขายในชั้นฎีกาโจทก์จึงต้องห้ามมิให้ยกอายุความเรื่องละเมิดขึ้นต่อสู้เพราะมิใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาก่อนแล้วแต่ศาลชั้นต้น
โจทก์ส่งมอบยางแอสฟัลท์ให้จำเลยที่ 1 ล่าช้า เป็นเหตุให้จำเลยถูกปรับ เพราะส่งมอบงานให้กรมทางหลวงไม่ทันกำหนดแต่จำเลยที่ 1 ก็มีส่วนบกพร่องในการก่อสร้างทางล่าช้าด้วย โจทก์จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในข้อนี้ให้จำเลยที่ 1 เพียงบางส่วน
จำเลยที่ 2 ค้ำประกันการชำระหนี้ตามสัญญาซื้อขายของจำเลยที่ 1 การตีความสัญญาค้ำประกันต้องตีความไปตามความประสงค์ในทางสุจริตโดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณี และถ้าตีความได้เป็นสองนัย ก็ต้องถือตามนัยที่ทำให้เป็นผลบังคับได้ทั้งนี้ตามบทบัญญัติของมาตรา 368 และมาตรา10 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และการที่จะทราบความประสงค์ของคู่สัญญาจะต้องพิจารณาถึงสัญญาซื้อขายซึ่งเป็นสัญญาประธานและสัญญาค้ำประกันซึ่งเป็นสัญญาอุปกรณ์ด้วย เมื่อสัญญาซื้อขายระบุว่า จำเลยที่ 1 ต้องชำระราคายางแอสฟัลท์ให้โจทก์ภายใน 60 วันนับแต่วันส่งมอบ โดยจำเลยที่ 1 ต้องนำจำเลยที่ 2 มาเป็นผู้ค้ำประกันการชำระราคา แต่สัญญาค้ำประกันมีข้อความว่า สัญญาค้ำประกันมีกำหนดระยะเวลา 120 วัน หากเกิดการเสียหายขึ้นภายในระยะเวลาดังกล่าว ต้องแจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบภายใน7 วันนับแต่วันได้รับความเสียหาย ดังนี้ ระยะเวลา120 วันตามสัญญาค้ำประกันย่อมต้องหมายความถึงระยะเวลาที่โจทก์อาจส่งมอบยางแอสฟัลท์ให้จำเลยที่ 1 เท่านั้น มิได้หมายความตลอดถึงระยะเวลาที่จำเลยที่ 2 จะต้องได้รับคำบอกกล่าวจากโจทก์ให้ชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 ด้วย ดังนั้นเมื่อโจทก์ส่งมอบยางแอสฟัลท์งวดสุดท้ายให้จำเลยที่ 1 ภายใน 120 วันแล้วจำเลยที่ 1 ยังมีโอกาสชำระหนี้ค่ายางแอสฟัสท์ได้ภายใน 60 วัน นับจากวันที่โจทก์ส่งมอบยางแอสฟัลท์ครั้งสุดท้าย และหากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระ โจทก์ย่อมเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 ชำระได้ภายใน7 วัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นองค์การของรัฐบาล ตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล พ.ศ. 2496 และมีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2509 จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาซื้อแอลฟัลท์ซีเมนต์เกรด 85/100 จำนวน 160 เมตริกตัน ราคาเมตริกตันละ 950 บาท และคัทแบคแอสฟัลท์ เอ็ม.ซี. จำนวน 30 เมตริกตัน ราคาเมตริกตันละ 1,100 บาท รวมเป็นเงิน185,000 บาท ปรากฏตามสำเนาสัญญาซื้อขายท้ายฟ้องหมายเลข 1 โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันภายในวงเงินไม่เกิน 185,000 บาทปรากฏตามสำเนาสัญญาค้ำประกันท้ายฟ้องหมายเลข 2 ต่อมาในระหว่างที่โจทก์มอบสิ่งของดังกล่าวให้จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ได้ขอลดจำนวนสิ่งของดังกล่าวลงโดยขอให้ส่งแอสฟัลท์ซีเมนต์เกรด 85/100 จำนวน 159,920 เมตริกตัน ราคา 152,000 บาท และคัทแบคแอสฟัลท์ เอ็ม.ซี. จำนวน 27,480 เมตริกตัน ราคา 33,000 บาทรวมราคาทั้งสิ้น 182,152 บาท โดยให้ทยอยส่งมอบตั้งแต่วันที่ 11 พฤษภาคม 2509 จนถึงวันที่ 6 กรกฎาคม 2509 ปรากฏตามเอกสารท้ายฟ้อง หมายเลข 3 ภายหลังจากที่โจทก์ส่งสิ่งของดังกล่าวให้ครบถ้วนแล้ว นายทวีผล พึ่งพรสวรรค์ผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ได้ลงชื่อรับ เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2509 ตามประเพณีการค้า ปรากฏตามใบรับของท้ายฟ้อง หมายเลข 3 และ 4 และโจทก์ได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าสิ่งของ และจำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือดังกล่าวแล้ว ปรากฏตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 5 และ 6 จำเลยทั้งสองต้องรับผิดใช้ราคาสิ่งของตามจำนวนดังกล่าว พร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี นับตั้งแต่วันผิดนัด ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระราคาสิ่งของ 182,152 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันผิดนัดถึงวันฟ้อง 21,629.25 บาทกับดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินเสร็จให้แก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาซื้อแอสฟัลท์จากโจทก์ตามเอกสารท้ายฟ้อง หมายเลข 1 โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 และต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ตกลงขอลดจำนวนแอสฟัลท์ลงจริงตามฟ้อง แต่ก่อนที่จะทำสัญญาซื้อขายกัน จำเลยที่ 1 ได้แจ้งให้โจทก์ทราบแล้วว่าจะนำไปใช้งานราดยางตอนทางแยกเข้าพระพุทธบาทสระบุรีซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับจ้างจากกรมทางหลวง ปรากฏตามสำเนาท้ายคำให้การ หมายเลข 1 โจทก์ตกลงรับว่าจะส่งมอบแอสฟัลท์ให้ครบถ้วนภายใน 30 วัน โดยทยอยส่งให้เป็นรายวันเพื่อให้ทันกับงานของจำเลยที่ 1 ซึ่งตามข้อ 3 แห่งสัญญาโจทก์จะต้องส่งมอบแอสฟัลท์ให้ครบถ้วนภายในวันที่ 20 พฤษภาคม 2509 หรืออย่างช้าที่สุดภายในวันที่ 27 เมษายน 2509 ตามที่ตกลงกัน (ตรงตามที่ปรากฏในคำให้การ) แต่โจทก์ไม่สามารถส่งแอสฟัลท์ให้จำเลยที่ 1 ตามสัญญาและข้อตกลง จำเลยที่ 1 ได้มีหนังสือแจ้งให้โจทก์รีบจัดส่งแอสฟัลท์ให้จำเลยที่ 1 หากส่งช้าจะทำให้จำเลยที่ 1 เสียหาย ปรากฏตามสำเนาหนังสือท้ายคำให้การ หมายเลข 2 แต่โจทก์ก็หาแก้ไขการจัดส่งแอสฟัลท์ให้จำเลยที่ 1 ให้รวดเร็วขึ้นไม่ ทำให้จำเลยที่ 1 เสียหายไม่สามารถส่งมอบงานสร้างเหมาให้กรมทางหลวงภายในกำหนด และจำเลยที่ 1 ถูกปรับเป็นเงิน 46,500 บาท และต้องเสียค่าเช่าเครื่องมือ และค่าแรงงาน เพิ่มขึ้นเนื่องจากรอคอยแอสฟัลท์จากโจทก์อีก 42,000 บาท ซึ่งจำเลยที่ 1 ให้ทนายแจ้งให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวแก่จำเลยที่ 1 แล้วตามสำเนาหนังสือท้ายคำให้การเอกสารหมายเลข 3 และเมื่อโจทก์ทวงให้จำเลยที่ 1ชำระเงินค่าแอสฟัลท์ จำเลยที่ 1 ก็ตอบไปขอให้โจทก์หักค่าเสียหาย88,500 บาท ออกจากยอดเงินค่าแอสฟัลท์เสียก่อน ปรากฏตามสำเนาหนังสือท้ายคำให้การ หมายเลข 4 โจทก์ซึ่งเป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ขอให้ศาลพิพากษายกฟ้องโจทก์และให้โจทก์ใช้ค่าเสียหาย 88,500 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้ง จนกว่าจะชำระเงินเสร็จให้แก่จำเลย ที่ 1

จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 มิได้ผิดสัญญาค้ำประกันเพราะความเสียหายที่โจทก์ได้รับเกิดจากการที่โจทก์ไม่ปฏิบัติตามสัญญาทำให้จำเลยที่ 1 เสียหาย จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์และจำเลยที่ 2 ก็ย่อมพ้นจากความรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันด้วย ตามสัญญาค้ำประกันข้อ 3 โจทก์จะต้องแจ้งความเสียหายที่เกิดขึ้นให้จำเลยที่ 2 ทราบภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับความเสียหายแต่ทั้งนี้ต้องอยู่ภายในกำหนดระยะเวลาการค้ำประกัน และการค้ำประกันมีกำหนด 120 วัน นับตั้งแต่วันที่ 27 เมษายน 2509 ถึงวันที่ 24 สิงหาคม 2509 และโจทก์ได้ส่งมอบสิ่งของตามสัญญาซื้อขายให้จำเลยที่ 1 ลงชื่อรับมอบ เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2509 ซึ่งภายในระยะเวลาค้ำประกัน คือวันที่ 24 สิงหาคม 2509 โจทก์ยังไม่ได้รับความเสียหายเพราะจำเลยที่ 1 ต้องชำระเงินภายใน 60 วันคือ ภายในวันที่ 24 ตุลาคม 2509 และเมื่อโจทก์แจ้งความเสียหายให้จำเลยที่ 2 ทราบนั้นก็เลยกำหนดระยะเวลาตามสัญญาค้ำประกันแล้ว จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดในหนี้ดังกล่าวต่อโจทก์และตัดฟ้องว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมขอให้ศาลพิพากษายกฟ้องโจทก์

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ว่า โจทก์ไม่เคยตกลงกับจำเลยที่ 1 ว่าจะส่งมอบยางแอสฟัลท์ให้ครบถ้วนภายใน 30 วัน หรือภายในวันที่ 20 พฤษภาคม 2509 ดังที่จำเลยที่ 1 อ้าง และตามสัญญาข้อ 3 ก็ไม่มีข้อความดังกล่าว ข้ออ้างดังกล่าวของจำเลยที่ 1 ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิฟ้องแย้งให้โจทก์รับผิดฐานส่งของล่วงเลยเวลา หลังจากที่โจทก์ได้รับหนังสือของจำเลยที่ 1ตามเอกสารท้ายคำให้การแก้ฟ้องแย้ง หมายเลข 1 แล้ว โจทก์ได้ส่งยางแอสฟัลท์ให้ตั้งแต่วันที่ 10 พฤษภาคม 2509 เป็นต้นไป ตามคำสั่งและความต้องการของจำเลยที่ 1 ทุกวัน เว้นแต่วันที่จำเลยที่ 1สั่งให้เว้นการส่งมอบโจทก์ได้ส่งยางแอสฟัลท์ทั้ง 2 ชนิดให้จำเลยที่ 1 ครบถ้วนเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2509 การที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบงานสร้างทางให้กรมทางหลวงไม่ทัน ไม่ใช่เป็นผลจากส่งมอบยางแอสฟัลท์ของโจทก์ แต่เป็นเพราะความล่าช้าในการสร้างทางของจำเลยที่ 1 เองโจทก์จึงไม่ต้องรับผิดในการที่จำเลยที่ 1 ถูกกรมทางหลวงปรับ และต้องเช่าเครื่องมือและจ่ายค่าแรงงานมากขึ้น ทั้งค่าเสียหายที่ได้รับนั้นไม่มากเท่าที่จำเลยที่ 1 ฟ้องแย้งแม้จะฟังว่าโจทก์ส่งยางแอสฟัลท์ไม่ทันเวลา แต่จำเลยที่ 1 มิได้ถือเอาเหตุส่งของล่วงเลยเวลาเป็นการเลิกสัญญาหรือผิดสัญญาแต่อย่างใด จำเลยที่ 1 ยังคงติดต่อซื้อยางแอสฟัลท์กับโจทก์ต่อไป ตามสำเนาหนังสือท้ายคำให้การแก้ฟ้องแย้งเอกสารหมายเลข 2 และได้นำยางแอสฟัลท์ไปใช้ทำถนนจนหมดถือได้ว่า โจทก์ได้ส่งมอบยางแอสฟัลท์ให้จำเลยที่ 1 โดยสมบูรณ์แล้วจำเลยที่ 1 มิได้บรรยายฟ้องแย้งให้แจ้งชัดว่า จำเลยที่ 1 ต้องผูกพันตามสัญญาจ้างเหมาด้วยเงื่อนไขประการใด จะต้องส่งมอบงานสร้างทางให้เสร็จเรียบร้อยในกำหนดวันเวลาใด หากส่งมอบไม่ทันจะต้องถูกปรับอย่างไร เป็นเงินเท่าใด ทั้งมิได้ส่งสัญญาจ้างเหมามาประกอบฟ้องแย้ง ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 จึงเคลือบคลุมและจำเลยที่ 1 ฟ้องแย้งหลังจากที่โจทก์ส่งมอบยางแอสฟัลท์ให้จำเลยที่ 1 ครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2509 เกิน 2 ปีแล้ว ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 จึงขาดอายุความ ขอให้ศาลพิพากษายกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ไม่เคลือบคลุม และไม่ขาดอายุความ โจทก์ส่งยางแอสฟัลท์เที่ยวแรก วันที่ 10 พฤษภาคม2509 ล่าช้าไป อันเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ไม่สามารถราดยางแอสฟัลท์ในทางที่เตรียมพร้อมที่จะราดยางแอสฟัลท์ได้แล้ว แต่จำเลยที่ 1 มีส่วนบกพร่องในการที่ไม่สามารถส่งงานให้ทันภายในกำหนดอยู่ด้วยสมควรให้โจทก์รับผิดในค่าปรับที่จำเลยที่ 1 จะต้องชดใช้แก่กรมทางหลวงเพียงครึ่งหนึ่งเป็นเงิน 23,250 บาท ค่าแรงงานกรรมกรวันละ 1,000 บาท เป็นเงิน 30,000 บาท ค่าจ้างรถบดถนนอีกวันละ 400 บาท เป็นเงิน 12,000 บาท โดยคิดในระยะเวลา 30 วัน รวมเป็นค่าเสียหาย 65,250 บาท ตามสัญญาของกรมทางหลวง เอกสารหมาย ล.1 บังคับให้จำเลยที่ 1 ซื้อยางแอสฟัลท์จากโจทก์แห่งเดียว และสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ก็มีบังคับไว้ในทำนองเดียวกัน แม้โจทก์จะส่งมอบยางแอสฟัลท์ล่าช้า จำเลยที่ 1 ก็ไม่มีทางเลือกหรือเลิกสัญญาได้ จึงได้แจ้งและสงวนสิทธิในค่าเสียหายไว้ตามเอกสารหมาย ล.6 กรณีไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 508(1)(4) แต่ต้องด้วยมาตรา 508(3) เมื่อโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา กรณีจึงไม่ตกอยู่ในบังคับแห่งสัญญาค้ำประกันในข้อที่ว่าด้วยการแจ้งการเสียหาย เมื่อหักค่าเสียหายที่โจทก์ต้องรับผิดต่อจำเลยที่ 1 ออกจากราคายางแอสฟัลท์แล้ว คงเหลือเงินที่จำเลยที่ 1 จำต้องชำระให้โจทก์ 116,902 บาท ส่วนดอกเบี้ยนั้นสมควรให้นับตั้งแต่วันพิพากษา เพราะก่อนนั้นจำเลยที่ 1 ไม่ผิดนัดพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ใช้เงิน 116,902 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ย นับตั้งแต่วันพิพากษาจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จสิ้นถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ชำระก็ให้จำเลยที่ 2 ชำระแทน ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์แต่ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยที่ 1 ตามฟ้องแย้ง ส่วนค่าทนายความให้เป็นพับ

โจทก์และจำเลยที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าเหตุที่จำเลยทำงานล่าช้านั้น เป็นเพราะโจทก์ส่งยางแอสฟัลท์ให้จำเลยที่ 1 ล่าช้าและเป็นเพราะความบกพร่องของจำเลยที่ 1 ด้วย ให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายจากการที่จำเลยที่ 1ต้องเสียค่าแรงงานและค่าเช่ารถบดเพิ่มขึ้นเพียงครึ่งหนึ่งเช่นเดียวกับค่าเสียหายที่ถูกกรมทางหลวงปรับ โดยให้โจทก์ใช้ค่าปรับค่าแรงงานและค่าเช่ารถบดลดลงจากที่ศาลชั้นต้นพิพากษาอีก 21,000 บาทส่วนจำเลยที่ 2 นั้น โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบถึงความเสียหายที่ได้รับภายในกำหนดตามสัญญา และสัญญาซื้อขายยางแอสฟัลท์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 สมบูรณ์ จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าซื้อยางแอสฟัลท์ให้โจทก์ตามสัญญาค้ำประกัน จึงพิพากษาให้แก้พิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 137,902 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นพิพากษาจนกว่าจะชำระเงินให้โจทก์เสร็จหากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระ ให้จำเลยที่ 2 ชำระแทนจนครบ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

โจทก์ จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาได้ตรวจสำนวนและประชุมปรึกษาคดีแล้ว ประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยในชั้นฎีกา ตามฎีกาของโจทก์ ของจำเลยที่ 1 และของจำเลยที่ 2 มี 6 ประเด็นด้วยกัน คือ

1. ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 เคลือบคลุมหรือไม่

2. ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ขาดอายุความเรื่องละเมิดหรือไม่

3. โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาและต้องชดใช้ค่าเสียหายให้จำเลยที่ 1เพราะโจทก์ส่งมอบยางแอสฟัลท์ให้จำเลยที่ 1 ล่าช้าหรือไม่

4. เมื่อจำเลยที่ 1 มิได้โต้แย้งการที่โจทก์ส่งมอบยางแอสฟัลท์ล่วงเวลา จึงถือได้ว่าไม่มีการผิดสัญญา และจำเลยที่ 1 จะเรียกร้องค่าเสียหายจากโจทก์ไม่ได้ หรือไม่

5. ค่าเสียหายของจำเลยที่ 1 ถ้าหากมี มีเพียงใด

6. จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกันหรือไม่

ตามประเด็นข้อ 1 โจทก์ฎีกาว่า ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 เคลือบคลุม เพราะจำเลยที่ 1 มิได้บรรยายฟ้องให้ชัดแจ้งว่าจำเลยที่ 1 ต้องผูกพันตามสัญญาจ้างเหมาต่อกรมทางหลวงด้วยเงื่อนไขประการใดจะต้องส่งมอบงานสร้างทางให้เสร็จเรียบร้อยภายในเวลาใด หากส่งไม่ทันจะต้องถูกปรับอย่างไร เป็นเงินเท่าใด ทั้งสัญญาจ้างสร้างทางระหว่างกรมทางหลวงกับจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 1 อาศัยเป็นหลักข้ออ้างจำเลยที่ 1 ก็ไม่ส่งประกอบคำให้การและฟ้องแย้ง โจทก์ไม่สามารถต่อสู้คดีในประเด็นข้อนี้ได้นั้น ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ตามคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา แล้วว่า ก่อนที่จะได้มีการทำสัญญาซื้อขายรายพิพาทจำเลยที่ 1 ได้เสนอขอซื้อยางแอสฟัลท์จากโจทก์โดยได้แจ้งให้โจทก์ทราบว่า จำเลยที่ 1 จะนำยางแอสฟัลท์ไปใช้ในงานจ้างเหมาสร้างทางตอนแยกเข้าพระพุทธบาทสระบุรี ซึ่งจำเลยที่ 1 รับจ้างเหมามาจากกรมทางหลวงตามเอกสารหมายเลข 1 ท้ายคำให้การและฟ้องแย้งเป็นการแสดงโดยแจ้งชัดแล้วว่าจำเลยที่ 1 จำเป็นต้องใช้ยางแอสฟัลท์เป็นการด่วน โจทก์ย่อมทราบดีจากคำให้การและฟ้องแย้งประกอบกับเอกสารท้ายคำให้การและฟ้องแย้งดังกล่าวว่า ถ้าหากจำเลยที่ 1 ทำงานที่รับจ้างเหมาสร้างถนนไม่เสร็จภายในกำหนดย่อมจะถูกกรมทางหลวงปรับและเมื่อโจทก์ส่งยางแอสฟัลท์ให้จำเลยที่ 1 ล่าช้า จำเลยที่ 1 จึงไม่สามารถส่งมอบงานรับจ้างเหมาให้กรมทางหลวงทันตามกำหนดจึงถูกกรมทางหลวงปรับ 46,500 บาท ข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่โจทก์ตำหนิว่าจำเลยมิได้กล่าวในคำฟ้องแย้งนั้น เป็นเพียงรายละเอียดที่จำเลยที่ 1 มีสิทธิที่จะนำสืบได้ในชั้นพิจารณา คำฟ้องแย้งของจำเลยไม่เคลือบคลุม ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

ในประเด็นข้อ 2 โจทก์ฎีกาว่าฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ขาดอายุความแล้ว เพราะจำเลยที่ 1 ได้รับมอบยางงวดสุดท้าย เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2509 แต่จำเลยที่ 1 ฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2511 เกินกำหนดอายุความเรื่องละเมิด ในประเด็นนี้ในศาลชั้นต้น โจทก์ยื่นคำให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ฟ้องแย้งของจำเลยล่วงเลยอายุความ 2 ปีจึงขาดอายุความ จึงเห็นได้ว่าประเด็นเรื่องอายุความที่โจทก์ตั้งเป็นข้อต่อสู้มาแต่แรกเป็นอายุความในมูลสัญญาซื้อขายและมิใช่ในมูลละเมิดดังเช่นที่โจทก์ได้ตั้งเป็นข้อต่อสู้ขึ้นใหม่ในชั้นอุทธรณ์และในชั้นฎีกา เมื่อประเด็นข้อนี้มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแต่ศาลชั้นต้นจึงต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคแรก ศาลฎีกาไม่วินิจฉัยให้

ประเด็นข้อ 3 โจทก์ฎีกาว่า การที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบงานรับจ้างเหมาสร้างถนนให้กรมทางหลวงล่าช้านั้นมิใช่เป็นเพราะโจทก์ส่งยางแอสฟัลท์ให้จำเลยที่ 1 ไม่ทัน หากแต่เป็นเพราะความบกพร่องของจำเลยที่ 1 เอง ที่เริ่มงานล่าช้า ขาดเครื่องมือ และผู้ควบคุมงานของจำเลยที่ 1 ขาดความรู้ความชำนาญ ทั้งระหว่างนั้นฝนตก นอกจากนั้นโจทก์ไม่ทราบว่า จำเลยที่ 1 ต้องเร่งด่วนสร้างทางอย่างไร โจทก์เพิ่งทราบจากจำเลยที่ 1 โดยหนังสือฉบับลงวันที่ 13 มิถุนายน 2509 ว่าจำเลยที่ 1 ต้องสร้างทางรายพิพาทให้เสร็จภายในวันที่ 14 พฤษภาคม 2509 ซึ่งโจทก์ก็ได้จัดส่งยางแอสฟัลท์ให้จำเลยที่ 1 เสร็จเรียบร้อยภายใน 2 สัปดาห์หลังจากนั้น ถ้าจำเลยที่ 1 เร่งรัดราดยางแอสฟัลท์ในทันทีทันใดที่ได้รับยางจากโจทก์ ก็ไม่ควรจะล่าช้าต่อมาอีกถึง 9 วัน พิเคราะห์แล้วเห็นว่า จริงอยู่ตามสัญญาซื้อขายรายพิพาท (เอกสาร จ.ล.11) มิได้กำหนดให้โจทก์ส่งยางแอสฟัลท์ให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อใดแต่ก่อนที่จะทำสัญญาซื้อขายรายพิพาท โจทก์ก็ทราบจากหนังสือติดต่อขอซื้อยางแอสฟัลท์จากจำเลยที่ 1 อยู่แล้วว่า จำเลยต้องเร่งรัดสร้างทางสายนี้เพียงใด และจำเลยที่ 1 ก็กล่าวไว้แล้วว่าตนได้ทำงานเกือบถึงขั้นราดยางแอสฟัลท์แล้วจึงขอซื้อยางแอสฟัลท์จากโจทก์ ทั้งเมื่อได้ทำสัญญากันแล้ว จำเลยที่ 1 ก็ได้แจ้งไปยังโจทก์ในวันรุ่งขึ้น คือ วันที่ 28 เมษายน 2509 ให้โจทก์ส่งยางแอสฟัลท์ให้จำเลยที่ 1 (เอกสาร จ.2) แต่โจทก์ก็เพิ่งส่งยางแอสฟัลท์ให้จำเลยงวดแรกวันที่ 10 พฤษภาคม 2509 และต่อมาจำเลยที่ 1 ก็ได้เตือนโจทก์ให้รีบส่งยางแอสฟัลท์อีก เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2509 (เอกสาร ล.6) เพราะโจทก์ส่งยางแอสฟัลท์ให้จำเลยที่ 1 ได้น้อยมาก ขอให้ส่งให้จำเลยที่ 1 ให้ครบถ้วนภายใน 7 วัน แต่โจทก์ได้ใช้เวลาส่งถึง 23 วัน และเพิ่งส่งให้จำเลยที่ 1 ครบถ้วน เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2509 เกินกำหนดที่ควรจะส่งให้ครบถ้วนถึง 1 เดือน นายทรงไชย มีกำพล พยานจำเลยและนายเทียม สิงห์จูพยานโจทก์ซึ่งต่างก็เป็นนายช่างโท กรมทางหลวงผู้มีหน้าที่ควบคุมงานสร้างทางสายพิพาทนี้ด้วยกัน ก็เบิกความยืนยันว่าเหตุที่จำเลยที่ 1 สร้างทางไม่เสร็จ เพราะไม่มียางแอสฟัลท์มาราดทางที่ได้ตระเตรียมบดหินและลงพื้นเรียบร้อยพร้อมที่จะราดยางได้แล้ว แต่ในขณะเดียวกันจำเลยที่ 1 ก็ทำงานล่าช้าด้วยเพราะมีเครื่องจักรน้อยและทำการราดยางในหน้าฝน จึงทำไม่สะดวกต้องจัดทำครั้งละซีกถนนและเป็นตอน ๆ ไป อนึ่งในเรื่องความล่าช้าในการส่งมอบงานสร้างทางนี้เห็นได้ชัดแจ้งว่า ถึงแม้ว่า โจทก์จะส่งมอบยางแอสฟัลท์ให้จำเลยที่ 1 ได้ตามวันที่จำเลยที่ 1 เรียกร้องมาตามหนังสือฉบับลงวันที่ 13 มิถุนายน 2509 โดยให้โจทก์จัดส่งให้ภายใน 7 วันนับแต่วันที่โจทก์ได้รับหนังสือนั้นกล่าวคือวันที่ 15 มิถุนายน 2509 ซึ่งโจทก์ต้องส่งยางแอสฟัลท์ให้จำเลยที่ 1 ภายในวันที่ 12 มิถุนายน 2509 ก็ตาม จำเลยก็คงส่งมอบงานสร้างทางให้กรมทางหลวงไม่ทันกำหนดอยู่นั่นเอง เพราะตามสัญญาที่จำเลยที่ 1 ทำไว้กับกรมทางหลวงนั้น จำเลยที่ 1 จะต้องส่งมอบทางที่สร้างให้กรมทางหลวงภายในวันที่ 14 พฤษภาคม 2509

โดยสรุป การที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบงานสร้างทางพิพาทให้กรมทางหลวงไม่ทันนั้น ทั้งฝ่ายโจทก์ และจำเลยที่ 1 ต่างมีส่วนบกพร่องในความล่าช้าด้วยกัน ตามที่ศาลล่างทั้งสองศาลวินิจฉัยต้องกันมาให้โจทก์กับจำเลยที่ 1 มีส่วนต้องรับผิดในความเสียหาย เนื่องจากความล่าช้าคนละครึ่ง และโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้จำเลยที่ 1 นั้น ต้องด้วยความเห็นศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ประเด็นข้อ 4 โจทก์ฎีกาว่า เมื่อจำเลยที่ 1 มิได้บอกเลิกสัญญาหรือโต้แย้งการที่โจทก์ส่งมอบยางแอสฟัลท์ล่วงเวลาแต่ประการใดจึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ผิดสัญญา และต้องถือว่าการซื้อขายเป็นอันสมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 508(1) และ (4) นั้นพิเคราะห์แล้วเห็นว่าตามสัญญาที่จำเลยที่ 1 ทำไว้กับกรมทางหลวง(เอกสาร ล.1) นั้น จำเลยจะต้องซื้อยางแอสฟัลท์จากโจทก์แต่เพียงแห่งเดียวเท่านั้น ทั้งสัญญาซื้อขายรายพิพาท (เอกสาร จ.ล.11) ก็บังคับไว้เช่นนั้น จำเลยที่ 1 จึงไม่มีทางเลือกหรือบอกเลิกสัญญากับโจทก์ อย่างไรก็ตามจำเลยที่ 1 ก็ได้โต้แย้ง สงวนสิทธิของจำเลยในอันที่จะเรียกร้องค่าเสียหายไว้แล้วตามเอกสาร ล.6 จะถือว่าการซื้อขายสมบูรณ์ไม่ได้ จำเลยมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากโจทก์ได้

ประเด็นข้อ 5 ในเรื่องค่าเสียหายของจำเลยที่ 1 นั้น โจทก์ฎีกาว่า สำหรับค่าแรงกรรมกรวันละ 1,000 บาท และค่าจ้างรถบดถนนอีกวันละ 400 บาทนั้น ไม่จำเป็นต้องใช้คนมาก ไม่มีหลักฐานมาแสดงและถ้าหากโจทก์ต้องรับผิดก็ไม่ควรเกิน 10 วัน และในประเด็นเดียวกันนี้ จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าที่จำเลยที่ 1 เรียกร้องเพียง 42,000 บาทนั้นจำเลยที่ 1 ลดให้โจทก์ในชั้นเจรจารอมชอมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ก่อนมีการฟ้องร้องคดีนี้แล้ว ความจริงจำเลยที่ 1 เสียหายมากกว่านั้นอีก 1 เท่าตัว พิเคราะห์แล้วเห็นว่า เมื่อทนายจำเลยที่ 1 แจ้งให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายให้จำเลยที่ 1 ก็ได้เรียกร้องค่าเสียหายในเรื่องค่าแรงงานและค่าเช่าเครื่องทุ่นแรงไป 42,000 บาทซึ่งก็ควรจะหมายถึงค่าเสียหายดังกล่าวสำหรับระยะเวลาที่จำเลยที่ 1ส่งมอบงานให้กรมทางหลวงล่าช้าไปทั้งสิ้น 62 วัน และมิใช่ 30 วันดังที่จำเลยที่ 1 ฎีกา ส่วนที่จำเลยอ้างว่า เสียค่าแรงงานไปวันละ 1,000 บาท และค่าจ้างรถบดถนนอีกวันละ 400 บาท ก็มีเพียงนายทวีผล พึ่งพรสวรรค์ กรรมการผู้จัดการของบริษัทจำเลยที่ 1 เบิกความในเรื่องนี้ และไม่มีหลักฐานอื่นใดสนับสนุน ตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้โจทก์รับผิดในความเสียหายของจำเลยที่ 1 ในเรื่องค่าแรงงานกรรมกรและค่าจ้างรถบดถนนรวม 21,000 บาทนั้นเหมาะสมกับพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ฎีกาของโจทก์และฎีกาของจำเลยที่ 1 ในประเด็นข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ประเด็นข้อ 6 จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าตนไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกัน เพราะ

(ก) โจทก์เองเป็นฝ่ายผิดสัญญาแต่ฝ่ายเดียว โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1

(ข) โจทก์ผ่อนเวลาชำระหนี้ให้จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จึงหลุดพ้นความรับผิดตามสัญญาค้ำประกัน และ

(ค) การค้ำประกันของจำเลยที่ 2 มีกำหนดเพียง 120 วันนับตั้งแต่วันที่ 27 เมษายน 2509 ถึงวันที่ 24 สิงหาคม 2509 เมื่อโจทก์มิได้แจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบถึงผลเสียหายของโจทก์ตามสัญญาภายในกำหนดดังกล่าว จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิด

สำหรับ (ก) นั้น ศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้แล้วในประเด็นข้อ 3, 4 และ 5

ส่วน (ข) นั้น จำเลยที่ 2 มิได้ยกขึ้นต่อสู้มาแต่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคแรก ศาลฎีกาไม่วินิจฉัยให้

(ค) ในข้อนี้ จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าตนไม่ต้องรับผิดโดยอ้างสัญญาค้ำประกันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ฉบับลงวันที่ 26 เมษายน2509 (เอกสาร จ.1) ข้อ 3 ซึ่งมีข้อความว่า “หนังสือค้ำประกันฉบับนี้มีกำหนดระยะเวลาหนึ่งร้อยยี่สิบวัน นับแต่วันที่ 27 เมษายน 2509จนถึงวันที่ 24 สิงหาคม 2509 พ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าวนี้แล้วธนาคารไม่รับผิดชอบอย่างใด ๆ ทั้งสิ้น หากเกิดการเสียหายขึ้นภายในระยะเวลาที่ธนาคารค้ำประกันจะต้องแจ้งให้ธนาคารทราบภายในกำหนดเจ็ดวัน นับแต่วันที่ได้รับความเสียหายเป็นต้นไป แต่ทั้งนี้จะต้องอยู่ภายในกำหนดระยะเวลาการค้ำประกันของธนาคาร มิฉะนั้นธนาคารหลุดพ้นจากความรับผิด” เมื่อโจทก์มิได้แจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบถึงความเสียหายที่โจทก์ได้รับภายในวันที่ 24 สิงหาคม 2509 จำเลยที่ 2 จึงหลุดพ้นจากความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันฉบับพิพาท

เมื่อพิจารณาสัญญาค้ำประกันฉบับพิพาทข้อนี้แล้ว ย่อมเห็นได้ว่ามีข้อความเคลือบคลุมและมีช่องทางที่จะตีความไปได้ดังที่จำเลยที่ 2 ฎีกาขึ้นมา อย่างไรก็ตามในการตีความสัญญานั้นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 368 บัญญัติให้ตีความไปตามความประสงค์ในทางสุจริต โดยพิเคราะห์ถึงปรกติประเพณีด้วย การที่จะทราบความประสงค์ของคู่สัญญารายนี้ ย่อมต้องพิจารณาสัญญาข้ออื่น ๆ ในสัญญาค้ำประกันรายพิพาท (เอกสาร จ.1) อันเป็นสัญญาอุปกรณ์ และสัญญาซื้อขายยางแอสฟัลท์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 (เอกสาร จ.ล.11) ซึ่งเป็นสัญญาประธานประกอบด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อ 4 และข้อ 6 ของสัญญาซื้อขายยางแอสฟัลท์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1

สัญญาซื้อขายฉบับพิพาทข้อ 4 มีความว่า “ผู้ซื้อสัญญาว่าจะชำระค่าแอสฟัลท์ซีเมนต์และคัทแบคแอสฟัลท์ตามสัญญานี้ให้แก่ผู้ขายภายใน60 (หกสิบ) วัน นับแต่วันที่ผู้ขายได้ส่งมอบให้แล้ว โดยผู้ซื้อต้องนำหนังสือค้ำประกันของธนาคารแห่งกรุงศรีอยุธยา จำกัดมาวางไว้เป็นประกันในวงเงิน 185,000 บาท ถ้าผู้ซื้อไม่ชำระเงินให้แก่ผู้ขายได้ตามที่กล่าวไว้ข้างต้น ผู้ขายจะเรียกร้องให้ธนาคารแห่งกรุงศรีอยุธยา จำกัด ชำระเงินแทนผู้ซื้อตามจำนวนเงินทั้งหมด”

ข้อ 6 ของสัญญาฉบับเดียวกันนี้ระบุว่า “ถ้าผู้ซื้อไม่ปฏิบัติตามสัญญาด้วยเหตุใด ๆ ก็ตาม ผู้ขายมีสิทธิเรียกร้องจากธนาคารแห่งกรุงศรีอยุธยา จำกัด ให้ชดใช้เงินตามหนังสือสัญญาค้ำประกันเป็นจำนวนเงินตามที่ผู้ขายได้เสียหายไปจริง ฯลฯ”

เมื่อพิเคราะห์ข้อสัญญาข้อ 4 และข้อ 6 แห่งสัญญาซื้อขายประกอบกับข้อ 3 ของสัญญาค้ำประกันฉบับพิพาทแล้วจะเห็นได้ชัดแจ้งว่า ความประสงค์ของโจทก์และจำเลยที่ 2 ในขณะทำสัญญาค้ำประกันฉบับพิพาทคือระยะเวลา 120 วันของการค้ำประกัน ในข้อ 3 ของสัญญาค้ำประกันนั้น ย่อมต้องหมายความถึงระยะเวลาที่โจทก์อาจส่งมอบยางแอสฟัลท์ให้จำเลยที่ 1 ได้เท่านั้น และมิได้หมายความรวมตลอดไปถึงระยะเวลาที่จำเลยที่ 2 จะต้องได้รับคำบอกกล่าวจากโจทก์ให้ชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ชำระด้วย มิฉะนั้นสัญญาค้ำประกันฉบับพิพาทย่อมเป็นหลักประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ได้เพียงบางส่วนเท่านั้น ดังนั้น เมื่อโจทก์ได้ส่งมอบยางแอสฟัลท์งวดสุดท้ายให้แก่จำเลยที่ 1 ภายในกำหนดระยะเวลา 120 วันนั้นแล้ว จำเลยที่ 1 ก็ยังมีโอกาสจะชำระหนี้ค่ายางแอสฟัลท์ได้ภายใน 60 วัน จากวันที่โจทก์ส่งมอบยางครั้งสุดท้ายนั้น และหากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระ โจทก์ย่อมเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 ชำระได้ภายใน 7 วัน โดยนับต่อจากวันสุดท้ายที่จำเลยที่ 1 อาจจะชำระให้โจทก์ได้

การตีความสัญญาค้ำประกันและสัญญาซื้อขายพิพาททั้งสองฉบับตามนัยนี้ย่อมต้องด้วยความประสงค์ของคู่สัญญาโดยสุจริต และตามปกติประเพณีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 368 ตรงกันข้ามการตีความสัญญาค้ำประกันฉบับพิพาทตามที่จำเลยที่ 2 ฎีกานั้นแม้จะเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ก็ตาม ถ้าจำเลยที่ 2 เองเป็นโจทก์ในขณะทำสัญญานั้นจำเลยที่ 2 ก็จะไม่ประสงค์เช่นนั้นแน่นอน การตีความสัญญาดังกล่าวจึงหาต้องตามความประสงค์โดยสุจริตของคู่สัญญาขณะทำสัญญาไม่จึงถือได้ว่าการตีความดังกล่าวไร้ผล เมื่อความข้อใดข้อหนึ่งในเอกสารอาจตีความได้เป็นสองนัย นัยไหนจะทำให้เป็นผลบังคับได้ มาตรา 10 แห่ง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ให้ถือตามนัยนั้น ดีกว่าที่จะถือเอานัยที่ไร้ผล เพราะฉะนั้น ในปัญหานี้ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าโจทก์ส่งมอบยางแอสฟัลท์งวดสุดท้ายในวันที่ 6 กรกฎาคม 2509 จำเลยที่ 1 ย่อมมีโอกาสที่จะชำระราคายางนี้ได้ ใน 60 วัน คือภายในวันที่ 4 กันยายน 2509 หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระ โจทก์ต้องแจ้งให้จำเลยที่ 2 ชำระภายใน 7 วัน กล่าวคือภายในวันที่ 11 กันยายน 2509 เมื่อปรากฏว่าโจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบในวันที่ 1 กันยายน 2509 (เอกสาร ล.9) จึงต้องถือว่า โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบภายในกำหนดเวลาตามสัญญาค้ำประกันฉบับพิพาทแล้ว ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนีรายพิพาทจำเลยที่ 2 ย่อมต้องรับผิดชำระให้โจทก์ตามสัญญาค้ำประกันฉบับพิพาททุกประการ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผลแห่งคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ในประเด็นข้อนี้ ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน ให้ยกฎีกาของโจทก์ และจำเลยทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share