คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2600/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่งเรียกให้จำเลยชำระเงินตามเช็คพิพาทและฟ้องเป็นคดีอาญาขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติ ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ ต่อมาโจทก์จำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในคดีแพ่ง โดยมีข้อความระบุว่าไม่ถือว่าได้ตกลงยอมความในคดีอาญา หากจำเลยได้ชำระหนี้ตามสัญญานี้ โจทก์ยังประสงค์ที่จะดำเนินคดีอาญากับจำเลยจนถึงที่สุด ดังนี้ ผลของสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งย่อมทำให้โจทก์มีสิทธิที่จะเรียกให้จำเลยชำระหนี้แก่ตนตามสัญญาประนีประนอมยอมความเท่านั้น หนี้ที่จำเลยออกเช็คพิพาทเพื่อใช้เงินจึงเป็นอันสิ้นผลผูกพัน และเมื่อหนี้สิ้นผลผูกพันไปก่อนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีอาญา คดีจึงเป็นอันเลิกกัน สิทธิของโจทก์ในการนำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปด้วย และสิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปนี้ย่อมเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย ไม่ใช่เรื่องที่คู่สัญญาจะทำสัญญาหรือตกลงกันไม่ให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปได้ ข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความที่ระบุไม่ให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องเป็นอันระงับไป จึงมีวัตถุประสงค์ขัดต่อกฎหมายโดยชัดแจ้งและตกเป็นโมฆะ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยออกเช็คมอบให้โจทก์เพื่อชำระค่าอาหารสัตว์ซึ่งเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย เมื่อเช็คถึงกำหนดใช้เงินโจทก์นำไปเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4(3) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดรวม 6 กระทง เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 1 เดือน รวมจำคุก 6 เดือน ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุก 4 เดือน

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยฎีกาว่าเช็คพิพาทคดีนี้โจทก์ได้ฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่งต่อศาลชั้นต้นเรียกให้จำเลยชดใช้เงินในที่สุดโจทก์และจำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันและศาลได้พิพากษาตามยอมคดีถึงที่สุดแล้วตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1294/2540 ของศาลชั้นต้นคดีจึงเป็นอันเลิกกันตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 7 หรือไม่ เห็นว่า ปัญหาดังกล่าวแม้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นอ้างในศาลชั้นต้นตามที่โจทก์แก้ฎีกา แต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225 ข้อเท็จจริงในคดีนี้ฟังเป็นยุติได้ตามฎีกาของจำเลยและคำแก้ฎีกาของโจทก์ว่า มูลหนี้ที่จำเลยออกเช็คพิพาทคดีนี้โจทก์ได้ฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่งต่อศาลชั้นต้นเรียกให้ชดใช้เงินแล้วตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1294/2540 ของศาลชั้นต้น โจทก์และจำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันและศาลได้พิพากษาตามยอมคดีถึงที่สุดแล้วเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2540 ดังนี้ เห็นว่า ผลของการประนีประนอมยอมความดังกล่าวย่อมทำให้การเรียกร้องซึ่งแต่ละฝ่ายได้ยอมสละนั้นระงับสิ้นไปและทำให้แต่ละฝ่ายได้สิทธิตามที่แสดงในสัญญานั้นว่าเป็นของตนดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 852 โจทก์คงมีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระหนี้แก่ตนตามสัญญาประนีประนอมยอมความเท่านั้น แม้จำเลยจะไม่ชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น โจทก์ก็ไม่มีสิทธิที่จะเรียกให้จำเลยรับผิดในมูลหนี้ตามเช็คพิพาทคดีนี้ได้อีก ดังนั้น หนี้ที่จำเลยได้ออกเช็คพิพาทตามฟ้องเพื่อใช้เงินนั้นจึงเป็นอันสิ้นผลผูกพันไปก่อนที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดคดีจึงเป็นอันเลิกกันตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 7 สิทธิของโจทก์ในการนำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39

ส่วนที่โจทก์แก้ฎีกาว่า ตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวนั้นเป็นเรื่องที่โจทก์และจำเลยตกลงยอมความเลิกคดีแพ่งเท่านั้น ไม่ได้ยอมความในคดีอาญาจึงไม่มีผลให้สิทธิของโจทก์ในการดำเนินคดีอาญากับจำเลยระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(2) นั้น เห็นว่า แม้ในสัญญาประนีประนอมยอมความจะมีข้อความว่า “การตกลงประนีประนอมยอมความนี้โจทก์และจำเลยไม่ถือว่าได้ตกลงยอมความในคดีอาญา หากจำเลยได้ชำระหนี้ตามสัญญานี้ โจทก์ยังคงประสงค์ที่จะดำเนินคดีอาญากับจำเลยจนถึงที่สุด” นั้น แม้จะฟังว่าไม่เป็นการยอมความในคดีอาญาตามที่โจทก์แก้ฎีกาก็ตาม ก็เป็นคนละเรื่องกับกรณีที่หนี้ที่จำเลยออกเช็คพิพาทเพื่อใช้เงินนั้นได้สิ้นผลผูกพันซึ่งมีผลให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไป ทั้งกรณีที่สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปหรือไม่นั้น ย่อมเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย ไม่ใช่เรื่องที่คู่สัญญาจะทำสัญญาหรือตกลงกันไม่ให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไป การที่โจทก์และจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวและมีข้อความไว้ด้วยว่า การตกลงประนีประนอมยอมความดังกล่าวไม่ถือว่าเป็นการยอมความในคดีอาญา อันเป็นเรื่องที่โจทก์และจำเลยทำสัญญาหรือตกลงกันไม่ให้สิทธิในการฟ้องคดีอาญาเกี่ยวกับเช็คพิพาทคดีนี้เป็นอันระงับไปนั้น ข้อตกลงในส่วนดังกล่าวถือว่ามีวัตถุประสงค์ขัดต่อกฎหมายโดยชัดแจ้งจึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 แต่ข้อตกลงในส่วนดังกล่าวนี้สามารถแยกออกต่างหากจากข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 1 ในส่วนอื่นได้ จึงไม่ทำให้สัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งดังกล่าวตกเป็นโมฆะทั้งหมด ทั้งนี้ตามนัยมาตรา 173 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยมานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น”

เมื่อสิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับไปแล้ว จึงให้จำหน่ายคดีออกเสียจากสารบบความ

Share