คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1953/2515

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เงินช่วยพิเศษซึ่งจ่ายให้ในกรณีข้าราชการตายในระหว่างรับราชการเป็นจำนวนสามเท่าของอัตราเงินเดือน ในอัตราที่ถือจ่ายอยู่เมื่อถึงแก่ความตายนั้น มิใช่เงินเดือนของข้าราชการ แต่เป็นเงินพิเศษอีกส่วนหนึ่งซึ่งทางราชการจ่ายให้เมื่อข้าราชการผู้นั้นถึงแก่ความตายแล้ว จะตกได้แก่ผู้ใด ต้องเป็นไปตามที่พระราชกฤษฎีกาบัญญัติไว้ จึงมิใช่มรดกของข้าราชการซึ่งถึงแก่ความตาย เพราะมิใช่เป็นเงินที่ผู้ตายมีอยู่ขณะถึงแก่ความตาย
เงินสะสมเป็นเงินที่ทางราชการหักเก็บไว้จากเงินเดือนของข้าราชการทุกเดือน โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน ซึ่งจะจ่ายคืนเมื่อข้าราชการผู้นั้นออกจากราชการ เงินสะสมจึงเป็นมรดกของข้าราชการซึ่งถึงแก่ความตาย เพราะเป็นเงินที่ผู้ตายมีอยู่ในขณะที่ถึงแก่ความตาย หากแต่ทางราชการยังไม่ได้จ่ายให้ เพราะยังไม่ถึงคราวที่จะต้องจ่าย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสี่ให้ร่วมกันรับผิดใช้เงินที่นายเสถียรผู้ตายสามีจำเลยที่ 1 ยักยอกเงินบำรุงการศึกษาของโรงเรียนอู่ทองไปในระหว่างนายเสถียรเป็นครูใหญ่โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับมรดกของนายเสถียรผู้ตาย

โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ยึดและอายัดที่ดิน 1 แปลง เรือน 1 หลัง ปืนพก 2 กระบอก พร้อมด้วยเงินพิเศษช่วยข้าราชการที่ถึงแก่กรรม 6,000 บาท และเงินสะสมของผู้ตาย 6,218.66 บาทไว้ชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา

ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งให้ยึดและอายัดทรัพย์ดังกล่าวไว้ชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา โดยถือว่าเงินพิเศษช่วยข้าราชการที่ถึงแก่กรรมและเงินสะสมเป็นมรดกของผู้ตายด้วย

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการจ่ายเงินเดือนเงินปี บำเหน็จ บำนาญ และเงินอื่นในลักษณะเดียวกัน พ.ศ. 2505 มาตรา 21 บัญญัติว่า “ข้าราชการผู้ใดตายในระหว่างรับราชการให้จ่ายเงินเดือนจนถึงวันที่ถึงแก่ความตาย นอกจากนี้ให้จ่ายเงินอีกจำนวนหนึ่งเรียกว่าเงินช่วยพิเศษเป็นจำนวนสามเท่าของอัตราเงินเดือนในอัตราที่ถือจ่ายอยู่เมื่อถึงแก่ความตาย ฯลฯ” และมาตรา 24 บัญญัติว่า “เงินเดือนที่จ่ายตามมาตรา 21 ฯลฯ เป็นทรัพย์สินของผู้ตายในขณะตายและให้จ่ายแก่ผู้มีสิทธิควรได้ตามกฎหมายว่าด้วยครอบครัวและมรดก

เงินช่วยพิเศษตามมาตรา 21 ฯลฯ ให้จ่ายให้แก่บุคคลซึ่งข้าราชการผู้ตายได้แสดงเจตนาระบุไว้เป็นหนังสือตามแบบที่กระทรวงการคลังกำหนด

ถ้าข้าราชการผู้ตายมิได้แสดงเจตนาระบุไว้ตามวรรคสอง หรือบุคคลซึ่งข้าราชการผู้ตายได้แสดงเจตนาระบุไว้ได้ตายไปเสียก่อนก็ให้จ่ายให้แก่บุคคลตามลำดับก่อนหลัง ดังต่อไปนี้ 1. คู่สมรส ฯลฯ”

นอกจากนี้ตามมาตรา 24 วรรคท้าย ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการจ่ายเงินเดือน เงินปี บำเหน็จ บำนาญและเงินอื่นในลักษณะเดียวกัน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2506 มาตรา 3 ยังบัญญัติว่า “ในกรณีที่ทางราชการมีความจำเป็นต้องเข้าเป็นผู้จัดการศพผู้ตาย เพราะไม่มีผู้ใดเข้าจัดการศพในเวลาอันสมควรก็ให้ทางราชการหักค่าใช้จ่ายจากเงินช่วยพิเศษที่ต้องจ่ายพระราชกฤษฎีกานี้ได้เท่าที่จ่ายจริง แล้วมอบส่วนที่เหลือให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับ” ดังนั้น เงินช่วยพิเศษข้าราชการที่ถึงแก่ความตายตามบทกฎหมายนี้จึงเห็นได้ชัดว่ามิใช่เงินเดือนของข้าราชการ แต่เป็นเงินพิเศษอีกส่วนหนึ่งที่ทางราชการจ่ายให้เมื่อข้าราชการผู้นั้นถึงแก่ความตายแล้ว และเงินนี้ก็มิใช่เงินอันเป็นมรดกของข้าราชการที่ตายผู้นั้นด้วย เพราะมิใช่เป็นเงินที่ข้าราชการผู้ตายมีอยู่ในขณะที่ผู้ตายถึงแก่ความตาย เงินนี้จะตกได้แก่ผู้ใดก็ต้องเป็นไปตามที่พระราชกฤษฎีกาบัญญัติไว้ หาใช่เป็นมรดกได้แก่ทายาทของผู้ตายเช่นเงินเดือนไม่ เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้ตายได้แสดงเจตนาระบุไว้ก่อนตายว่าจะให้จ่ายแก่ผู้ใด เงินจำนวนนี้จึงตกเป็นของบุคคล เช่น จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคู่สมรสและไม่อยู่ในความรับผิดในหนี้สินของนายเสถียร ศรีพุฒตาล ผู้ตาย โจทก์จึงจะขอให้อายัดเงินจำนวนนี้ไว้ชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาเพราะถือว่าเป็นมรดกของผู้ตายมิได้

ส่วนเงินสะสมนั้น เป็นเงินที่ทางราชการหักเก็บไว้จากเงินเดือนของข้าราชการทุกเดือน โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2502 มาตรา 4 ซึ่งเมื่อข้าราชการผู้นั้นออกจากราชการจึงจะรวบรวมเอาจ่ายคืนให้ ดังนี้ จึงเห็นได้ว่าหากข้าราชการผู้นั้นถึงแก่ความตาย เงินสะสมนี้ย่อมเป็นมรดกของผู้ตายอย่างชัดแจ้ง เพราะเป็นเงินที่ผู้ตายมีอยู่ในขณะที่ผู้ตายถึงแก่ความตาย หากแต่ทางราชการยังไม่ได้จ่ายให้เพราะยังไม่ถึงคราวที่จะต้องจ่ายเท่านั้น เมื่อเงินสะสมมีลักษณะดังนี้ เงินสะสมของนายเสถียร ศรีพุฒตาล ผู้ตายในคดีนี้จึงอยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีเรื่องนี้ด้วย โจทก์จึงขอให้อายัดเงินสะสมของผู้ตายรายนี้ไว้ชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาได้ตามความเห็นของสองศาลล่าง

พิพากษาแก้เป็นให้ยกคำขออายัดเงินช่วยพิเศษข้าราชการที่ถึงแก่กรรมระหว่างรับราชการของนายเสถียร ศรีพุฒตาล ผู้ตาย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share