คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1478/2517

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การเปลี่ยนตัวกรรมการสมาคมโดยมิได้จดทะเบียนการเปลี่ยนแปลนั้นต่อนายทะเบียน ย่อมไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย และต้องถือว่ากรรมการที่ได้จดทะเบียนไว้เดิมยังเป็นกรรมการโดยชอบด้วยกฎหมายตลอดมา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า สมาคมโหรแห่งประเทศไทยเป็นนิติบุคคล เมื่อเดือนมีนาคม 2512 สมาชิกของสมาคมได้เลือกจำเลยบางคนและโจทก์บางคนกับผู้มีชื่อรวม 15 คน เป็นกรรมการประจำ พ.ศ. 2512 กรรมการดังกล่าวได้เลือกจำเลยที่ 1 เป็นนายกสมาคม ต่อมาจำเลยที่ 1ลาออกจากการเป็นกรรมการ คณะกรรมการได้เลือกตั้งโจทก์ที่ 1 เป็นนายกสมาคมแทน หลังจากนั้นคณะกรรมการได้มีมติให้จำเลยที่ 16และ 17 ขาดจากสมาชิกภาพ และได้มีการเปลี่ยนตัวกรรมการบางคนต่อมากรรมการคณะของโจทก์ได้จัดให้มีการประชุมใหญ่เพื่อเลือกตั้งกรรมการชุดใหม่ โดยโจทก์ที่ 1 ได้ทำหน้าที่ประธานที่ประชุมและมีสมาชิกมาประชุมครบองค์ประชุมตามข้อบังคับ จำเลยได้สมคบกันวางแผนโค่นล้มการประชุมใหญ่และเปลี่ยนคณะกรรมการใหม่โดยพลการโดยจำเลยได้ร่วมกันขัดขวางการประชุมตะโกนไล่โจทก์ที่ 1 ลงจากที่นั่งประธาน อ้างว่าโจทก์ทั้งหมดไม่มีฐานะเป็นกรรมการ เพราะไม่ได้จดทะเบียนเปลี่ยนชื่อกรรมการต่อนายทะเบียนสมาคม โจทก์ที่ 1ไม่ใช่นายกสมาคม ไม่มีอำนาจหน้าที่เป็นประธานที่ประชุมตามข้อบังคับโจทก์ที่ 1 ขอร้องให้ที่ประชุมสงบเสียงก็ไม่เป็นผล โจทก์ที่ 1จึงประกาศปิดประชุม จำเลยที่ 6 ได้ชวนเชิญสมาชิกให้ประชุมต่อไปโดยเชิญหลวงสุนาวินวิวัฒน์กรรมการที่ถูกต้องที่ปรากฏทางทะเบียนเมื่อ พ.ศ. 2495 ซึ่งยังมีชีวิตอยู่ เป็นประธานชั่วคราว และได้ดำเนินการออกเสียงเลือกตั้งกรรมการสมาคมประจำปี พ.ศ. 2513ได้แก่จำเลยที่ 1 ถึง 15 กรรมการได้เลือกตั้งจำเลยที่ 1 เป็นนายกสมาคม โดยสมาชิกอื่นซึ่งอยู่ต่างจังหวัดไม่ทราบล่วงหน้าเป็นการผิดกฎหมายและข้อบังคับของสมาคมและละเมิดสิทธิของโจทก์จำเลยที่ 1 – 17 ได้เข้าครอบครองสำนักงาน ทรัพย์สิน เอกสารสมุดหนังสือของสมาคม จำเลยที่ 17 ได้รับแต่งตั้งจากพวกจำเลยให้ทำหน้าที่ผู้ช่วยบรรณาธิการหนังสือพิมพ์พยากรณ์สาร อันเป็นกิจการของสมาคม และจำเลยได้สั่งจำเลยที่ 7 บรรณาธิการหนังสือ “พยากรณสาร” พิมพ์รายชื่อจำเลยทั้งหมดลงในหนังสือพิมพ์ “พยากรณสาร” ว่าเป็นคณะกรรมการประจำ พ.ศ. 2513 เป็นการไม่ชอบ และจำเลยได้นำรายชื่อจำเลยไปจดทะเบียนเปลี่ยนตัวกรรมการต่อเจ้าพนักงานแผนกทะเบียนสมาคมกองตำรวจสันติบาล กรมตำรวจ โดยมิชอบ ขอให้ห้ามจำเลยที่ 1-15 เข้าเกี่ยวข้องในสำนักงานของสมาคม และดำเนินกิจการใด ๆ ของสมาคมในฐานะกรรมการสมาคม และห้ามจำเลยที่ 16 และ 17 เข้าเกี่ยวข้องในสำนักงานสมาคมโหรแห่งประเทศไทยในฐานะสมาชิกสมาคมโหรแห่งประเทศไทย ให้จำเลยส่งมอบกิจการ ทรัพย์สิน เอกสาร สมุดหนังสือของสมาคมแก่โจทก์ในฐานะคณะกรรมการรักษาการสมาคมโหรแห่งประเทศไทย ให้จำเลยที่ 7 ในฐานะบรรณาธิการหนังสือพิมพ์”พยากรณสาร” ของสมาคมโหรแห่งประเทศไทยประจำ พ.ศ. 2513 งดเว้นตีพิมพ์รายชื่อจำเลยในฐานะกรรมการสมาคมโหรแห่งประเทศไทยประจำ พ.ศ. 2513 และงดเว้นตีพิมพ์รายชื่อจำเลยที่ 17 ในฐานะผู้ช่วยบรรณาธิการ ให้เพิกถอนทะเบียนสมาคม (ส.ค.2) เลขลำดับ จ.337 ของแผนกทะเบียนสมาคมกองตำรวจสันติบาล กรมตำรวจ ลงวันที่ 29 กันยายน 2513 หรือให้ยื่นคำขอถอนคำขอจดทะเบียนดังกล่าว ถ้าจำเลยไม่จัดการ ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย

จำเลยทั้งหมดให้การ และจำเลยที่ 1 ฟ้องแย้งด้วยว่าจำเลยไม่ได้ทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 1 ได้รับเลือกเป็นนายกสมาคมในปี พ.ศ. 2511-2513 โจทก์ที่ 1 เป็นนายกสมาคมต่อจากจำเลยที่ 1 เพียงบางส่วนของระยะเวลาในปี พ.ศ. 2512-2513 แต่โจทก์ที่ 1 มิได้ไปจดทะเบียนต่อแผนกสมาคม กรมตำรวจ ให้ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1284 ความเป็นนายกของโจทก์ที่ 1 และความเป็นกรรมการหรือกรรมการเจ้าหน้าที่อื่นของโจทก์ที่ 2-13 จึงไม่สมบูรณ์ การประชุมประจำปีเพื่อเลือกตั้งคณะกรรมการใหม่ (ครั้งที่เกิดเหตุคดีนี้) เป็นไปโดยชอบ จำเลยที่ 1 ได้รับเลือกเป็นนายกสมาคม จำเลยที่ 3 และ 4 ได้รับตำแหน่งเลขาธิการและผู้ช่วยเลขาธิการ จำเลยนอกนั้นได้รับเลือกเป็นกรรมการโดยชอบด้วยกฎหมายและได้จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการสมาคมแล้ว จึงสมบูรณ์ จำเลยที่ 7 ในฐานะบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ “พยากรณสาร” พิมพ์รายชื่อของจำเลยทั้งหมดในหนังสือพิมพ์นั้นโดยชอบตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 โจทก์ที่ 9 ได้ลาออกจากกรรมการและสมาชิกของสมาคมแล้วจึงไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 1 ได้ขอให้โจทก์ที่ 1, 2, 3 และ 4 ส่งมอบกิจการและเอกสารรวมทั้งอำนาจเกี่ยวกับการเงินในธนาคาร และกิจการของสมาคมแก่จำเลยที่ 1 และคณะ โจทก์ที่ 2 ในนามของโจทก์ที่ 1 และตนเองได้ตอบปฏิเสธ ขอให้ยกฟ้องโจทก์ และให้โจทก์ที่ 1, 2, 3 และ 4 ส่งมอบกิจการ เอกสาร และอำนาจทางการเงินของสมาคมโหรแห่งประเทศไทยให้จำเลยที่ 1 ห้ามมิให้เกี่ยวข้องในหน้าที่กรรมการต่อไป

โจทก์ที่ 1-4 ให้การแก้ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 มิได้เป็นกรรมการของสมาคมโดยได้รับเลือกตั้งจากสมาชิกโดยชอบด้วยข้อบังคับและกฎหมาย การจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการจึงไม่ชอบด้วยข้อบังคับของสมาคม การที่โจทก์มิได้จดทะเบียนไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติว่าความเป็นกรรมการไม่สมบูรณ์ การที่จำเลยสมคบกันวางแผนโค่นล้มการประชุมใหญ่ และขับไล่โจทก์ที่ 1 ในฐานะประธานของที่ประชุมใหญ่ เป็นการละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ทุกคนเป็นกรรมการโดยชอบจึงมีอำนาจฟ้อง โจทก์ไม่ได้ฟ้องขอให้เพิกถอนมติของสมาคม โจทก์ที่ 9 ไม่ได้ลาออกจากกรรมการและสมาชิกของสมาคมขอให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1-15 เป็นกรรมการสมาคมโดยชอบและจำเลยที่ 16, 17 มีสิทธิที่จะปฏิบัติงานธุรการของสมาคมได้ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยประเด็นข้ออื่น พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ให้โจทก์ที่ 1-4 ส่งมอบกิจการและเอกสารรวมทั้งอำนาจทางการเงินของสมาคมให้แก่จำเลยที่ 1 กับห้ามมิให้เกี่ยวข้องในหน้าที่กรรมการตามฟ้องแย้ง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติได้ว่า สมาคมโหรแห่งประเทศไทยจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลสมาคมนี้ได้เลือกตั้งกรรมการในเดือนมีนาคมทุกปีตลอดมา และได้จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการมาจนถึงปี พ.ศ. 2495 ปี พ.ศ. 2512 จำเลยที่ 1 ได้รับเลือกเป็นกรรมการและเป็นนายกสมาคมและได้ลาออกไปก่อนครบกำหนดวาระ เนื่องจากจำเลยที่ 1 มีความเห็นขัดแย้งกับมติที่ประชุมวิสามัญครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2512 ที่มีมติให้สมาชิกเลือกตั้งกรรมการสมาคมส่งบัตรเลือกตั้งทางไปรษณีย์ โดยไม่ต้องเลือกตั้งกรรมการสมาคมในที่ประชุมใหญ่ เป็นการขัดกับข้อบังคับของสมาคมโจทก์ได้รับเลือกเป็นกรรมการสมาคม และโจทก์ที่ 1 ได้รับเลือกเป็นนายกสมาคมสืบแทนจำเลยที่ 1 และอยู่ในตำแหน่งตามวาระจนถึงเดือนมีนาคม 2513 ในระหว่างที่โจทก์ทำหน้าที่กรรมการสมาคมมิได้จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการสมาคมตามกฎหมายและได้มีมติให้จำเลยที่ 16 และ 17 ขาดจากสมาชิกภาพ โจทก์ได้ดำเนินการเลือกกรรมการสมาคมประจำปี พ.ศ. 2513 โดยให้สมาชิกส่งบัตรเลือกตั้งมา จำเลยที่ 3 ในฐานะเลขาธิการของสมาคมได้มีหนังสือนัดประชุมใหญ่พร้อมกับส่งระเบียบวาระการประชุมที่มีเรื่องตั้งอนุกรรมการตรวจนับคะแนนเลือกตั้งไปด้วย ในวันประชุมใหญ่มีสมาชิกมาประชุมประมาณ 90 คน ครบองค์ประชุม โจทก์ที่ 1 ทำหน้าที่ประธานที่ประชุม เมื่อถึงระเบียบวาระดังกล่าว สมาชิกต่างคัดค้านว่าเป็นการผิดข้อบังคับของสมาคม และนำเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งแผนกสมาคม กรมตำรวจ มาชี้แจงว่า โจทก์มิได้จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการ และปรากฏตามหลักฐานทางทะเบียนว่าได้จดทะเบียนกรรมการไว้ถึง พ.ศ. 2495 เท่านั้น สมาชิกจึงคัดค้านการเป็นกรรมการของโจทก์และเชิญพลเรือโทหลวงสุนาวินวิวัฒน์เป็นประธานในที่ประชุมเพื่อดำเนินการประชุมใหญ่เลือกกรรมการสมาคมต่อไป โจทก์ที่ 1 สั่งปิดประชุม แล้วออกจากที่ประชุม ผลของการประชุมใหญ่ปรากฏว่าจำเลยทุกคนได้รับเลือกเป็นกรรมการสมาคม เว้นแต่จำเลยที่ 16 และ 17ซึ่งที่ประชุมได้ลงมติให้คืนสภาพเป็นสมาชิกสมาคมดังเดิม และ จำเลยที่ 1 ได้รับเลือกเป็นนายกสมาคม สมาคมได้จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการถูกต้องตามกฎหมายแล้ว โจทก์ที่ 1-4 ไม่ยอมส่งมอบเอกสารหลักฐานการเงินของสมาคมให้จำเลยที่ 1 โจทก์ที่ 9 ได้ลาออกจากสมาชิกสมาคมเมื่อ พ.ศ. 2513 ขณะที่จำเลยที่ 1 เป็นนายกสมาคม

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ฎีกาว่าโจทก์ยังเป็นกรรมการสมาคมโหรแห่งประเทศไทยโดยชอบด้วยกฎหมาย เพราะประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1284 บังคับสมาคมให้จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการ และพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคมและมูลนิธิ พ.ศ. 2499 มาตรา 52 ก็ให้ลงโทษสมาคมมิใช่กรรมการโจทก์และไม่มีบทบัญญัติใดให้ถือว่ากรรมการโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้นเห็นว่าตามบทมาตราแห่งประมวลกฎหมายและพระราชบัญญัติดังกล่าวมุ่งประสงค์จะให้แผนกทะเบียนกรมตำรวจ ได้ควบคุมสมาคมให้ปฏิบัติการโดยชอบด้วยกฎหมาย และเพื่อที่บุคคลภายนอกจะทราบตัวบุคคลผู้บริหารกิจการสมาคมได้จากหลักฐานทางทะเบียน เพราะเหตุที่สมาคมที่ได้จดทะเบียนแล้วเป็นนิติบุคคลต่างหากจากบุคคลทั้งหลายที่รวมเข้ากันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1282 วรรคแรก เมื่อสมาคมละเลย กฎหมายจึงลงโทษสมาคม แม้จะไม่มีกฎหมายบัญญัติให้กรรมการโจทก์ที่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นกรรมการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายไว้ก็ตาม หากแต่เป็นผลโดยตรงที่เกิดจากการละเลยไม่จดทะเบียนกรรมการโจทก์จึงไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย ต้องถือว่ากรรมการที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วยังเป็นกรรมการโดยชอบด้วยกฎหมายตลอดมา ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

Share