คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1871/2515

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ก่อนที่จะมีพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 ออกใช้บังคับการขนย้ายแร่ออกนอกเขตเหมืองไปเก็บรักษาเพื่อความปลอดภัย มิใช่กรณีที่จะส่งออกไปนอกราชอาณาจักร หรือเพื่อจำหน่ายภายในราชอาณาจักร ไม่จำต้องมีใบขนแร่ และไม่ต้องเสียค่าภาคหลวงก่อนที่จะทำการขนแร่
จำเลยเขียนข้อความไว้ตอนบนของหนังสือกำกับนำแร่เคลื่อนที่ว่า “ใบขนเลขที่ 280/08 ลงวันที่ 3 มิถุนายน 2508 และใบขนเลขที่ 290/08 ลงวันที่ 3 มิถุนายน 2508” เมื่อข้อความที่จำเลยเขียนไม่ใช่ข้อความที่กฎหมายบังคับให้ต้องเขียนไว้ การที่จำเลยเขียนข้อความดังกล่าวก็ไม่ทำให้หนังสือกำกับนำแร่เคลื่อนที่มีลักษณะเป็นใบขนแร่ไปได้ และแม้จำเลยจะเขียนไว้เพื่อแสดงว่าแร่ที่ขนย้ายมานั้นได้เสียค่าภาคหลวงแล้ว ซึ่งไม่ตรงกับความเป็นจริง แต่เมื่อการขนย้ายแร่ในกรณีเช่นนี้ไม่จำต้องมีใบขน ไม่จำต้องเสียค่าภาคหลวงก่อนทำการขน และต่อมาภายหลังได้เสียค่าภาคหลวงถูกต้องครบถ้วนแล้ว เช่นนี้ การกระทำของจำเลยจึงไม่ใช่การกระทำที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น จำเลยจึงยังไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสารหรือเอกสารสิทธิ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามเป็นพนักงานของศูนย์อุตสาหกรรมเหมืองแร่อันเป็นรัฐวิสาหกิจ ได้ร่วมกันกระทำผิดกฎหมายหลายบทหลายกระทง กล่าวคือจำเลยทั้งสามได้ร่วมกันปลอมหนังสือสำคัญกำกับนำแร่เคลื่อนที่ อันเป็นเอกสารสิทธิของกรมทรัพยากรธรณีกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติขึ้น 2 ฉบับ โดยกรอกข้อความต่าง ๆ ลงในแบบพิมพ์หนังสือดังกล่าว ลงลายมือชื่อจำเลยที่ 1 กับเขียนว่าใบขนเลขที่ 280/08 ลงวันที่ 3 มิถุนายน 2508 กับเขียนว่า ใบขนเลขที่ 290/08 ลงวันที่ 3 มิถุนายน 2508 ลงในหนังสือกำกับนำแร่เคลื่อนที่แต่ละฉบับ ซึ่งความจริงเป็นเลขที่ใบขนแร่ของเหมืองอื่นจำเลยทำปลอมขึ้นเพื่อให้ผู้พบเห็นเชื่อว่าเป็นเอกสารสิทธิอันแท้จริงใช้ในการขนแร่ดีบุกจากเหมืองห้วยสุด แล้วจำเลยทั้งสามร่วมกันใช้เอกสารที่ปลอมขึ้นนั้นขนแร่ดีบุกจากเหมืองห้วยสุดไปยังองค์การเหมืองแร่กรมทรัพยากรธรณี ซึ่งเป็นการนำแร่เคลื่อนที่โดยไม่รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่จำนวน 4,487.2 กิโลกรัม โดยไม่เสียค่าภาคหลวง ทำให้กรมทรัพยากรธรณีขาดรายได้ค่าภาคหลวงเป็นเงิน44,730 บาท 50 สตางค์ ค่าตีราคา 142.42 บาท และจำเลยได้ร่วมกันใช้เอกสารสิทธิปลอมทั้ง 2 ฉบับนั้นในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่กรมทรัพยากรธรณี การกระทำของจำเลยทั้งสามดังกล่าวมายังเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่กรมทรัพยากรธรณีฯ อีกด้วย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 3, 11 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 264, 265, 268, 157 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2502 มาตรา 13 พระราชบัญญัติว่าด้วยวิธีการเก็บค่าภาคหลวงแร่ พ.ศ. 2486 มาตรา 5, 9, 16 พระราชบัญญัติการทำเหมืองแร่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2474 มาตรา 17, 19, 20, 25 กฎเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ ออกตามความในมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติการทำเหมืองแร่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2474 ให้ไว้ ณ วันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2474 พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510มาตรา 104, 108, 109, 148, 157 กับขอให้ศาลสั่งริบเอกสารสิทธิปลอม 2 ฉบับของกลางด้วย

จำเลยทั้งสามให้การร่วมกันว่า ไม่ได้กระทำผิดตามฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 264, 265, 268 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ มาตรา 3, 11 วางโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ มาตรา 11อันเป็นบทหนัก จำคุก 3 ปี จำเลยที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 264 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ มาตรา 3, 11 วางโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ มาตรา 11 อันเป็นกระทงหนัก จำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 3 ปี ลดโทษให้จำเลยที่ 1 ที่ 3ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คนละหนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ 1ที่ 3 คนละ 2 ปี ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 และยกฟ้องในข้อหาอื่นสำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 3 ใบกำกับนำแร่เคลื่อนที่ของกลางริบ

โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ตามฟ้อง

จำเลยที่ 1 ที่ 3 อุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า จำเลยทั้งสามไม่ได้กระทำผิด พิพากษาแก้ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 3 ด้วย ใบกำกับนำแร่เคลื่อนที่ของกลางคืนเจ้าของ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ที่ 3 ตามศาลชั้นต้น

ศาลฎีกาพิเคราะห์คำพยานหลักฐานที่โจทก์จำเลยนำสืบมาทั้งสองฝ่ายแล้ว ข้อเท็จจริงเป็นอันฟังได้ตามที่โจทก์จำเลยนำสืบว่าจำเลยที่ 1 ขนแร่ตามเอกสารหมาย จ.2, จ.3 จากเหมืองห้วยสุดมาเก็บไว้ยังศูนย์อุตสาหกรรมเหมืองแร่ เพื่อความปลอดภัยในการเก็บรักษาไม่ใช่ขนมาเพื่อขาย ศาลฎีกาจึงเห็นว่าการขนย้ายแร่ในลักษณะเช่นนี้ไม่ต้องทำคำขอขนแร่เพื่อเสียค่าภาคหลวง เพราะพระราชบัญญัติว่าด้วยวิธีเก็บค่าภาคหลวงแร่ พ.ศ. 2486 มาตรา 9, 10, 11, 12 บัญญัติให้ทำคำขอขนแร่เพื่อเสียค่าภาคหลวงในการนำแร่ออกนอกเขตเหมือง เฉพาะในกรณีที่จะส่งแร่ออกไปนอกราชอาณาจักร หรือเพื่อจำหน่ายภายในราชอาณาจักร ซึ่งศาลฎีกาเคยพิพากษาไว้เป็นบรรทัดฐานตามฎีกาที่ 226/2493 ระหว่างอัยการภูเก็ต โจทก์ นายชัยสิน กับพวก จำเลย ส่วนพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 104 ซึ่งบัญญัติให้ชำระค่าภาคหลวงแร่ก่อนที่จะขนแร่ออกจากเขตเหมืองแร่ หรือเขตที่ได้รับใบอนุญาตทำเหมืองชั่วคราวนั้น จะยกขึ้นมาใช้บังคับแก่คดีนี้ไม่ได้เพราะเป็นกฎหมายที่ออกใช้บังคับภายหลังที่มีการขนแร่ในคดีนี้ การขนแร่ของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวจึงไม่จำต้องมีใบขนไม่จำต้องเสียค่าภาคหลวง ที่จำเลยที่ 1 เขียนข้อความว่า “ใบขน” ไว้ตอนบนของเอกสารหมาย จ.2 และ จ.3 จึงไม่ใช่ข้อความที่กฎหมายบังคับไว้ให้ต้องเขียน เมื่อจำเลยที่ 1 เขียนลงไว้ ก็ไม่ทำให้เอกสารหมาย จ.2 และ จ.3 มีลักษณะเป็นใบขนแร่ ได้ความตามที่โจทก์นำสืบว่าศูนย์อุตสาหกรรมเหมืองแร่ได้รับแร่ทั้งสองจำนวนที่จำเลยที่ 1 ส่งมาเก็บไว้ในโรงเก็บแร่ ภายหลังได้ขายแร่ทั้งสองจำนวนนี้ไปรวมกับแร่ของเหมืองอื่น โดยได้เสียค่าภาคหลวงแล้ว ฉะนั้น แม้จะฟังว่าข้อความที่จำเลยที่ 1 เขียนไว้ตอนบนของเอกสารหมาย จ.2 และ จ.3 เป็นข้อความที่เขียนไว้ไม่ตรงกับความเป็นจริง ก็ไม่ใช่การกระทำที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น อันเป็นองค์ประกอบความผิดฐานปลอมเอกสาร จำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสารและปลอมเอกสารสิทธิ จำเลยที่ 3 ที่ถูกฟ้องว่าได้ร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานนี้จึงไม่มีความผิดเช่นเดียวกัน และเมื่อการกระทำของจำเลยที่ 1 ไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสารและปลอมเอกสารสิทธิ จำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดฐานใช้เอกสารปลอม

โจทก์ฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า จำเลยที่ 1 เคยซื้อแร่จากเอกชนโดยใช้เงินส่วนตัว แล้วนำแร่ส่วนตัวรวมเข้ากับแร่ของเหมืองเพื่อหลีกเลี่ยงค่าภาคหลวง จำเลยที่ 1 จึงปฏิบัติหน้าที่ในทางทุจริตตลอดมารวมทั้งครั้งนี้ด้วย

ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์มิได้ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ได้ปฏิบัติหน้าที่ในทางทุจริตในครั้งก่อน ๆ จึงไม่มีประเด็นที่จะวินิจฉัยถึงส่วนในครั้งหลังตามที่โจทก์ฟ้องนี้ โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ได้ทำการขนแร่ดีบุกของเหมืองห้วยสุด ไม่ได้บรรยายและนำสืบว่าจำเลยที่ 1 ขนแร่ดีบุกของจำเลยที่ 1 จึงไม่มีข้อเท็จจริงที่จะฟังตามโจทก์ฎีกาว่า แร่ที่จำเลยที่ 1 ขน เป็นแร่ส่วนตัวของจำเลยที่ 1 และจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ปฏิบัติหน้าที่ในทางทุจริตดังโจทก์ฎีกา

ศาลอุทธรณ์พิพากษามาชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน ยกฎีกาโจทก์

Share