คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2376/2515

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลพลเรือนจะทำการไต่สวนและมีคำสั่งในการชันสูตรพลิกศพแต่เฉพาะคดีที่อยู่ในอำนาจศาลพลเรือนเท่านั้น
แม้การไต่สวนและทำคำสั่งของศาลชั้นต้นตามความในวรรคสามแห่งมาตรา 150 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา อาจเรียกได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการสอบสวน แต่ก็เป็นวิธีการพิเศษที่บัญญัติให้ศาลต้องเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยในชั้นสอบสวน เมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยชัดแจ้ง ให้ศาลทหารมีอำนาจเข้าเกี่ยวข้องในชั้นสอบสวน และพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร มิได้บัญญัติวิธีการพิเศษให้ศาลเข้าเกี่ยวข้องในการสอบสวนด้วย ก็หาใช่เรื่องที่ศาลพลเรือนมีอำนาจดำเนินการแทนด้วยไม่ และเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสอบสวนย่อมไม่ต้องดำเนินการดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 วรรคสาม
(ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 30/2515)

ย่อยาว

คดีนี้ พนักงานอัยการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ว่าพลทหารซบ ทองจันทร์ กับพวกซึ่งเป็นเจ้าพนักงานสารวัตรทหาร ได้ไปทำการจับกุมพลทหารพา พันธมิตร ซึ่งหลบหนีราชการทหารและเสพสุรามึนเมาประพฤติวุ่นวาย พลทหารพาไม่ยอมให้จับกุม กลับใช้มีดแทงทำร้าย พลทหารซบ พลทหารซบจึงใช้อาวุธปืนยิงต่อสู้เพื่อป้องกันถูกพลทหารพาถึงแก่ความตาย ขอให้ศาลทำการไต่สวนและมีคำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2499 มาตรา 8

ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยาสั่งว่า เป็นกรณีทหารกระทำต่อทหารด้วยกัน ไม่อยู่ในอำนาจของศาลพลเรือนจะทำการไต่สวนจึงไม่รับคำร้องจำหน่ายคดี

ผู้ร้องอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

ผู้ร้องฎีกา

ปัญหาจะต้องวินิจฉัยว่า ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยาซึ่งเป็นศาลพลเรือน จะมีอำนาจทำการไต่สวนและทำคำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 ตามที่ผู้ร้องขอหรือไม่ ศาลฎีกาพิเคราะห์ปัญหาดังกล่าวโดยที่ประชุมใหญ่แล้วเห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 16 และพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 22 ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมฯ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2499 ย่อมหมายความว่า ศาลชั้นต้นตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มีอำนาจทำการไต่สวนและมีคำสั่งในการชันสูตรพลิกศพต่อเมื่อ

1. คดีนั้นอยู่ในอำนาจของศาลนั้น และ

2. การไต่สวนและมีคำสั่งนั้นเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความไม่ใช่กฎหมาย กฎ และข้อบังคับ ออกตามกฎหมายฝ่ายทหารหรือการที่จะนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาไปใช้บังคับโดยอนุโลม

ตามคำร้องคดีนี้ดังกล่าว ถ้าผลที่สุดหากได้ความว่าการกระทำของพลทหารซบไม่เป็นป้องกันตน แต่เป็นการกระทำผิด พลทหารซบย่อมจะต้องถูกฟ้องยังศาลทหารตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 มาตรา 13 มาตรา 16(3) คดีของพลทหารซบหาอยู่ในอำนาจศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นศาลพลเรือนไม่และการไต่สวนและมีคำสั่งในการชันสูตรพลิกศพตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญานั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ศาลพลเรือนจะทำการไต่สวนและมีคำสั่งในการชันสูตรพลิกศพแต่เฉพาะคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลพลเรือนเท่านั้น

แม้การไต่สวนและทำคำสั่งของศาลชั้นต้นตามความในวรรค 3 แห่งมาตรา 150 นี้ อาจเรียกได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการสอบสวนดังที่ผู้ร้องกล่าวอ้างในฎีกา แต่ก็เป็นวิธีการพิเศษที่บัญญัติให้ศาลต้องเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยในชั้นสอบสวนก็เพราะมีบทบัญญัติมาตรา 150 วรรค 3 นี้ ซึ่งทั้งนี้ศาลพลเรือนจะรับทำการไต่สวนและทำคำสั่งให้ก็เฉพาะคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลพลเรือนดังที่ได้วินิจฉัยแล้วข้างต้นนั้น มิใช่ว่าเมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยชัดแจ้งให้ศาลทหารมีอำนาจเข้าเกี่ยวข้องในชั้นสอบสวนเช่นนี้แล้ว ก็ให้ศาลพลเรือนมีอำนาจดำเนินการแทนด้วยไม่

นอกจากนี้ศาลฎีกายังเห็นว่า การที่พลทหารซบ ทองจันทร์ ยิงพลทหารพา พันธมิตร ถึงแก่ความตายนี้ จะเป็นการกระทำผิดซึ่งอัยการจะต้องฟ้องร้องต่อศาลหรือไม่นั้น พนักงานสอบสวนย่อมจะต้องดำเนินการสอบสวนเสียก่อน เมื่อพลทหารซบ ทองจันทร์ เป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 มาตรา 47 และมาตรา 48 ได้บัญญัติไว้ชัดว่า การสอบสวนคดีอาญาทั้งปวงซึ่งอยู่ในอำนาจศาลทหารนั้น ให้อยู่ในอำนาจของนายทหารพระธรรมนูญหรืออัยการทหาร และเมื่อพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร มิได้บัญญัติวิธีการพิเศษให้ศาลเข้าเกี่ยวข้องในการสอบสวนด้วย เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสอบสวนดังกล่าว ก็ย่อมไม่ต้องดำเนินการดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 วรรค 3 ตามที่แก้ไขเพิ่มเติมนั้น ฎีกาของผู้ร้องจึงฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

Share