คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 619/2517

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การกระทำซึ่งจะทำให้เกิดความเสียหายแก่ชื่อเสียงถูกดูหมิ่นเกลียดชัง อันเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทนั้น ต้องถือตามความรู้สึกนึกคิดของบุคคลธรรมดาทั่วไป มิใช่ถือเอาแต่ความรู้สึกของผู้ที่อ้างว่าตนเป็นผู้เสียหาย
จำเลยลงภาพวาดมีข้อความกำกับในหนังสือพิมพ์ซึ่งจำเลยเป็นเจ้าของและบรรณาธิการ และมีสำนักงานอยู่ในเขตเทศบาลเมืองยะลากล่าวหาว่ามีการทุจริตในเทศบาล แต่หนังสือพิมพ์ของจำเลยลงข่าวเหตุการณ์และจำหน่ายทั่วไปในจังหวัดภาคใต้ มิได้จำหน่ายเฉพาะในเมืองยะลา และข้อความนั้นไม่มีตอนใดพาดพิงถึงเทศบาลเมืองยะลาโดยเฉพาะเจาะจงหรืออาจเข้าใจได้ว่าเป็นการหมิ่นประมาทใส่ความนายกเทศมนตรีกับคณะเทศมนตรีเมืองยะลาในขณะนั้น ทั้งในช่วงระยะปีเศษก่อน มีการโฆษณาภาพและข้อความนั้น เทศบาลเมืองยะลาก็มีการเปลี่ยนคณะเทศมนตรีถึง 7 ชุด คณะเทศมนตรีเมืองยะลาในขณะนั้นจึงไม่เป็นผู้เสียหายอันจะฟ้องร้องให้ลงโทษจำเลยฐานหมิ่นประมาทได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นเจ้าของ บรรณาธิการ ผู้พิมพ์โฆษณาหนังสือพิมพ์ชาวใต้ราย 5 วัน โดยพิมพ์ออกจำหน่ายแก่ประชาชนทุก5 วัน เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2512 เวลากลางวันและกลางคืนจำเลยได้หมิ่นประมาทใส่ความนายแพทย์สืบสาย สุวรรณจินดานายกเทศมนตรีเมืองยะลา นายสมบัติ ติปยานนท์ และจ่าสิบตำรวจสวัสดิ์สูยะนันท์ เทศมนตรีเมืองยะลา โดยจำเลยโฆษณาด้วยภาพวาด มีข้อความกำกับในเอกสารหนังสือพิมพ์ชาวใต้ประจำวันที่ 21 พฤศจิกายน 2512หน้าแรกในกรอบสี่เหลี่ยม วาดภาพเป็นรูปช้างยืนบนเก้าอี้กำลังเคี้ยวอาหาร และมีรูปสุนัขตัวหนึ่งกำลังกัดหางช้าง อีกตัวหนึ่งกำลังเห่ามีข้อความที่ตัวช้างว่า “ผู้ยิ่งใหญ่เทศบาล” ซึ่งหมายถึงนายแพทย์สืบสาย สุวรรณจินดา กับพวกคณะเทศมนตรีเมืองยะลา กับมีข้อความในกรอบสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ ที่งวงช้างและด้านหน้าช้างว่า “ค่ารื้อโรงพิธี” “ค่าทำถนน” “เงินหล่อเสาไฟฟ้า””ผูกขาดหมู” “เงินเลี้ยงพรรค” “ทำโรงอาหาร” และอื่น ๆ มีข้อความที่หัวช้างว่า”อร่อยจัง” และมีข้อความบนรูปสุนัขกำลังเห่าว่า “เฮ้ อย่าเขมือบ นั่นภาษีประชาชน” ซึ่งภาพวาดและข้อความดังกล่าวหมายถึงว่านายแพทย์สืบสาย สุวรรณจินดา กับพวกคณะเทศมนตรีเมืองยะลาทุจริตฉ้อโกงเงินงบประมาณค่ารื้อโรงพิธีขึ้นระวางช้างสำคัญที่สร้างขึ้นสำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประกอบพิธีขึ้นระวางช้างสำคัญที่ข้างหอประชุมจังหวัดยะลา กับค่าทำถนน และอื่น ๆ แล้วนำหนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าวออกจำหน่ายแก่ประชาชน ดังปรากฏภาพวาดในหนังสือพิมพ์ชาวใต้ฉบับลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2512 ท้ายฟ้องทั้งนี้โดยประการที่น่าจะทำให้นายแพทย์สืบสาย สุวรรณจินดานายสมบัติ ติปยานนท์ และจ่าสิบตำรวจสวัสดิ์ สูยะนันท์ คณะเทศมนตรีเมืองยะลา เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือเกลียดชังเหตุเกิดที่ตำบลสะเตง อำเภอเมืองฯ จังหวัดยะลา คดีนี้นายแพทย์สืบสาย สุวรรณจินดากับคณะเทศมนตรีได้ร้องทุกข์มอบคดีแก่เจ้าพนักงาน แล้วขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328

จำเลยให้การปฏิเสธ ต่อสู้ว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ภาพวาดและข้อความประกอบในหนังสือพิมพ์ที่โจทก์กล่าวในฟ้องไม่ได้หมายความถึงเทศบาลเมืองยะลา นายแพทย์สืบสาย สุวรรณจินดา นายกเทศมนตรีกับคณะเทศมนตรีเมืองยะลา จึงไม่ใช่ผู้เสียหาย ไม่มีสิทธิร้องทุกข์ให้เจ้าพนักงานดำเนินคดีกับจำเลย จำเลยในฐานะประชาชนมีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นเพื่อสาธารณโดยสุจริตใจได้ การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว วินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุมคดีนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับเทศบาล เมื่อมีข้อความว่า “ผู้ยิ่งใหญ่เทศบาล” และมีข้อความอื่นอ่านประกอบกันแล้วทำให้เข้าใจว่าเป็นคณะเทศมนตรีเมืองยะลา ผู้เสียหายทั้งสามเป็นคณะเทศมนตรีเมืองยะลาในขณะนั้น ถือได้ว่าเป็นผู้เสียหาย มีสิทธิร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับจำเลย โจทก์จึงมีสิทธิฟ้อง ภาพวาดและข้อความในหนังสือพิมพ์ของจำเลยเป็นการหมิ่นประมาทใส่ความนายแพทย์สืบสาย สุวรรณจินดา กับคณะเทศมนตรีเมืองยะลา การกระทำของจำเลยไม่เข้าข้อยกเว้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 ให้ลงโทษปรับ 1,000 บาท หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30

โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำคุกจำเลย

จำเลยอุทธรณ์ว่า ในภาพวาดนั้นมิได้ระบุแน่ชัดหรือเฉพาะเจาะจงถึงผู้ใด เป็นภาพการ์ตูนล้อเลียนซึ่งมีอยู่ในหนังสือพิมพ์ทั่วไป เป็นการท้วงติง ติชมโดยสุจริต จำเลยย่อมไม่มีความผิดนายแพทย์สืบสาย สุวรรณจินดากับคณะเทศมนตรีเมืองยะลาไม่ใช่ผู้เสียหาย ขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับยกฟ้องโจทก์

ศาลอุทธรณ์ปรึกษาเห็นว่า ภาพวาดตลอดจนข้อความในภาพนั้นเมื่อประชาชนได้อ่านหนังสือพิมพ์ของจำเลยแล้ว ยังไม่พอเข้าใจว่าเป็นการเขียนภาพล้อตำหนิเทศบาลใด นายแพทย์สืบสาย สุวรรณจินดากับคณะเทศมนตรีไม่ใช่ผู้เสียหาย ไม่มีสิทธิร้องทุกข์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องพิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ทางพิจารณาฟังได้ว่านายแพทย์สืบสาย สุวรรณจินดาผู้เสียหายเข้ารับตำแหน่งนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองยะลา ครั้งสุดท้ายเมื่อเดือน กรกฎาคม 2512 โดยมีนายสมบัติ ดิปยานนท์ และจ่าสิบตำรวจสวัสดิ์ สูยะนันท์ เป็นเทศมนตรีจำเลยเป็นเจ้าของและบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ชาวใต้มีสำนักพิมพ์อยู่ในเขตเทศบาลเมืองยะลา ออกจำหน่าย 5 วันครั้งในจังหวัดยะลา และจังหวัดอื่นอีกในเขตจังหวัดภาคใต้ ที่จะเกิดคดีนี้ หนังสือพิมพ์ชาวใต้ของจำเลยฉบับลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2512 ได้ลงภาพวาดและมีข้อความกำกับตามเอกสารหมาย จ.6 ที่โจทก์กล่าวในฟ้อง

โจทก์นำสืบว่า ภาพช้างนั่งบนเก้าอี้และมีข้อความว่า ผู้ยิ่งใหญ่เทศบาลนั้น หมายความถึงคณะเทศมนตรีเมืองยะลาชุดที่กำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่ในขณะที่หนังสือพิมพ์ของจำเลยออกจำหน่ายซึ่งหมายถึงนายแพทย์สืบสาย สุวรรณจินดา นายกเทศมนตรี นายสมบัติ ติปยานนท์ และจ่าสิบตำรวจสวัสดิ์ สูยะนันท์ เป็นเทศมนตรี ข้อความในกรอบสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ ที่ว่า “ค่ารื้อโรงพิธี” “ค่าทำถนน” “ค่าทำโรงอาหาร” “หล่อเสาไฟฟ้า” ฯลฯ ก็หมายถึงงบประมาณต่าง ๆ ปี 2512 ที่คณะเทศมนตรีชุดนายแพทย์สืบสาย สุวรรณจินดา เสนอขอความเห็นชอบจากสภาเทศบาล แต่สภาพไม่อนุมัติ ซึ่งเงินงบประมาณเหล่านี้ได้มาจากภาษีอากรของประชาชนในเขตเทศบาลเมืองยะลานั่นเอง ส่วนคำว่า “อย่าเขมือบ นั่นภาษีประชาชน” หมายความว่าได้มีการทุจริตกินภาษีของประชาชนไปแล้ว สุนัขตัวสีดำหมายถึงจำเลย ภาพวาดและข้อความประกอบดังกล่าวเป็นการหมิ่นประมาทใส่ความผู้เสียหายทั้งสาม ทำให้ประชาชนในเขตเทศบาลเมืองยะลาและประชาชนทั่วไปดูหมิ่นเกลียดชัง

จำเลยนำสืบว่า ภาพวาดในหนังสือพิมพ์ที่โจทก์กล่าวหา หมายถึงเทศบาลทุกเทศบาล และทุกสมัยที่ผ่านมา เพราะช้างเป็นสัญญลักษณ์ของเทศบาลทุกเทศบาล ข้อความประกอบในภาพก็ไม่ได้มีความหมายถึงผู้เสียหายทั้งสาม ถ้อยคำต่าง ๆ จำเลยได้นำสืบอธิบายความหมายว่าเป็นการเตือนประชาชนให้เลือกคนดี ๆ เข้าไปในเทศบาล เพื่อเทศบาลจะได้ไม่เสียหายและเจริญก้าวหน้าต่อไป จำเลยมีสิทธิกระทำได้

ปัญหาที่จะวินิจฉัยในเบื้องต้นมีว่า นายแพทย์สืบสาย สุวรรณจินดา นายกเทศมนตรี นายสมบัติ ติปยานนท์ และจ่าสิบตำรวจสวัสดิ์ สูยะนันท์ เทศมนตรีเมืองยะลาเป็นผู้เสียหายในคดีนี้หรือไม่

ได้พิเคราะห์ภาพวาด และข้อความที่จำเลยโฆษณาในหนังสือพิมพ์นั้นแล้ว ไม่มีข้อความตอนใดที่พาดพิงถึงเทศบาลเมืองยะลาหรืออาจให้เข้าใจได้ว่าเป็นการหมิ่นประมาทใส่ความนายแพทย์สืบสาย สุวรรณจินดา กับคณะเทศมนตรีเมืองยะลาโดยเฉพาะเจาะจง เพราะปรากฏว่าตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2511 ซึ่งนายแพทย์สืบสาย สุวรรณจินดาเป็นนายกเทศมนตรีเมืองยะลาครั้งแรก จนถึงเดือนพฤศจิกายน 2512 ซึ่งเกิดเป็นคดีนี้ เทศบาลเมืองยะลามีคณะเทศมนตรีสับเปลี่ยนกันถึง 7 ชุด มิใช่มีคณะเทศมนตรีชุดนายแพทย์สืบสาย สุวรรณจินดาเท่านั้น ในความผิดฐานหมิ่นประมาท อันจะทำให้เกิดความเสียหายแก่ชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังนั้น ต้องถือตามความรู้สึกนึกคิดของบุคคลธรรมดาทั่วไป มิใช่ถือเอาแต่ความรู้สึกของผู้ที่อ้างว่าตนเป็นผู้เสียหายเท่านั้น ซึ่งในกรณีนี้โจทก์พยายามแปลความหมายของภาพวาดและข้อความในหนังสือพิมพ์จำเลยไปในทางให้เป็นผลเสียหายแก่ นายแพทย์สืบสาย สุวรรณจินดากับคณะเทศมนตรี เพื่อให้เกิดความรับผิดแก่จำเลยเช่นรูปสุนัข 2 ตัวตัวหนึ่งเห่า อีกตัวหนึ่งกัดหางช้าง ในภาพวาดนั้นโจทก์เปรียบเทียบว่าสุนัขนั้นเป็นจำเลยเป็นต้น และภาพช้างนั่งบนเก้าอี้หมายความว่าคณะเทศมนตรีเมืองยะลา คือ นายแพทย์สืบสาย สุวรรณจินดากับคณะเทศมนตรี กำลังทำหน้าที่อยู่ในวันที่หนังสือพิมพ์จำเลยออกจำหน่ายคนทั่วไปยากที่จะเข้าใจไปถึงเช่นนั้น พยานโจทก์ปากอื่นเช่นนายศรีอินทร์ ดำริ นายรัตน์ อาจลภูติ ที่เข้าใจว่าภาพวาดและข้อความนั้นเกี่ยวกับเทศบาลเมืองยะลา เพราะหนังสือพิมพ์จำเลยเป็นหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นเมืองยะลา ก็ยังฟังเป็นยุติไม่ได้ เนื่องด้วยหนังสือพิมพ์จำเลยมิได้จำหน่ายเฉพาะในเมืองยะลา แต่ได้ลงข่าวเหตุการณ์และจำหน่ายทั่วไปในจังหวัดภาคใต้ นายแพทย์สืบสาย สุวรรณจินดา ก็ว่าไม่เคยทุจริตต่อหน้าที่ จึงไม่น่าที่จะมีมูลให้หนังสือพิมพ์จำเลยเอาไปล้อเลียนใส่ความ ข้อนำสืบของโจทก์ยังไม่พอถือได้ว่านายแพทย์สืบสาย สุวรรณจินดา นายกเทศมนตรีกับคณะเทศมนตรีเมืองยะลาเป็นผู้เสียหายตามนัยบทบัญญัติ มาตรา 2(4) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ไม่มีสิทธิร้องทุกข์ให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีกับจำเลยได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ชอบด้วยรูปคดีแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

Share